พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

Velocity of Money (อัตราการหมุนของเงิน)

Velocity of Money หรืออัตราการหมุนของเงินนั้นเป็นวิธีการวัดว่าเงินในระบบเศรษฐกิจนั้นมีการเปลี่ยนมือหรือหมุนไปในระบบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คือจะนับเป็นจำนวนครั้งที่เงินเปลี่ยนมือหรือย้ายจากที่นึงไปยังอีกที่นึง และมันยังหมายถึงว่าหนึ่งหน่วยของสกุลเงินนั้นมีการใช้ไปมากน้อยแค่ไหนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ว่ากันง่ายๆก็คือ อัตราที่ผู้บริโภคและเศรษฐกิจรวมกันในระบบเศรษฐกิจนั้นมีการใช้จ่ายเงินอย่างไร โดยปกติแล้วอัตราการหมุนของเงินนั้นจะเป็นอัตราส่วนระหว่างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เทียบกับอุปทานเงิน M1 (โดยทั่วไปคือเงินสด เหรียญ เช็ค) และ M2 (โดยทั่วไปคือ M1 บวกกับ เงินฝากในธนาคาร เงินฝากประจำ เงินกองทุนรวม) ที่มีอยู่ของประเทศ

อัตราการหมุนของเงินนั้นมีความสำคัญในการวัดหาอัตราเร่งที่เงินในระบบนั้นมีการถูกใช้ไปในการซื้อสินค้าและบริการ และมันยังช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนสามารถวัดสุขภาพและความกระชุ่มกระชวยของเศรษฐกิจได้ โดยมากแล้วหากอัตราการหมุนของเงินนั้นมีค่าที่สูง ก็คือมีการหมุนเงินเร็ว ก็มักจะบอกว่าเศรษฐกิจนั้นมีสุขภาพที่ดี และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม อัตราการหมุนของเงินที่ต่ำมักจะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเศรษฐกิจหดตัว

อัตราการหมุนของเงินนั้นยังเป็นเมตริกที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คำนวณดูว่าในระบบเศรษฐกิจนั้นเงินนั้นมีการทำธุรกรรมเพื่อการซื้อสินค้าและบริการมากแค่ไหน แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่ตัวบ่งชี้หลักในทางเศรษฐกิจ แต่มันก็สามารถใช้ในการติดตามและช่วยในการบ่งชี้สุขภาพของเศรษฐกิจร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆอย่าง GDP อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งตามที่กล่าวไปแล้วว่า GDP และ อุปทานของเงินนั้นเป็นตัวประกอบสำคัญในการคำนวณสูตรอัตราการหมุนของเงิน

เศรษฐกิจที่มีอัตราการหมุนของเงินที่สูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆนั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะเป็นประเทศที่พัฒนามากกว่า ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าอัตราการหมุนของเงินนั้นมักจะมีความแปรปรวนและมีการเหวี่ยงตัวขึ้นลงตามวงจรของธุรกิจ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขยายตัวนั้น ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจมักจะมีความพร้อมมากกว่าในการใช้จ่ายเงินส่งผลให้อัตราการหมุนของเงินนั้นเพิ่มขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัวหรือหดตัว ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจก็จะมีความลังเลที่จะใช้จ่ายเงินเช่นกัน ส่งผลให้อัตราการหมุนของเงินนั้นลดต่ำลง

และเนื่องจากว่าอัตราการหมุนของเงินนั้นมีความเกี่ยวข้องกับวงจรของธุรกิจ เลยทำให้มันมีความเกี่ยวข้องกับตัวบ่งชี้หลักๆทางเศรษกิจด้วย ดังนั้นแล้วอัตราการหมุนของเงินนั้นจึงมักจะเพิ่มสูงขึ้นตาม GDP และอัตราเงินเฟ้อ และในทางกลับกันมันก็คาดหวังว่าจะมีอัตราที่ต่ำลงเมื่อ GDP และอัตราเงินเฟ้อนั้นลดลงในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นกัน

ตัวอย่างของอัตราการหมุนของเงิน

สมมุติว่าในระบบเศรษฐกิจนั้นมีแค่คนสองคนคือ นาย ก. และ นาย ข. ทั้งคู่มีเงินคนละ 100 บาท นาย ก. ซื้อรถจากนาย ข. ในราคา 100 บาท และนาย ข. ซื้อบ้านจากนาย ก. ในราคา 100 บาท เช่นกัน นาย ข. ต้องการต่อเติมบ้าน จึงจ้างนาย ก. ให้ช่วยทำให้ โดยนาย ข. ก็จะจ่ายเงินให้นาย ก. 100 บาท เช่นกัน นาย ก. ขายรถที่เขามีให้นาย ข. ในราคา 100 บาท ดังนั้นแล้วทั้งสองคนในเศรษฐกิจจึงทำธุรกรรมรวมกันมูลค่า 400 บาทแล้ว แม้ว่าทั้งคู่ต่างคนต่างมีเงินเพียง 100 บาทเท่านั้น ในเศรษฐกิจจำลองนี้ อัตราการหมุนของเงินก็จะหาได้ด้วยการนำ 400 บาทจากธุรกรรมทั้งหมดไปหารด้วยเงิน 200 บาทที่มีอยู่ในระบบนี้ ซึ่งก็จะได้อัตราการหมุนของเงินที่ 400 / 200 = 2 นั่นเอง การเพิ่มจำนวนในมูลค่าของสินค้าและบริการในการแลกเปลี่ยนนี้จึงสามารถเป็นไปได้จากอัตราการหมุนของเงินนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ก็มีมุมมองที่แตกต่างกันออกไประหว่างนักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันว่าไอ่อัตราการหมุนของเงินเนี่ยมันเป็นตัวบ่งชี้เกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์หรือไม่โดยเฉพาะในด้านแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ นักการเงินนั้นบอกว่าอัตราการหมุนของเงินนั้นควรจะคงที่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคาดหวังเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การเปลี่ยนแปลงของอุปทานเงินนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงความคาดหวังได้ ดังนั้นก็จะส่งผลต่ออัตราการหมุนของเงินและอัตราเงินเฟ้อ

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของอุปทานเงินนั้นในทางทฤษฏีแล้วควรนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ GDP ที่สมน้ำสมเนื้อกันเนื่องมาจากว่ามันมีปริมาณเงินในระบบที่มากขึ้นแต่ว่าระดับสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจนั้นมีเท่าเดิม และในทางตรงกันข้ามก็เช่นกัน เมื่ออุปทานของเงินในระบบลดลง อย่างไรก็ดี คนที่เห็นต่างก็แย้งว่า ในระยะสั้นนั้น อัตราการหมุนของเงินนั้นจะแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงได้มาก และราคา (ในระยะสั้น) นั้นก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานเงินและอัตราเงินเฟ้อนั้นไม่แข็งแรงและไม่มีผลโดยตรงนัก

แต่จากตัวอย่างในปีนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้น มีการปิดเมือง มีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจมากขึ้น และมีอุปทานเงินเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ การหดตัวของเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้คนมีการออมมากขึ้นเนื่องจากกลัวความไม่แน่นอน ส่งผลให้อัตราการหมุนของเงินนั้นมีอัตราที่ต่ำลงนั่นเอง

อ้างอิง:

https://www.investopedia.com/terms/v/velocity.asp

https://www.economist.com/finance-and-economics/2020/11/21/why-money-is-changing-hands-much-less-frequently

Leave a Reply