พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

เกิดอะไรขึ้นเมื่อธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ย? (what happens when Fed/Central Bank cuts interest rate?)

https://brandinside.asia/

อย่างที่เราเคยรู้กันไปแล้วว่าเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีขนาดประมาณ 25% หรือ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลกเรา ดังนั้นเวลาที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯประกาศปรับการขึ้นหรือลดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยก็คือต้นทุนของเงินที่เราใช้จ่ายกันทุกวันนี้นี่แหละ) ทั่วโลกจึงต้องให้ความสนใจเสมอมา

และล่าสุดก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมาธนาคารกลางของสหรัฐ (Federal Reserves) ก็ได้ทำการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับขึ้นมาตลอดเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2015 และเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ตั้งแต่ปี 2008 นู้น

ทีนี้ในฐานะคนธรรมดาทำมาหากินอย่างเราๆจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าดอกเบี้ยก็คือตุ้นทุนของเงิน ซึ่งหากเทียบกับประเทศไทยเราก็คือเมื่อแบงค์ชาติของเราปรับลดดอกเบี้ยอะไรแบบนี้ ซึ่งต้นทุนที่ว่าก็คือต้นทุนที่ธนาคารพาณิชย์หลากสีของเรานำไปใช้ต่อ เป็นไกด์ไลน์ในการจ่ายดอกเบี้ยอันน้อยนิดให้กับเรา รวมไปถึงใช้ในการปล่อยกู้ให้เราในด้านต่างๆ (กู้ไปซื้อบ้าน กู้ไปซ่อมบ้าน กู้ไปซื้อรถ กู้ไปลงทุน กู้ไปใช้หนี้เดิม ฯลฯ) หรือก็ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในการขยายธุรกิจ หรือดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจโดยทั่วไป

ทีนี้ก็อาจจะมีคนสงสัยต่อว่าแล้วดอกเบี้ยลดที่สหรัฐฯคนละฟากโลกแล้วมันเกี่ยวอะไรกับไทยเราหละ อย่างที่บอกว่าขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นใหญ่มาก ในโลกที่เงินทุนไหลไปมาอย่างค่อนข้างเสรี และประเทศเล็กๆอย่างเราที่ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเสรีก็ต้องพยายามรักษาช่องว่างของดอกเบี้ยไม่ให้ห่างกันจนเกินไป เพราะมิเช่นนั้นเงินทุนก็จะไหลออกจากประเทศเราได้ เราก็จะมีเงินหมุนในประเทศน้อยลง ว่าง่ายๆก็คือหากดอกเบี้ยประเทศเราต่ำกว่าของสหรัฐฯมากๆ เงินทุนจากต่างประเทศก็จะนำเงินออกจากประเทศเราและก็จะนำเงินไปฝากที่นั่นแทน

การที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆต้องมีการปรับเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ตลอดเวลาก็เนื่องจากเป้าหมายในการรักษาอัตราเงินเฟ้อและรักษาความมีเสถียรภาพของค่าเงินของประเทศตัวเองและเพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย (ลองนึกภาพประเทศที่ขาดเสถียรภาพทางการเงินที่มีตัวอย่างเร็วๆนี้ก็คือเวเนซูเอล่า เงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนเงินไร้ค่าไปเลย)

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยพื้นฐานแล้วก็เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้คนหรือธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น เพื่อดึงไม่ให้เศรษฐกิจนั้นเข้าสู่ภาวะตกต่ำ (ดอกเบี้ยต่ำ > ต้นทุนในการกู้ก็ต่ำ > ธุรกิจกล้าลงทุน ผู้บริโภคกล้าผ่อนสินค้า) แต่หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่มากเกินไปจนอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมากเกินไปจนควบคุมยาก ธนาคารกลางก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยแทนเพื่อแตะเบรคไม่ให้เศรษฐกิจขยายเร็วจนเกินไป (ดอกเบี้ยสูง > ต้นทุนในการกู้สูง > ธุรกิจไม่กล้าขยายการลงทุน ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้า > ลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป)

หลายๆคนไม่เคยสนใจอัตราดอกเบี้ยเลยเวลาซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้แต่พวกมือถือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คิดแต่ว่าผ่อนเดือนละเท่าไหร่ ชั้นรับได้ อยากได้ พอจัดได้ ก็จัดเลย อะไรแบบนี้ไม่ควรซะทีเดียว ยิ่งหนักไปกว่านั้นหลายคนไม่เคยรู้เลยว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ตัวเองใช้นั้นอยู่ที่เท่าไหร่

มัวแต่ใช้จ่ายจนเพลิน จ่ายแต่ขั้นต่ำ โดนธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเรียกเก็บดอกเบี้ยก็ไม่เคยสนใจ เพราะคิดว่าจ่าย “ขั้นต่ำ” ไปเรื่อยๆไม่เป็นไร (บางธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยปีถึงปีละ 20% เลยนะครับ รายได้เราเพิ่มปีละกี่ % กันเนาะ)

อ้างอิง:

https://www.economist.com/leaders/2019/08/01/the-biggest-winners-from-the-feds-rate-cut

https://www.economist.com/finance-and-economics/2019/08/01/the-fed-cuts-rates-for-the-first-time-in-over-a-decade

https://www.investopedia.com/articles/economics/08/interest-rate-affecting-consumers.asp

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply