พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Finance

เงินทุนหมุนเวียน (working capital)

หลังจากที่เราเข้าใจคร่าวๆแล้วว่า สินทรัพย์หมุนเวียน (current assets) และ หนี้สินหมุนเวียน (current liabilities) คืออะไร ทีนี้เราก็จะได้ตัวเลขทางการเงินถัดไปคือ เงินทุนหมุนเวียน (working capital)

ในการดูว่าสถานะทางการเงินปัจจุบัน (current position) ของบริษัทนั้นมีความมั่นคงแค่ไหน เราจะไม่สามารถดูทรัพย์สินหมุนเวียนแบบโดดๆได้ แต่จะต้องนำมาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนของบริษัทในช่วงเวลาเดียวกันเสมอ

ซึ่งสิ่งสำคัญที่เกี่ยวข้องก็คือ ทรัพย์สินหมุนเวียน (ควรจะ) มากกว่าหนี้สินหมุนเวียน เมื่อนำมาลบกันแล้วเราก็จะได้ เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทนั่นเอง (current assets – current liabilities = working capital) หรือจะเรียกว่า ทรัพย์สินหมุนเวียนสุทธิ (net current assets) ก็ได้

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกตัวนึงที่เรียกว่า อัตราส่วนสภาพคล่อง (current ratio) ซึ่งมาจากการนำ current assets หารด้วย current liabilities หรือจะเรียกว่าอัตราส่วนทรัพย์สินหมุนเวียนต่อหนี้สินหมุนเวียนตรงๆเลยก็ได้

เงินทุนหมุนเวียนเป็นตัวสำคัญนึงที่บ่งบอกถึงสถานะการเงินของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆว่าแข็งแกร่งหรืออ่อนแอขนาดไหน การที่บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอนั้นจะส่งผลให้บริษัทสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะเพื่อการขยายกิจการของบริษัทเอง หรือจะเผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินด่วนในการดำเนินการโดยปราศจากการที่จะต้องไปพึ่งเงินทุนจากภายนอกบริษัท

การมีเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพออย่างน้อยที่สุดแล้วก็อาจจะทำให้จ่ายบิลจ่ายหนี้ต่างๆได้ช้าลง และอาจจะทำให้บริษัทมีเครดิตเรตติ้งที่ไม่งามเท่าไหร่ การถูกจำกัดหรือถูกปฏิเสธที่จะได้รับงานเพิ่มเติมจากบริษัทอื่นๆก็จะอาจจะส่งผลตามมาในภายหลังได้ ในกรณีที่รุนแรงมากๆก็อาจถึงขั้นธุรกิจหยุดชะงัก หรือแม้แต่ล้มละลายเลยก็เป็นไปได้

ระดับเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอของแต่ละบริษัทนั้นก็ไม่สามารถที่จะกำหนดตายตัวได้เพราะขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นๆต้องใช้เงินทุนในระดับไหนในการดำเนินการทางธุรกิจหรือขยายกิจการของบริษัทตัวเอง แต่หลักการอย่างกว้างๆแล้วก็ให้เทียบเงินทุนหมุนเวียนต่อยอดขาย

ธุรกิจที่มีเงินสด (cash) และการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (inventory turnover) ที่สูง ก็ไม่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงนักเมื่อเทียบกับบริษัทที่ต้องผลิตสินค้าหนักๆ เช่น เครื่องจักรต่างๆ และต้องมีการผ่อนชำระจากลูกค้าในระยะยาวเป็นต้น

เงินทุนหมุนเวียนยังสามารถนำไปเทียบกับค่าอื่นๆได้เช่นกันเพื่อการเพิ่มมุมมองจากหลายๆมุม เช่น เทียบกับ ทรัพย์สินไม่หมุนเวียน (fixed assets) หรือ การดูว่าบริษัทนึงมีเงินทุนหมุนเวียนต่อหุ้น (common stock) เติบโตสูงขึ้นหรือลดต่ำลงแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไปช่วงนึง ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่น่าให้ความสนใจเช่นกัน

แม้ว่าการที่บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนที่เป็นบวกก็จะดูดีแล้วในระดับนึง แต่หากต้องการทดสอบไปให้ไกลกว่านั้นก็ให้นำสินค้าคงคลังหักออกจากทรัพย์สินหมุนเวียน (current assets – inventory) หรือเรียกว่า สินทรัพย์สภาพคล่องรวดเร็ว (Quick Assets) และหากนำ quick assets หักด้วย หนี้สินหมุนเวียนเราก็ได้จะได้สินทรัพย์สภาพคล่องรวดเร็วสุทธิ (net quick assets) ซึ่งถ้าหากบริษัทไหนมี net quick assets ที่เป็นบวกก็จะเรียกได้ว่าบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งทางการเงินที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แม้ว่าการที่จะมีแค่ quick assets เป็นบวกได้ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างปลอดภัยและสบายๆพอสมควรแล้วก็ตามสำหรับบริษัทนั้นๆครับ

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply