พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

มุมมองการลงทุนในทองของวอเรน บัฟเฟต (Warren Buffett on gold)

(ภาพจาก http://wallsdesk.com/warren-buffett-85835/)

ทองมักเป็นสิ่งที่นักลงทุนนิยมเลือกพักเงินในช่วงที่เศรษฐกิจหรือสินทรัพย์เสี่ยงอื่น เช่น หุ้น มีความผันผวน แต่อย่างไรก็ดีก็มีนักลงทุนท่านนึงที่แสดงความเห็นอย่างแตกต่างไว้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2012 จากจดหมายถึงผู้ถือหุ้นของนักลงทุนผู้ประสพความสำเร็จระดับโลกอย่าง วอเรน บัฟเฟต ​(warren buffett) ปู่วอเรน (เนื่องจากท่านจะอายุครบ 88 ปีแล้วในปีนี้จึงขออนุญาตเรียกคุณปู่ละกัน) ได้อธิบายและยกตัวอย่างถึงการลงทุนในทองไว้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนขอนำมาย่อยสั้นๆเพื่อคนทั่วไปอย่างเราๆได้อ่านและคิดตามกัน

ปู่วอเรนได้บ่งบอกถึงทางเลือกในการลงทุนที่บริษัทของปู่ชอบมากกว่าวิธีอื่น โดยให้แนวคิดว่าการลงทุนก็คือ การวางเงินในวันนี้เพื่อที่คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาในวันหน้า โดยละเว้นการบริโภคในวันนี้เพื่อโอกาสที่จะบริโภคได้มากกว่าเดิมในวันหน้า (อดเปรี้ยวไว้กินหวานว่างั้นเถอะ) ปู่วอเรนได้สรุปทางเลือกในการลงทุนหลักๆไว้สามทาง คือ 

1.  ตลาดตราสารหนี้ (money-market), พันธบัตร (bonds), เงินฝาก (bank deposits) คนส่วนใหญ่จะมองว่าการลงทุนในสิ่งเหล่านี้จะเรียกได้ว่า “ปลอดภัย” แต่ในความเป็นจริงแล้วถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีอันตรายจากเงินเฟ้อที่จะลดมูลค่าของเงินลงไปอีกนั่นเอง (เงินเฟ้อคือ การที่สินค้ามีราคาแพงขึ้นและเงินเท่าเดิมซื้อสินค้าเดิมได้น้อยลง) เพราะกำไรที่มาจากการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้มีเพียงอย่างน้อยนิด เช่น สมมุติดอกเบี้ยเงินฝากที่เราๆฝากๆกันอยู่ที่ระดับมดๆ 0.5% แต่เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.0% นั่นแปลว่าเงินของเรามีมูลค่าลดลงไปอีก 0.5% นั่นแหละ 

2. ทอง สินทรัพย์แบบทองนี้ไม่สามารถสร้างอะไรได้และคนซื้อก็ซื้อเพียงเพื่อที่จะคาดหวังว่าคนอื่นจะมาซื้อต่อในราคาที่แพงขึ้นไปอีกโดยขึ้นอยู่กับความเชื่อของคนว่าทองจะมีค่ามากขึ้นในอนาคต ทองมีข้อด้อยสองข้อหลักๆคือ มันไม่สามารถใช้ทำอะไร และสร้างอะไรได้ ถ้าคุณถือทองไว้หนึ่งก้อนจนตายคุณก็ยังถือไว้หนึ่งก้อนเหมือนเดิม โลกนี้มีทองประมาณ 170,000 ตันถ้าเรานำทองทั้งหมดนี้ไปหลอมรวมกันไว้เป็นลูกบาศก์ก็จะได้ความสูงประมาณด้านละ 68 ฟุต (20.73เมตร) ณ ราคา 1,750 เหรียญต่อออนซ์ (ราคาทองในตอนนั้น) รวมมูลค่าได้ 9.6 ล้านล้านเหรียญ (295 ล้านล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยนช่วงเดียวกัน) สมมุติว่าทองก้อนนี้คือลูกบาศ์ก A ทีนี้สมมุติให้ลูกบาศ์ก B มีขนาดเท่าๆกันแต่ด้วยเงินจำนวนนั้นสามารถใช้ซื้อที่ดินการเกษตรทั้งหมดในอเมริกาและซื้อ Exxon Mobil ได้ 16 บริษัท (บริษัทที่กำไรที่สุดโลกในตอนนั้น) และยังมีเงินเหลืออีก 1 ล้านล้านเหรียญด้วยซ้ำ (30.74 ล้านล้านบาท) 100 ปีจากวันนี้ที่ดินการเกษตรจะมีผลผลิตออกมามากมายและก็ยังจะผลิตออกมาเรื่อยๆ รวมไปถึงความจริงที่ว่า Exxon Mobil ก็อาจจะจ่ายเงินปันผลออกมาหลายๆล้าน และก็จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากมาย (อย่าลืมว่ามี Exxon Mobil 16 บริษัทเชียวนะ) แต่ทองก็จะมีจำนวนเท่านี้แหละและก็ไม่ผลิตอะไรทั้งนั้นแต่ปู่วอเรนก็ยอมรับว่าเมื่อผู้คนเกิดอาการหวาดกลัวก็จะรีบไปซื้อทองไว้ก่อนแต่ปู่ก็ยังมั่นใจว่าในระยะยาวทองมูลค่า 9.6 ล้านล้านเหรียญจากลูกบาศ์ก A จะสร้างมูลค่าทบต้นที่เทียบไม่ได้เลยกับลูกบาศ์ก B 

3. การลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าต่างๆ (productive assets) ดังเช่นบริษัทต่างๆฟาร์มหรืออสังหาริมทรัพย์สินทรัพย์เหล่านี้น่าจะมีความสามารถที่จะสร้างผลผลิตและเพิ่มมูลค่าของตัวเองให้มากขึ้นและเนื่องจากการมีอยู่ของเงินเฟ้อบางบริษัทอาจต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้ที่มากขึ้นซึ่งแม้กระนั้นก็จะยังคงเป็นการลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ตราสารหนี้ต่างๆหรือสินทรัพยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อะไร

ดังนั้นแล้วจากจดหมายของปู่ก็ดูเหมือนจะจริงที่ว่าแม้ทองอาจจะเหมือนที่พักใจสำหรับนักลงทุนในยามโลกผันผวน (safe haven) แต่มันก็ไม่สามารถทำอะไรอื่นได้และหากเอียงคล้อยตามกันการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าก็น่าจะเป็นทางเลือกที่จะเอาชนะเงินเฟ้อและได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆในระยะยาว

แต่…ทีนี้ไหนเราลองมาทำแบบฝึกหัดสั้นๆตามที่ปู่เขียนไว้ โดยตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ 2012 ถึง 31 มีนาคม 2018 Exxon Mobil มีการจ่ายปันผลแล้ว 24 ครั้ง รวมเป็นมูลค่า 16.56 USD ต่อหุ้นคิดเป็น dividend yield ต่อปีที่ประมาณปีละ 0.84% – เฮ่ย น้อยไปมั้ย (หากเราซื้อหุ้น Exxon Mobil ตอนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012 ที่ 86.73 USD และขายสิ้นเดือนมีนาคม 2018 ที่ราคา 74.61 USD) ในขณะที่ราคาคาทองคำต่อออนซ์ (ounce) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 อยู่ที่ 1,939.92 USD และราคาเดือนมีนาคม 2018 อยู่ที่ 1,323.9 USD และเนื่องจากทองไม่จ่ายปันผลและทำไรไม่ได้ เท่ากับว่าผลตอบแทนจะติดลบ -68.25% หรืออยู่ที่ประมาณ -6.17% ต่อปีตลอดช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา – อ่อ ยังดีกว่าทองตั้งปีละ 7% แหนะ

อ้างอิง:

http://www.berkshirehathaway.com/letters/2011ltr.pdf

https://finance.yahoo.com

http://www.macrotrends.net/1333/historical-gold-prices-100-year-chart)

blenlit

Hakwamroo.com

Leave a Reply