พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

ทำไมเพชรถึงแพงกว่าน้ำหลายเท่าตัว? (Why do diamonds cost more than water?)

คำถามนี้เชื่อว่าสำหรับใครที่กำลังศึกษาอยู่หรือเคยเป็นนักศึกษาทางสายเศรษฐศาสตร์ก็น่าจะเคยได้ยินอาจารย์ถาม อ่านเจอในหนังสือ หรือได้ทำข้อสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมาบ้างแล้ว

ทั้งๆที่น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์เราอย่างยิ่งยวดและเราจะอยู่กันไม่ได้เลยถ้าไม่มีน้ำ แต่เพชร (diamonds) นี่แทบไม่มีประโยชน์อะไรจริงๆจังๆเลยนอกจากไว้ทำเครื่องประดับ กินประทังชีวิตก็ไม่ได้ ขาดเพชรไปก็ไม่มีผลอะไรเลยกับชีวิตสักเท่าไหร่ (หรือเคยมีใครขาดเพชรแล้วตรอมใจตายกันบ้างมั้ยครับ)

ในเมื่อความสำคัญต่อชีวิตของน้ำมีมากกว่าเพชรซะขนาดนี้ แต่แล้วทำไมเพชรถึงมีราคาแพงกว่าน้ำหลายเท่าตัวนักหละ โดยเฉพาะประเทศที่มีน้ำเยอะๆอุดมสมบูรณ์ก็ยิ่งอาจจะไม่ค่อยเห็นค่าของน้ำสักเท่าไหร่ (ไทยเราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีน้ำเยอะ)

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ paradox of value หรือข้อขัดแย้งทางมูลค่าของสิ่งของ เราแทบไม่สามารถเอาน้ำไปแลกกับสิ่งของอะไรได้เท่าไหร่ แต่เพชรกลับเอาไปแลกสิ่งของอื่นได้หลายอย่างเลยทีเดียว

เรื่องความขัดกันนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฏีอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม หรือ marginal utility นั่นเอง ซึ่งว่าไว้ถึงความพอใจที่เพิ่มขึ้นมาจากการอุปโภคหรือบริโภคหน่วยสุดท้ายของสิ่งนั้นๆว่าเพิ่มขึ้นมามากน้อยแค่ไหน

ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีน้ำอยู่ 10 ลิตร เราอาจจะเรียงลำดับความสำคัญที่สุด เช่น ไว้ดื่ม ไล่ไปจนถึงสิ่งสำคัญน้อยลงมา เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน ล้างพื้น อะไรแบบนี้

สมมุติว่าเราอาจจะเสียน้ำไปสัก 1 ลิตร สิ่งที่เราจะเสียคืออะไร? เราก็อาจจะเสียเพียงเล็กน้อยซึ่งก็คืออาจจะแค่ไม่ได้ล้างพื้น หรือไม่ได้รดน้ำต้นไม้ ก็แค่นั้น

แม้ว่าเรายังต้องดื่มน้ำเพื่อมีชีวิตต่อไป เราก็คงไม่ยอมจ่ายน้ำลิตรสุดท้ายนั้นในราคาที่แพงๆเพื่อให้ได้น้ำกลับมารถน้ำต้นไม้หรือเพื่อมาล้างพื้นแน่ๆ

ดั้งนั้นจะเห็นว่าในเมื่อราคาที่เราไม่ยอมจ่ายสำหรับน้ำลิตรนั้นแพงๆ (ลิตรที่ 10) ก็เพียงเพราะว่ามันสร้างความพึงพอใจให้กับเราไม่ได้มากนัก (ล้างพื้น)

น้ำนั้นเมื่อเทียบแล้วมีเหลือเฟือและอุดมสมบูรณ์ (ในหลายๆประเทศ) แต่เพชรนั้นหายากเหลือหลาย (scarce) การที่เราได้เพชรเพิ่มขึ้นมา 1 หน่วยนั้น เราจะได้อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มหรือความพึงพอใจที่สูงมาก (แม้จะไม่ได้เอาไปใช้ตกแต่งประดับหรือใช้ประโยชน์อะไรกับตัวเอง แต่ก็คงไม่มีใครโยนเพชรทิ้งไปหรอกเนาะ อย่างน้อยก็ต้องเก็บเอาไว้ขายหรือแลกกับสิ่งของอื่นต่อ)

ดังนั้นเพชรเพียงหนึ่งหน่วยเลยมีมูลค่าหรือราคาสูงกว่าน้ำหนึ่งขวดหลายเท่าตัวนักนั่นเอง สรุปสั้นๆก็คือ เมื่อเรามีน้ำเพิ่มขึ้นมาหนึ่งหน่วย มูลค่าของมันจะลดลงเพราะเรามีน้ำในปริมาณที่เยอะแล้ว แต่ในเมื่อเพชรนั้นหายาก การที่เราได้เพิ่มมาหนึ่งหน่วยก็จะมีมูลค่าที่สูงอยู่ดี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศเราจะมีน้ำเยอะและไม่ได้ถึงกับขาดแคลน แต่เราก็ควรใช้มันให้เหมาะสมไม่ใช่ว่าใช้ทิ้งๆขว้างๆ เปิดน้ำทิ้งๆไป ไม่ต้องประหยัดอะไรหรอกเนาะ

เราก็ควรจะนึกถึงคนอื่นๆประเทศอื่นๆที่ต้องหาซื้อน้ำแพงๆกว่าบ้านเราพอสมควร มาไว้ดื่มไว้ใช้กัน

สงกรานต์ปีนี้ยิ่งเป็นวันหยุดลากยาวต่อเนื่องหลายๆวัน จะสาดน้ำรดน้ำกันก็ให้พอสมควรพอสนุกสนานละกันครับ

ช่วยกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้พ่อค้าแม่ค้ามาตั้งถังเติมน้ำไว้ขายนักท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ราคาถูกๆแล้ว

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ไทย เรามีอุบัติเหตุตายกันบนท้องถนนกันทุกปี ยังไงก็ขับรถราเดินทางกันอย่างระมัดระวังกันด้วยนะครับ

ความสนุกจะมากแค่ไหนก็ไม่คุ้มค่าที่จะเสียชีวิตให้คนข้างหลังเสียใจหรอกนะครับ

ก็ขอสวัสดีปีใหม่ไทยครับ

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply