พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

ทำไมแบ่งเงินทะยอยซื้อหุ้นถึงอาจจะไม่ได้ผล? (why dollar-cost averaging may not work)

ปี 2019 ก็ดำเนินมาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว หากเราย้อนกลับไปดูผลงานของตลาดหุ้นในช่วงปีที่ผ่านมาตามกราฟด้านล่าง จากต้นปีที่ตลาดหุ้นอยู่ในระดับ 1,565.94 มาถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,631.43 เท่ากับว่าปีนี้ตลาดหุ้นเราทำผลงานได้ประมาณ 4% (ไม่รวมปันผล) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นผลงานที่ไม่แย่นักในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินแบบนี้

อย่างไรก็ดีก็ทำให้สงสัยเกี่ยวกับว่าในเมื่อตลาดหุ้นมันขึ้นๆลงๆแบบนี้ การทะยอยซื้อหุ้น (dollar-cost averaging:DCA) นั้นมันใช้งานได้จริงเหรอ เลยลองทำตารางเล่นๆตามด้านล่าง

สมมุติว่าเรามีเงิน 100,000 บาท คำถามคือเราควรจะแบ่งเงินซื้อ 10 ครั้ง หรือซื้อไปเลยครั้งเดียว 100,000 บาท (ก็ไม่รู้เหมือนกันอ่ะนะ) แต่หากเราลองทำตามทฤษฏีที่ว่านั้นก็จะเห็นได้ว่าหากเราซื้อหุ้นเดือนละหนึ่งครั้งทุกต้นเดือนเป็นเวลา 10 เดือนแล้วขายในวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา เราจะขาดทุนรวม 1,289.28 บาท ก็จะเห็นว่าอย่างน้อยปีนี้หากเราทำ DCA นั้นคือไม่ได้ผลในแง่ของเงินต้น

เราดูต่อกันไปอีกว่าการซื้อทั้ง 10 ครั้งนั้นจะมีผลก็ต่อเมื่อเราเลือกซื้อต้นเดือนมกราคมกับเดือนตุลาคมนี้เองเท่านั้นถึงจะกำไร คิดเป็น 2 ใน 10 ครั้งเลยทีเดียว

เอ้า! แล้วถ้ามันไม่ได้ผล แล้วจะลงทุนกันแบบไหนหละ ไม่ใช่เราคนเดียวที่สงสัย สำนักข่าวรอยเตอร์ก็สงสัยจนนำบทความที่เขียนโดย Fisher Investment ออกมาเช่นเดียวกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ขอสรุปให้คร่าวๆดังนี้

เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าหากคุณลงทุนก้อนเดียวในวันที่ตลาดไม่ดี เช่น วันเดียวก่อนที่ตลาดจะตกลง คุณก็จะเห็นว่าเงินลงทุนคุณหายไปทันที

คนที่สนับสนุนวิธี dollar-cost averaging:DCA นั้นก็จะบอกว่าวิธีของพวกเขานั้นคือวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนี้ ด้วยการทะยอยแบ่งเงินของคุณให้เล็กลงแล้วค่อยๆลงทุนมันทีละนิดเมื่อเวลาผ่านไป วิธีนี้จะช่วยให้ (ในทางทฤษฏี) คุณหลีกเลี่ยงการสูญเสียเงินลงทุนของคนทั้งหมดโดยเฉพาะวันที่ตลาดแย่ๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่า DCA จะช่วยให้คุณสามารถกระจายตุ้นทุนของเงินลงทุนคุณออกไปในช่วงเวลาต่างๆและสามารถลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินต้นของคุณใน “วันที่ตลาดแย่ๆ” แต่การลงทุนแบบก้อนเดียวทันทีก็โดยปกติแล้วจะมีประสิทธิภาพมากกว่าต่อพอร์ทการลงทุนในมุมมองของเขา

ในบางกรณี การแบ่งทะยอยลงทุนนั้นอาจจะดูสมเหตุสมผล ตัวอย่างเช่น 401(k) (บ้านเราเรียก provident fund) คนส่วนใหญ่คงไม่มีเงินสดที่จะลงทุนในก้อนเดียวเลยทำให้ต้องค่อยๆลงทุน อย่างไรก็ดี ถ้าคุณมีเงินก้อนแล้วสามารถลงทุนได้ทันที รอยเตอร์ก็แนะนำว่าคุณควรดูว่าการทำ DCA นั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อพอร์ทของคุณ

วงจรของ DCA นั้นจะมีทั้งเข้าทางและไม่เข้าทาง นักลงทุนอาจจะกลัวที่จะลงทุนเงินก้อนในทีเดียวในช่วงที่ตลาดกำลังปรับตัวหรือเซื่องซึมอยู่ ซึ่งในช่วงตลาดขาลงหรือมีความผันผวนสูง DCA อาจจะสามารถช่วยให้นักลงทุนได้ประโยชน์จากตลาดหากตลาดมีการปรับตัวขึ้นในภายหลังและก็มีเงินสดในมือสำหรับไว้ซื้อเพิ่มในช่วงที่ราคาตลาดลดต่ำลง

มันดูเหมือนจะสมเหตุสมผลใช่มั้ย?

