ใครที่สนใจเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น ก็จะน่าจะเข้าใจคำว่า IPO หรือ Initial Public Offering ภาษาบ้านๆก็คือการนำบริษัทเข้าไปให้ซื้อขายในตลาดหุ้นนั่นแหละ
ทีนี้เรื่องราวมันก็จะไม่มีอะไร หากเป็นการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบปกติทั่วไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ที่เป็นข่าวโด่งดังก็คือการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมาของบริษัท WeWork ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจทางด้าน co-working space หรือการให้เช่าและแชร์พื้นที่สำนักงานให้มาทำงานร่วมกัน
ภายในช่วงเวลาแค่หนึ่งเดือน การประเมินมูลค่าของบริษัท WeWork เพื่อนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นนี้มีมูลค่าลดลงจาก 47,000 ล้านเหรียญ เหลือเพียงแค่ 10,000 ล้านเหรียญเท่านั้น สำหรับใครที่สนใจว่าเรื่องราวของ WeWork ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมการประเมินมูลค่าถึงได้ผิดพลาดหรือห่วยแตกขนาดนั้นจนทำให้ต้องมีการเลื่อนการออก IPO ไปอย่างไม่มีกำหนดก็หาอ่านได้ที่
https://www.businessinsider.com/wework-ipo-fiasco-adam-neumann-explained-events-timeline-2019-9
แต่ที่อยากจะพูดถึงในวันนี้คือ CEO หรือเจ้าหน้าที่ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง WeWork คือ Adam Neumann ที่มีข่าวว่าได้รับค่าชดเชยจากการที่เขาต้องลงจากตำแหน่งประธานผู้บริหาร (Chairman) ถึง 1.7 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 55,000 ล้านบาทเลยทีเดียวจาก Softbank (ผู้ลงทุนหลักในบริษัท WeWork) ซึ่งเหตุการณ์ได้รับเงินค่าชดเชยแบบนี้ในวงการธุรกิจเขามักจะเรียกว่า Golden Parachute ภาษาไทยคงจะทำนองร่มชูชีพทองคำ
โดยปกติแล้วในอดีตคำว่า Golden Parachute นี้จะหมายถึงเหตุการณ์ที่บริษัทที่ถูกเข้าซื้อกิจการอยากจะปกป้องผู้บริหารจากเหตุการณ์เข้าซื้อกิจการจากอีกบริษัท เพื่อให้มีการจ่ายค่าชดเชยใหักับผู้บริหารจากการเข้าซื้อกิจการของอีกบริษัทนั้นๆ แต่ไม่ต้องการผู้บริหารให้อยู่ต่อ ว่าง่ายๆก็คืออยากได้บริษัทเขาแต่ไม่อยากได้ผู้บริหารเขา ก็จ่ายตังให้เขาออกไปซะ ซึ่งก็จะเป็นต้นทุนจากการเข้าซื้อบริษัทอีกบริษัทนึงด้วยเช่นกัน
แต่ทุกวันนี้ก็จะมีความหมายกว้างๆในแง่ที่ว่าเป็นค่าชดเชยสำหรับผู้บริหารที่ให้ออกจากบริษัท ไม่ว่าจะกรณีไหน หรือมีการเข้าซื้อกิจการกันหรือไม่ หรือแม้แต่ว่าตัวผู้บริหารเองจะมีผลงานไม่ได้ตามที่คาดหวังก็ตาม อย่างเช่นในกรณีของ WeWork เป็นต้น
การให้ค่าชดเชยกับพนักงานหรือผู้บริหารสำหรับการให้ออกจากบริษัทนั้นก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้ในรูปเงินสดเลย การให้สิทธิในการซื้อหุ้น หรือการให้หุ้นบริษัทตรงๆแล้วไปขายเอาเอง หรือการให้ผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆก็ถือว่าเป็นส่วนนึงของ golden parachute เช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำหรับการชดเชยอย่างงดงามในแง่นี้ก็มีการถกเถียงกันโดยทั่วไปเช่นกัน ว่ามันเหมาะสมแค่ไหนหรือสมควรแล้วหรือที่จะต้องจ่ายมากขนาดนั้น
ในด้านผู้ที่สนับสนุนการชดเชยแบบนี้ก็บอกว่า มันง่ายกว่าที่บริษัทจะจ้างและดึงดูดผู้บริหารให้คงอยู่กับบริษัทไปนานๆโดยเฉพาะวงการหรืออุตสาหกรรมที่มักจะมีการควบรวมกิจการกันได้ง่าย มันจะช่วยให้ผู้บริหารมีความชัดเจนและมีเป้าหมายเกี่ยวกับบริษัทในช่วงขั้นตอนการเข้าซื้อกิจการและการที่อาจจะสูญเสียตำแหน่งหลังจากการโดนเข้าซื้อกิจการแล้ว
รวมถึงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับบริษัทที่เข้าซื้อกิจการให้คิดดีๆก่อน และช่วยให้ผู้บริหารวางเป้าหมายระยะยาวเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรด้วย ว่าง่ายๆก็คือพยายามให้เป้าหมายของเจ้าของบริษัท กับ ผู้บริหารไปในทางเดียวกันมากที่สุด เพื่อลด Principal-Agent Problem (สั้นๆคือผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัทกับผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของมักจะไม่ไปในทางเดียวกัน)
ส่วนด้านผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้นก็จะบอกว่า ผู้บริหารนั้นได้รับการชดเชยที่ดีอยู่แล้ว การถอดถอนพนักงานมันก็เป็นความเสี่ยงอยู่แล้วไม่ว่าจะสายงานอาชีพไหน ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
ผู้บริหารนั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบและหน้าที่ต่อบริษัทอยู่แล้ว และไม่ควรได้รับค่าชดเชยหรือแรงจูงใจอะไรแบบนี้เพิ่มเติมเพียงแค่จะให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น
ส่วนต้นทุนทางด้าน golden parachute นั้นมักจะมีมูลค่าและสัดส่วนที่น้อยมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับต้นทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดอยู่แล้วและมันก็ไม่มีจะช่วยให้มีผลลัพธ์อะไรที่จะต่างออกไปจากเดิมนักหรอก
และอย่างสุดท้ายก็คือการชดเชยเหล่านี้จะนำไปสู่แรงจูงใจที่พิลึกพิลั่นและผิดปกติ ซึ่งก็อาจจะได้ผลลัพธ์ตรงข้ามกับความตั้งใจของผู้ให้และอาจจะส่งผลในด้านลบด้วยซ้ำไป เช่น หากผู้บริหารได้รับการชดเชยในรูปของหุ้นบริษัท ผู้บริหารก็อาจจะแค่สนใจราคาหุ้นและอาจจะสนใจเป้าหมายที่จะทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นมากกว่าความยั่งยืนของบริษัทในระยะยาวก็เป็นได้
อ้างอิง:
https://www.businessinsider.com/what-is-a-golden-parachute-severance-exit-package-buyout-ceo
https://en.wikipedia.org/wiki/Golden_parachute
https://en.wikipedia.org/wiki/Perverse_incentive
https://www.businessinsider.com/wework-ipo-fiasco-adam-neumann-explained-events-timeline-2019-9
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.