พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

อัตราเงินเฟ้อสูงๆจะกลับมามั้ย?

ถ้าใครลองสังเกตุดู อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นจะค่อนข้างต่ำมาหลายปีแล้ว (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปบ้านเราล่าสุดติดลบ -0.9% ณ กันยายน ปีนี้) ขนาดในปีนี้ทั่วโลกมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในรูปแบบต่างๆเพื่อประคองเศรษฐกิจให้ผ่านโควิด19 ไปให้ได้เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด อัตราเงินเฟ้อก็ยังไม่ได้กระเตื้องจนต้องรู้สึกอะไร จนมีคนสงสัยว่าแล้วไอ่อัตราเงินเฟ้อสูงๆมันจะกลับมามั้ย

The Economist ฉบับ 12 ธันวาคม 2020 ก็มีการวิเคราะห์ให้เราฟังหรืออ่านกัน

ในปี ค.ศ. 1975 นักข่าวนามว่า อดัม เฟอกัสสัน จาก Times ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า “When Money Dies” หรือแปลตรงๆก็คือ “เมื่อเงินตาย” เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากหรือที่เรียกว่า hyperinflation ในประเทศเยอรมันช่วงต้นปี 1920 มันถูกเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษมันไม่ได้ขึ้นเรื่อยๆทุกวี่วันอย่างในสาธารณรัฐ Weimar แต่ในปี 1975 นั้นมันก็ขึ้นไปถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ 24% น่ากลัวถึงขนาดที่ เฟอกัสสัน เตือนว่าประสพการณ์เงินเฟ้อแบบนี้มันควรจะต้องได้รับความสนใจแล้ว

การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วของราคาสินค้า (เงินเฟ้อ) นั้นทำให้มูลค่าเงินและสินทรัพย์ของคนที่เก็บออมและค่าจ้างของคนทั่วไปนั้นลดลง มันไม่ใช่แค่ว่าอำนาจการซื้อของหน่วยเงินจะลดลงเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ถูกกัดกร่อน มันคือความน่าเชื่อถือของอนาคตที่ระบบทุนนิยมนั้นพึ่งพาด้วย ตั้งแต่ช่วงต้นปี 1970 ถึง 1980 นั้น คนอเมริกันมากกว่า 50% นั้นบอกว่า “เงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูง” เป็นปัญหาเดียวเลยที่ประเทศกำลังเจออยู่

แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้นเจ้าเงินเฟ้อเนี่ยมันก็ดูจะหดหายไป ค่าเฉลี่ยนั้นลดลง จากกราฟด้านล่างจะเห็นว่าประเทศที่ร่ำรวย (Rich) นั้นอัตราเงินเฟ้อนี่จะเลี่ยติดดินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

The Economist 12th December 2020

หนังสือของ เฟอกัสสัน นั้นมันถูกตีพิมพ์อีกครั้งในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 2000 เมื่อรัฐบาลต่างๆมีการออกโปรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันอย่างสนุกสนานหรือที่เรียกว่า “quantitative easing” ก็คือพิมพ์เงินขึ้นมาดื้อๆนี่แหละ ทำให้หลายๆคนกังวลว่ามันจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆนั้นพุ่งสูงขึ้นในระดับที่ไม่เคยเห็นผ่านมาหลายๆยุคแล้ว

แต่มันก็ไม่ได้เกิดขึ้น ในช่วงทศวรรษที่ 1970 อัตราเงินเฟ้อในประเทศพวกที่ร่ำรวยนั้นมีค่าเฉลี่ยแค่ 10% ต่อปี ในช่วงปีทศวรรษที่ 2010 นั้นมันลดลงไปเหลือต่ำกว่า 2% ต่อปีด้วยซ้ำไป และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่บรรดาเหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างๆก็เริ่มจะกังวลอีกครั้งเกี่ยวกับราคาสินค้าที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากและก็ไม่มีใครสนใจ ในการประชุมใหญ่ๆของบรรดาธนาคารกลางในจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นั้นมีวาระหลายๆอย่างเช่น เสถียรภาพทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำกันในสังคม แต่ไม่มีวาระอะไรเลยสำหรับอัตราเงินเฟ้อ