แต่มันจะเกิดอะไรขึ้นหละหากคุณใช้วิธี DCA ช่วงที่ตลาดเป็นบวก โดยเฉพาะปีที่ตลาดไม่ได้มีการตกแรงๆเท่าไหร่? คุณก็จะพลาดโอกาสได้กำไรใหญ่ๆเลยทีเดียว และยอดใหญ่ๆที่พลาดไปมันก้อจะทบต้นไปเรื่อยๆและกลายเป็นผลกำไรยอดใหญ่ในระยะยาวแทน

แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตการเคลื่อนไหวของตลาดได้ และผลตอบแทนในอดีตก็ไม่สามารถกำหนดผลตอบแทนในอนาคตได้เช่นกัน และในเมื่อคุณไม่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว โดยส่วนมากแล้วนักลงทุนจะได้ผลประโยชน์จากการลงทุนในแต่ละครั้งมากกว่าพยายามที่จะหาทางหลีกเลี่ยงความผันผวนที่ตกลงมากกว่ากว่า

ว่าง่ายๆก็คือ การพยายามเข้าซื้อหุ้นให้ถูกช่วงเวลาไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณเข้าลงทุนในตลาดหุ้น รอยเตอร์ยกตัวอย่างว่าจาก 1 มกราคม 1998 ถึง 1 กรกฏาคม 2019 นั้น S&P 500 มีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10.5% ต่อปี

  1. ถ้าคุณพลาดการลงทุนใน 10 วันที่ดีที่สุดจาก 8,216 วันนั้น ผลตอบแทนของคุณต่อปีจะตกลงเหลือแค่ 8.1% เท่านั้น
  2. และถ้าคุณพลาดการลงทุนใน 30 วันที่ดีที่สุด ผลตอบแทนคุณจะเหลือแค่ 5.1%
  3. และสุดท้ายแล้วถ้าคุณพลาด 50 วันที่ดีที่สุด ผลตอบแทนคุณจะเหลือแค่ 2.6% เท่านั้น
  4. ทีนี้ลองพิจารณา DCA ในทางทฤษฏีแล้ว ส่วนนึงของพอร์ทการลงทุนของคุณก็จะต้องมีการลงทุนในช่วงเวลานั้น แม้ว่าบางส่วนของพอร์ทการลงทุนคุณจะไม่ได้อยู่ในตลาดในช่วงเวลาเข้าซื้อที่ดีที่สุดเหล่านั้น คุณก็ยังพลาดผลตอบแทนสำคัญๆเช่นเดียวกัน

หากยังไม่เชื่อ ก็ให้ลองพิจารณาผลการศึกษของนาย ไมเคิล โรเซฟ (Michael Rozeff) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างวิธีการลงทุนแบบ DCA 12 เดือน กับการซื้อทีเดียวแต่ละปี ผลลัพธ์คือ 2 ใน 3 วิธีแบบซื้อทีเดียว (lump-sum) นั้นให้ผลตอบแทนมากกว่า DCA

ดังนั้นแล้วถ้าคุณกำลังพิจารณาวิธีแบบ DCA คุณจะสามารถทำนายได้มั้ยว่าปีไหนเมื่อเวลาผ่านไป DCA จะได้ผลมากกว่าการลงทุนแบบก้อนเดียว ซึ่งก็ดูแล้วไม่น่าจะทำนายได้

ดั้งนั้นแล้วสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทำนายตลาดได้ การลงทุนแบบเป็นก้อนจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเวลาผ่านไป (ในมุมมองของเขา)

แล้วสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ยังคงกลัวการลงทุนแล้วเจอกับวันแย่ๆพอดีหละ ก็ขอให้จำไว้ว่าอารมณ์นั้นมีอิทธิพลต่อการลงทุนอยู่แล้ว และก็มักจะไม่ใช่ด้านดี นักลงทุนหลายๆคนกลัวการสูญเสียเงินลงทุน มากกว่าเอ็นจอยกับกำไรด้วยซ้ำไป! และความรู้สึกเสียใจมันก็รู้สึกแย่จริงๆ ซึ่งบางคนไปถึงขั้นลงทุนแบบได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดในระยะยาวเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเสียใจด้วยซ้ำไป

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนี้ ให้จำไว้ว่า เวลาการลงทุนในตลาดนั้นสำคัญกว่าการพยายามเข้าสู่ให้ถูกช่วงเวลา ผลตอบแทนต่อปีของ S&P500 ตั้งแต่ปี 1925 ถึง 2018 นั้นประมาณ 10% ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้นก็รวมช่วงเวลาทั้งดีและแย่ หากเรานั่งรอข้างๆช่วงตลาดกระทิงแล้วก็จะทำให้สูญเสียกำไรก้อนงามเลยทีเดียว แม้ว่าการทนทานต่อความผันผวนในตลาดจะไม่ง่าย แต่ DCA ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบซะทีเดียว

อ้างอิง:

https://www.reuters.com/article/idUSWAOAJJIXNLGU197V

https://www.google.com/search?q=set+historical+chart&ie=&oe=

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply