นักลงทุนที่กำลังสนใจหรือเคยลงทุนในตลาดหุ้นอาจจะเคยผ่านหูผ่านตากับคำว่า บริษัท “แตกหุ้น” ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ (Stock Split 1:1) กันมาบ้าง แล้วมันคืออะไรหละ?
การแตกหุ้นก็คือการที่บริษัทตัดสินใจเพิ่มจำนวนหุ้นเดิมที่มีอยู่ของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วการแตกหุ้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาที่ราคาหุ้นของบริษัทนั้นขึ้นไปสูงจนถึงระดับนึง
การแตกหุ้นนั้นอาจจะเกิดมาจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่อง (liquidity) ให้กับหุ้นของบริษัทตัวเอง การที่ “นักลงทุนรายย่อย” อาจจะเกิดความรู้สึกว่าราคาหุ้นนั้นแพงไปและอาจจะทำให้ไม่อยากจะซื้อหุ้นตัวนั้นทำให้ส่งผลต่อสภาพคล่องของหุ้นนั้นให้น้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น การแตกหุ้นบริษัท AAA โดยอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ก็คือเดิมผู้ที่ถือหุ้นอยู่แล้ว 1 หุ้น ก็จะมีหุ้นเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หุ้นกลายเป็น 2 หุ้น หาก ณ ตอนนั้นบริษัท AAA มีหุ้นที่ออกและชำระแล้ว 10 ล้านหุ้น หลังการแตกหุ้น ก็จะกลายเป็น 20 ล้านหุ้น อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้วราคาหุ้นก็จะส่งผลสะท้อนต่อการแตกหุ้นนั้นในลักษณะที่เป็นไปตามจำนวนหุ้นที่จะมีหลังการแตกหุ้น หากก่อนการแตกหุ้น ราคาหุ้นอยู่ที่หุ้นละ 100 บาท มูลค่าตลาดก็คือ 1,000 ล้านบาท (100 บาท x 10 ล้านหุ้น) หลังการแตกหุ้นนั้น ราคาก็มักจะสะท้อนลงมาอยู่ที่ 50 บาท แต่มูลค่าตลาดก็ยังจะเป็น 1,000 ล้านบาทเช่นเดิม (50 บาท x 20 ล้านหุ้น)
จะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วพื้นฐานของธุรกิจของบริษัทนั้นๆไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยหลังการแตกหุ้น (ประหนึ่งการแตกแบงค์ร้อยเป็นแบงค์ห้าสิบสองใบ หรือ แตกแบงค์ร้อยเป็นเหรียญสิบสิบเหรียญ ซึ่งมูลค่าก็คือ 100 บาทเท่าเดิม)
มากไปกว่านั้น การแตกหุ้นนั้นนอกจากจะส่งผลสะท้อนให้ดูเหมือนว่าหุ้นบริษัทนั้นราคาถูกแล้ว มันก็ยังจะดึงดูด “นักลงทุนรายย่อย” ที่คิดว่าราคาหุ้นนั้นถูก รวมไปถึงนักเก็งกำไรที่ไม่ได้สนใจมูลค่าที่แท้จริงหรือธุรกิจของบริษัทนั้นๆสักเท่าไหร่ ทำให้ราคาของหุ้นนั้นก็จะมีการแกว่งไปแกว่งมาอยู่เรื่อยๆและแกว่งค่อนข้างอย่างไร้เหตุผลในหลายๆครั้ง (ซึ่งย้ำว่าราคาจากการแตกหุ้นไม่ได้เกี่ยวอะไรต่อมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นเลย) และยังเป็นการลดคุณค่าของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย (ลองนึกภาพเราถือหุ้น AAA ที่หุ้นละ 100 บาทกับถือ หุ้นละ 10 บาท 10 หุ้น ยังไงถือแบงค์ร้อยใบเดียวก็ยังรู้สึกดีถึงมูลค่ามากกว่าถือเหรียญสิบรวมกันสิบเหรียญเนาะ)
อีกประเด็นหนึ่งก็คือแม้ว่ามันดูเหมือนว่าจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นตัวนั้น แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่ “สภาพคล่อง” เพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นอยู่เรื่อยๆก็คือ โบรกเกอร์ไงครับ ยิ่งซื้อขายเยอะๆก็ยิ่งส่งผลดีต่อค่าคอมมิชชั่น แต่ในฐานะนักลงทุนก็ควรต้องมองดูว่าตัวเองคุ้มแล้วหรือที่จะซื้อขายหุ้นบ่อยๆเพียงเพราะหุ้นมี “ราคาถูก” โดยที่มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปและการแตกหุ้นนั้นมันไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเลย
เราลองมาดูตัวอย่างนึง จากกราฟข้างบนจะเห็นได้ว่าช่วงปี 2003-2009 หุ้น XXX มีการแตกหุ้นในปี 2003 (ที่หุ้นเดิม 1 หุ้นต่อหุ้นใหม่ 10 หุ้น และไม่ได้มีการแตกหุ้นอีกเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก ข้อมูลจาก finance.yahoo.com) แม้ราคาหุ้นได้เพิ่มขึ้นไปประมาณสองเท่าครึ่งหลังปี 2003 แต่ในช่วงปี 2009 ราคาก็ร่วงกลับลงมาที่ระดับเดิมอยู่ดี อีกทั้งแม้ไม่ได้มีการแตกหุ้นอีกเลยตั้งแต่ครั้งนั้น แต่ตั้งแต่ปี 2009 ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆขึ้นไปถึงสี่เท่ากว่าจากช่วงต่ำสุดของปี 2009 จนถึงช่วงสูงสุดในปี 2017 (ซึ่งอยู่สูงกว่าราคาหุ้นตอนที่แตกหุ้นด้วยซ้ำไป) สอดคล้องกับผลประกอบการบริษัทที่ดีขึ้นมาเรื่อยๆ และราคาหุ้นก็เพิ่มได้มากขึ้นตามมูลค่าของบริษัท ฉะนั้นแล้วราคาหุ้นก็มักจะสอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทอยู่ดี
ทีนี้ลองมาดู “สถาพคล่อง” จากตารางข้างบน (set.or.th) ในปีที่แล้วหุ้น XXX มีมูลค่าการซื้อขายต่อวันที่ 1,213.01 ล้านบาท หากตลาดหุ้นเปิดทำการ 250 วัน เท่ากับว่ามูลค่าการซื้อขายทั้งหมดเท่ากับ 303,252.5 ล้านบาท ค่าคอมมิชชั่นและภาษีมูลค่าเพิ่มที่นักลงทุนต้องจ่ายทั้งหมดคือระหว่าง 509.44 ล้านบาท ถึง 833.91 ล้านบาท (ค่าคอมมิชชั่น 0.157% ถึง 0.257% ขึ้นอยู่กับประเภทบัญชี โบรกเกอร์ และซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตหรือผ่านเจ้าหน้าที่การตลาดและคูณด้วยภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%) จะเห็นได้ว่าเงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆเลยที่จะนักลงทุนจะต้องจ่ายไปหากบริษัทนี้ต้องการจะแตกหุ้นอีกเพียงเพราะอยากจะเพิ่ม “สภาพคล่อง” หรือ “เปลี่ยนมือ” ผู้ถือหุ้นไปให้กับนักเก็งกำไรที่สนใจแค่ราคาหุ้นที่ “ถูกๆ” โดยปราศจากการวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วราคาหุ้นก็มักจะเป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทอยู่ดี
blenlit
hakwarmroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.