แหม่…ถึงว่าช่วงนี้นึกเรื่องอื่นที่จะเขียนไม่ออกเลยนอกจากเรื่องระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ เมื่อวันที่14 มิถุนายน ตามเวลาบ้านเราประมาณ 20.30น. FIFA World Cup หรือฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 ที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย(Russia) ก็เปิดพิธีขึ้นแล้วโดยนัดเปิดสนามนั้นรัสเซียเจ้าภาพก็ถล่มทีมจากซาอุฯอย่างไม่ใยดีไปถึง 5 ประตูต่อ 0
แล้วคนดูบอล (หรือไม่ดูบอล) แต่สนใจการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างเราๆนี่จะสามารถหาความรู้อะไรได้จากเหตุการณ์ฟุตบอลระดับโลกที่คาดว่าจะมีคนดูถึงสามพันล้านคนทั่วโลกกันได้บ้างหละ
หลังจากที่ผู้เขียนได้หาอ่านข้อมูลอยู่เป็นวันก็ได้ไปเจอกับการวิเคราะห์ที่ตรงกับคำถามของเราจาก Goldman Sachs (ธนาคารเพื่อการลงทุนระดับประเทศและเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในอเมริกาในด้านทรัพย์สิน) ที่เขียนถึงบอลโลกในครั้งนี้โดยได้นำมุมมองทางเศรษฐศาสตร์บางมุมเข้ามาข้องเกี่ยวด้วยซึ่งก็น่าสนใจนำบางส่วนมาให้ผู้อ่าน (และผู้เขียน)ได้เรียนรู้พร้อมกันเช่นเคย
ช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยหลายๆประเทศทั่วโลกกำลังปรับขึ้นนั้นจะส่งผลต่อการทำประตูที่มากขึ้นในบอลโลกครั้งนี้มั้ย?
จากรายงานได้บอกไว้ว่าทีมฟุตบอลนั้นมีการลดความเสี่ยงหรือใช้แนวปลอดภัยไว้ก่อนในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆในครั้งที่ผ่านๆมา
จากกราฟเราจะเห็นได้ว่าจำนวนประตูที่มักจะยิงกันได้ถึง 4-5 ประตูต่อนัดในช่วง 1970 – 1980 นั้นได้ลดลงมาเหลือแค่ 1-2 ประตูต่อนัดเมื่อช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา
การลดลงของจำนวนประตูนั้นก็ได้สะท้อนมุมมองที่ปลอดภัยไว้ก่อนเช่นเดียวกับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เรียกว่ามีความ“ปลอดภัย” ในการลงทุนเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ (US Government bonds) และการลดลงอย่างต่อเนื่องของผลตอบแทน 10 ปีพันธบัตรของสหรัฐฯ (US Treasury yield)ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งก็จะเห็นว่าจำนวนประตูที่ลดลงนั้นสอดคล้องกับผลตอบแทนที่ลดลงเช่นกัน
สัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นจากความแตกต่างหลากหลายของฟุตบอลและเศรษฐกิจ
เมื่อองค์ประกอบของ GDP ของโลกในปัจจุบันนั้นประกอบมาจากความแตกต่างหลากหลายปัจจัยที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนทีมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็มีจำนวนทีมที่ไม่ได้มาจากทวีปอเมริกาหรือยุโรปเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จำนวนทีมที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้นมีมากกว่า 30% ทีเดียวที่มาจากทวีปเอเชียและทวีปอาฟริกา
แต่มีเพียงทีมที่มาจากทวีปอเมริกาใต้และยุโรปตะวันตกเท่านั้นที่เคยชูถ้วยแชมป์ในการแข่งขันที่ผ่านๆมา จากกราฟจะเห็นว่าจำนวนทีมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ไม่ได้มาจากทวีปอเมริกาหรือยุโรปนั้นเพิ่มขึ้นเป็นไปในทางเดียวกันกับสัดส่วนของ GDP โลกเช่นเดียวกัน
ความสำคัญของความมีประสิทธิภาพ (Efficiency matters) ประเทศที่มีประสิทธิภาพทางการผลิตที่ดี (productive countries) มักจะแสดงผลงานได้ดี
เมื่อตั้งคำถามถึงแนวคิดที่ว่า ประสิทธิภาพทางการผลิต (productivity)นั้นประยุกต์ใช้กับฟุตบอลได้มั้ย? และถ้าได้ มันจะโยงไปถึงประสิทธิภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศนั้นได้หรือไม่? คำตอบก็ดูเหมือนว่าจะ “ได้”
