ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายๆท่านคงจะได้ยินข่าวผู้คนที่อพยพออกจากประเทศเวเนซูเอล่าถึงตอนนี้ก็เป็นจำนวน 2.3 ล้านคนแล้วตั้งแต่ปี 2014 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประเทศในวงกว้างอย่างรุนแรง
บางคนอาจจะยังสงสัยว่าประเทศเวเนซูเอล่านี่มันอยู่ไหนเนี่ย แล้วมันก็อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไกลประเทศเราไปหน่อย (ก็ลาตินอเมริกานู่นอ่ะเนาะ จะบินไปยังต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะถึง)
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่ให้คนหาความรู้อย่างเราๆได้ศึกษากันว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือตลาดเสรีนิยมเนี่ยมันทำให้เกิดวิกฤตอย่างไรกันได้บ้าง
เราก็เริ่มหาข้อมูลจากเว็บนู้นเว็บนี้เช่นเคย ประเทศเวเนซูเอล่ามีประชากร 32 ล้านคน (ประมาณครึ่งนึงของประชากรไทยเราเนาะ) และรายได้ของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมันถึง 95% ซึ่งแค่นี้ก็เห็นได้ชัดถึงความเสี่ยงอย่างมากที่พึ่งพาเพียงแค่การส่งออกน้ำมันในการหารายได้เข้าประเทศ ประเทศเวเนซูเอล่าตอนนี้กำลังแย่อย่างหนัก มีการตัดไฟฟ้าในบางเมือง มีการขาดอาหารและยา มีเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyperinflation) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะไปถึง 1,000,000% ภายในสิ้นปีนี้ (ใช่ครับ หนึ่ง ล้าน เปอร์เซ็นต์)
นับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฏาคมนั้นเงินเฟ้อได้ปาเข้าไป 83,000% แล้วตามกราฟด้านล่าง (นึกง่ายๆ เงินร้อยบาทเคยกินข้าวแกงได้สองจาน ตอนนี้นอกจากมันจะไม่มีค่าแล้วยังต้องหามาอีกเกือบ 83,000 บาท ถึงจะซื้อข้าวแกงได้สองจานเท่าเดิม แล้วมันจะเป็นได้ไง) ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ 26 วัน แน่นอนว่าหลายๆคนนั้นไม่มีทางซื้ออาหารกินได้เลยด้วยซ้ำ
กาแฟแก้วนึงราคาประมาณ 2.5 ล้านโบลิว่า (bolivars) หรือประมาณ 330 บาท (1 USD = 250,000 Bolivars) บ้านเราสตาบัคแก้วละ 120 ดูราคาถูกไปเลยทีเดียว
จากการกำหนดค่าเงินใหม่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมนั้น ตอนนี้แบงค์ที่มีมูลค่าสูงสุดคือใบละ 100,000 โบลิวา หรือก็คือ 0.4 USD หรือ 13.2 บาท (โอ้ เหมือนเราจะรวยเลยทีเดียว)
แม้ว่าเวเนซูเอล่าจะมีน้ำมันมากและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีน้ำมันสำรองเยอะที่สุดในโลก แต่ด้วยเหตุนี้แหละมันก็เป็นสาเหตุของปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนี้
เพราะว่ามีน้ำมันเยอะนี่แหละ เวเนซูเอล่าเลยไม่คิดจะผลิตสินค้าอย่างอื่นเท่าไหร่นะ และเมื่อขายน้ำมันให้ชาติอื่นๆและเมื่อได้เงินมา ก็นำเงินมานำเข้าสินค้าให้กับชาวเวเนซูเอล่าแทน
และเนื่องจากว่าเวเนซูเอล่ามีรายได้จากการส่งออกน้ำมันถึง 95% และราคาน้ำมันดิ่งลงในช่วงปี 2014 ทำให้รายได้เข้าประเทศนั้นหดหายตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถนำเข้าสินค้าต่างๆได้ระดับเดิมเช่นเคย เนื่องจากรายได้ที่หดหายไป ผลลัพธ์จึงทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเมื่อรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเรื่อยๆ พร้อมกับปรับค่าแรงขึ้นต่ำให้สูงขึ้นเรื่อยๆเพื่อพยายามรักษาฐานเสียงจากคนจน ทำให้เงินสูญเสียมูลค่าอย่างรวดเร็ว (คุ้นๆมั้ยครับกับวิธีการแบบนี้)
การกระทำเช่นนี้ส่งผลให้เจ้าหนี้ก็กังวลที่จะเสี่ยงลงทุนเพิ่มในเวเนซูเอล่า รัฐบาลก็ยิ่งพิมพ์ธนบัตรเพิ่มหนักเข้าไปอีก รัฐบาลก็ผิดนัดชำระหนี้ในพันธบัตร(bond)ของตัวเอง ทำให้มูลค่าเงินยิ่งด้อยลงไปอีกทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจากสหประชาชาติบอกว่าชาวเวเนซูเอล่าจำนวน 2.3 ล้านคนได้ออกจากประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจนี้เริ่มก่อตัว
เราคงจะเห็นกันว่า แม้ว่าประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับต้นๆของโลกอย่างเวเนซูเอล่า แต่มีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรในวงกว้างและรุนแรงได้
พอหลายๆคนเคยใช้ชีวิตกันแบบสบายเกินไปก็ไม่เคยคิดจะทำอะไร ไม่สร้างหรือผลิตอะไรเพิ่มเติม รายได้ก็ผูกอยู่กับแต่การส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว
พอแหล่งที่มาของรายได้หลักหดหายไปโดยไม่มีรายได้อื่นมาทดแทนก็เลยเดือดร้อนแบบนี้ เราก็สามารถนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้กับระดับประเทศเราหรือแม้แต่ส่วนตัวบุคคลอย่างเราได้ด้วยการ พยายามสร้างหรือหารายได้เพิ่ม สร้างประสิทธิภาพ(productivity)ให้กับตัวเอง อย่าสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น และเก็บออมนำเงินไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
เพียงเท่านี้เราก็สามารถลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (ทั้งระดับประเทศและระดับบุคคล) ไปได้มากพอสมควรแล้วครับ
ขอให้ใช้ชีวิตกันอย่างมีสติครับ เราคงไม่อยากเป็นแบบเวเนซูเอล่ากันเท่าใดนัก
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Venezuelan_bol%C3%ADvar
https://www.bbc.com/news/world-latin-america-36319877
https://en.wikipedia.org/wiki/Crisis_in_Venezuela
blenlit
Hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.