จริงๆแล้วการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างสมเหตุสมผลแทนที่จะให้นักนโยบายของธนาคารกลางต่างๆนั้นแทรกแซงนั้นก็ทำให้พวกเขาสบายใจระดับนึงแล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมาและโหดสุดก็วิกฤติในปีนี้ บางกลุ่มต้องการให้ธนาคารกลางนั้นตั้งเป้าอัตราเงินเฟ้อให้สูงกว่า 2% ประสพการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนี้นั้นบอกว่ามันอาจจะยากเกิน อัตราเงินเฟ้อที่เข้าใกล้ศูนย์นั้นทำให้นโยบายการเงินใช้ไม่ค่อยได้ผลแม้จะแค่ผลักดันให้เงินเฟ้อกลับไปสู่ระดับ 2% ก็ตาม

แต่จะให้เพิกเฉยเลยก็กระไรอยู่ ถ้าปี 2020 นั้นสามารถบอกอะไรเราได้ มันก็คือปัญหาที่ว่าหลายๆประเทศในโลกนั้นเลิกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่แย่ๆที่จะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใดนั่นเอง และคนที่กังวลกับสิ่งเหล่านี้(เงินเฟ้อ)ในวันนี้ก็ไม่ได้ผิดนักที่จะชี้ประเด็นเรื่องนี้ว่าสถานการณ์โรคระบาดนี้ไม่ได้จะทำให้มองข้ามไปได้

นักวิจัยค้นคว้าจากธนาคารกลางของอังกฤษนั้นใช้ข้อมูลย้อนหลัง 800 ปี (ยอมรับว่ามันไม่สมบูรณ์) นั้นสรุปว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นโดยปกติแล้วไม่ได้เพิ่มขึ้นหลังจากปีที่เกิดโรคระบาด งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ของ โรเบิร์ต บาร์โร แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิดและเพื่อนร่วมงานวิจัยนั้นพบว่า โรคระบาดในช่วงปี 1918-20 นั้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้ว นักลงทุนยังไม่ค่อยแน่ใจนัก (เรื่องเงินเฟ้อจะกลับมา) ความคาดหวังเกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้นอาจจะดูได้จากราคาในตลาดการเงินต่างๆที่ค่อยๆทะยอยปรับตัวสูงขึ้นนิดหน่อยจากข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนและโอกาสกลับมาของเศรษฐกิจโลก แต่มันก็ยังคงบอกว่านักลงทุนยังคิดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้านั้นก็ยังจะต่ำกว่าเป้าของธนาคารกลางที่ 2% อยู่ดี นักเศรษฐศาสตร์ชาวเดนมาร์กนามว่า ลาส์ส คริสเตนเซ่น นั้นบอกว่าแบบนี้มันก็จะมีความย้อนแย้งกันระหว่างทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ของ 2 นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักชิคาโกที่เป็นที่รู้จักไปทั่ว ก็คือ มิลตัน ไฟร์แมน นั้นบอกว่า การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุปทานเงินนั้นจะนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ทว่า ยูจีน ฟามา นั้นแย้งว่า ราคาตลาดนั้นสะท้อนข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดอยู่แล้ว “ถ้าคุณเชื่อว่าเราจะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในตอนนี้ ทฤษฏี efficient-markets hypothesis (ทฤษฏีที่ว่าตลาดนั้นมีประสิทธิภาพ) นั้นก็จะต้องผิดอย่างแน่นอน”

The Economist 12th December 2020

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากนั้นจะเห็นด้วยกับตลาดและคุณฟามา โดยทั่วไปแล้วพวกเขาไม่ได้คิดถึงอัตราเงินเฟ้อเหมือนนักการเงินในสมัย 1980 นั้นคิดกัน (แม้กระทั่ง ไฟร์แมน ในภายหลังก็ยอมรับว่าธนาคารกลางสมัยใหม่นั้นอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานเงินและราคานั้นหดน้อยลง) หากคิดตามมุมมอง Keynesian แบบใหม่ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้นพวกเขาเชื่อว่าแรงผลักดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นส่วนผสมระหว่างความคาดหวังของสาธารณะชนเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาซึ่งก็จะเติมเต็มด้วยตัวของมันเอง และสุขภาพของตลาดแรงงาน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ยังบ่งบอกว่าเงินเฟ้อจะยังคงต่ำอยู่ การฟื้นกลับมาจากโรคระบาดที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นมากๆนั้นก็ดูเหมือนว่าจะยังมีโอกาสน้อยอยู่ แต่มันก็ไม่ได้รับประกันว่ามันจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

อ้างอิง:

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/MonetPolicyComittee/MPR/Pages

/default.aspx

https://www.economist.com/briefing/2020/12/12/a-surge-in-inflation-looks-unlikely

Leave a Reply