Goldman Sachs นั้นพบว่ามันมีความสัมพันธ์ที่เป็นบวกระหว่างผลผลิตต่อแรงงานในประเทศนั้นๆและสัดส่วนจำนวนนัดที่ประเทศนั้นๆชนะในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (ตามกราฟ)
ยกเว้นประเทศบราซิลที่ทั้งๆมีประสิทธิภาพทางการผลิตที่ต่ำ (เมื่อเทียบกับประเทศอื่น) แต่ก็ยังมีจำนวนนัดที่ชนะที่มีมากกว่าประเทศอื่นๆ และชนะได้เกือบถึง 70% เมื่อนับรวมบอลโลกทุกๆนัด สั้นๆก็คือประเทศที่รวยกว่าก็มักจะมีจำนวนนัดที่ชนะในการแข่งขันบอลโลกบ่อยกว่า
ยิ่งล้ำหน้าบ่อย ยิ่งไม่ค่อยได้รับการเชื่อใจ
อันนี้อ่านแล้วก็ขำดี จากกราฟจะเห็นได้ว่าประเทศที่ล้ำหน้าบ่อยๆมักจะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยได้รับการเชื่อใจหรือไว้วางใจเท่าไหร่นัก
อย่างเช่น อิหร่านนั้นล้ำหน้าบ่อยที่สุดถึงเกือบ 14 ครั้งในฟุตบอลโลก 2014 แต่ก็เป็นประเทศที่ไม่ได้รับความเชื่อใจอยู่ในระดับต้นๆ (ความน่าไว้วางใจอยู่ในระดับต่ำ) ส่วนประเทศที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจสูงๆถึง 50% อย่างออสเตรเลียก็ล้ำหน้าเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น
จะแข่งฟุตบอลก็(มักจะ)ต้องเป็นประเทศที่อากาศดีๆมีแดดออก
ในปี 2014 Goldman Sachs ได้บอกไว้ว่าพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดผลงานในการเข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ในครั้งนี้ Goldman Sachs ก็ยังคงให้ความสำคัญเช่นกันในบทบาทของปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อผลงานในครั้งนี้ จากกราฟแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมินั้นค่อนข้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ทีมมีผลงานในการเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ว่าง่ายๆก็คือยิ่งประเทศไหนอุณหภูมิไม่เหมาะสม ก็ยิ่งไม่ค่อยได้เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั่นแหละ จากกราฟจะเห็นได้ว่าทีมชาติบราซิลมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่ 25 องศา และก็ได้เข้าเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง7 ครั้ง
(ยกเว้นทีมชาติเยอรมันที่เข้ารอบฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง8 ครั้งแต่อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศต่ำกว่า 9 องศา)
ความแม่นยำถูกต้องของธนาคารกลางและคนยิงลูกจุดโทษนั้นต้องไม่พลาด“เป้าหมาย”
อันนี้ก็จี้ดีครับไม่นึกว่าจะเอามาเกี่ยวกันได้เหมือนกัน แม้ว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางและการยิงลูกจุดโทษนั้นจะเป็นความพยายามที่คนละเรื่อง แต่ทั้งสองอย่างนั้นสิ่งที่เหมือนกันคือจะต้องมีความเลือดเย็นและมีการฝึกฝนอย่างหนัก
Goldman Sachs นั้นพบว่าสองสิ่งนี้มีความสอดคล้องสัมพันธ์ค่อนข้างแข็งแกร่งของ“อัตราความสำเร็จ” (success rate) ของคนยิงลูกจุดโทษและผู้กำหนดนโยบายทางการเงินในหลายๆประเทศ
การที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อและการทำประตูจากลูกจุดโทษในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้นก็มักจะเป็นเรื่องของ“ความแม่นยำความถูกต้อง”
อ่านแล้วก็เพลินๆดีนะครับว่ามันก็เอามาเกี่ยวข้องกันได้ระหว่างฟุตบอลโลกกับเศรษฐกิจ สำหรับท่านที่สนใจอ่านฉบับเต็มๆก็เชิญตามลิงก์ข้างล่างได้เลยครับ อย่างไรก็ดีท้ายนี้ดูบอลดึกๆก็รักษาสุขภาพ และจะดูให้สนุกก็อย่าไปข้องเกี่ยวกับการพนันละกันนะครับ เดี๋ยวจะเครียดเปล่าๆ สุดท้ายแล้วโอกาสที่คนจะได้เงินก็อยู่ที่โต๊ะเท่านั้นแหละครับ
blenlit
Hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.