เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2020 Ray Dalio มีการปล่อยของออกมา เป็นบทแรกจากหนังสือที่บริษัททางด้านการลงทุนที่เขาก่อตั้งขึ้นมานั้นทำการค้นคว้าเกี่ยวกับอดีตว่าระบบเศรษฐกิจของโลกเรานั้นเป็นมาอย่างไร ซึ่งจากบทที่ 1 จริงๆจะยาวมาก และมากกว่า 8,000 คำ ซึ่งก็จะนำมาสรุปให้ได้ในหลักร้อยคำก็คงจะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ก็จะขอสรุปเป็นไอเดียหลักๆจากบทความนี้ละกัน
โลกเรากำลังจะเปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่ การศึกษาค้นคว้านี้จะเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งและอำนาจที่เพิ่มขึ้นและลดลงของประเทศมหาอำนาจต่างๆที่เคยมีมาในโลก
ในประวัติศาสตร์โลกนั้นความมั่งคั่งมักจะได้มาจากการสร้างมันขึ้นมาเอง ไปเอามาจากคนอื่น หรือขุดมันขึ้นมาจากดิน
ผลผลิตจากมนุษย์นั้นเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดในการสร้างความมั่งคั่ง อำนาจ และมาตราฐานการครองชีพของโลกให้สูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งมาจากการเรียนรู้ การสร้างสิ่งต่างๆ และการคิดค้นอะไรขึ้นมา
จากอดีต ที่การศึกษานั้นพบว่ามีแรงผลักดัน 17 อย่างที่เป็นตัวกำหนดในอดีต แต่ วงจรหนี้ วงจรเงินและเครดิต วงจรช่องว่างระหว่างความจนความรวย และวงจนเกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองของโลกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่เราควรจะเข้าใจเพื่อให้เข้าใจถึงมุมองที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากกราฟจะเห็นว่า 500 ปีที่ผ่านมานั้น real GDP ของโลกต่อคน (ผลผลิตรวมลบด้วยเงินเฟ้อ) จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆมาตลอด และมาเร่งสูงขึ้นในช่วงประมาณ ปี 1800 เนื่องจากในช่วงนั้นมีการค้นพบนวัตกรรมการพิมพ์ ทำให้ความรู้และการศึกษานั้นกระจายไปสู่คนมากขึ้น ทำให้เกิดวิวัฒนาการใหม่ๆเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ประวัติศาสตร์นั้นแสดงให้เราเห็นแล้วว่าส่วนใหญ่แล้วช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้นมักจะมาจากการล่มจมของเงินและเครดิต ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความมั่งคั่งและอำนาจ และก็เหตุการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงเช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และโรคระบาด แต่ประเทศที่มักจะทนและรอดมาได้มักจะเป็นประเทศที่มีเงินเก็บมาก หนี้ต่ำ และมีสกุลเงินที่แข็งแรงพอที่จะทนทานต่อการล่มจมของเศรษฐกิจและเครดิตมากกว่าประเทศที่มีน้อยกว่า
จากกราฟด้านล่างในช่วงปี 1930-1945 ที่เป็นช่วงสงครามและเศรษฐกิจถดถอย ระดับตลาดหุ้นของอเมริกาตกลงไปถึง 85% และระดับเศรษฐกิจโลกหดตัวลง 10%
จากหลายๆกรณี จะเห็นว่าการลดลงทางเศรษฐกิจและตลาดนั้นมักจะกินเวลาประมาณสามปีจนกว่ามันจะเริ่มกลับตัวจากการปรับโครงสร้างใหม่เกี่ยวกับระบบเงิน ระบบเครดิต นโยบายทางการคลัง การเก็บภาษี การใช้จ่ายของภาครัฐ และการพิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้จ่ายและถึงค่อยจะเริ่มมากังวลเกี่ยวกับค่าเงิน (การพิมพ์เงินออกมาเยอะๆโดยที่เศรษฐกิจไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกันก็จะทำให้ค่าเงินนั้นอ่อนตัวลง)
วงจรต่างๆในประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นจากเหตุผลที่คล้ายๆกัน มีช่วงบูม มีช่่วงพัง เนื่องมากจากหนี้ที่สูงขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่มากขึ้น การกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียบกัน การเพิ่มภาษี การใช้จ่ายมากขึ้นทำให้ขาดดุล การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในนโยบายทางการเงินที่ต้องการอุดการขาดดุล และก็โรคระบาด
อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่ต้องผ่านประสพการณ์ที่เลวร้ายในช่วงต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอย ช่วงสงคราม หรือแม้แต่ช่วงโรคระบาดในอดีตนั้น ก็คงเจ็บปวดไม่น้อย และคงไม่มีใครอยากจะเจอกับมันอีก แต่หลายๆคนที่ผ่านมาได้ก็มักจะบอกถึงสิ่งดี จากเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ก็จะทำให้คนอ่อนแอก็แพ้ไป มีคนอึดคนเก่งคนที่ปรับตัวได้ใหม่ขึ้นมา
ทีนี้เราก็มาดูกันถึงวงจรการมีอยู่และดับไปของความมั่งคั่งและอำนาจในประเทศมหาอำนาจหลายๆประเทศในอดีตที่ผ่านมา 500 ปี
จากกราฟถัดไปนั้นจะเห็นว่า
- จีนนั้นค่อนข้างที่จะเป็นใหญ่มาตลอดเป็นร้อยๆปี แม้ว่าช่วงปี 1800 จะตกลงไปบ้าง
- ฮอลแลนด์ เมื่อเทียบกันแล้วถือว่าเป็นประเทศที่เล็ก แต่สามารถเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจได้ในช่วงปี 1600
- อังกฤษก็มีเส้นทางที่คล้ายๆกัน โดยขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในช่วงปี 1800
- และสุดท้าย สหรัฐอเมริกาขึ้นสู่การเป็ฯมหาอำนาจในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงนี้จะดูตกลงไปบ้างเพราะจีนกำลังตามติดขึ้นมาอีกครั้ง
ในการศึกษานี้ใช้ค่าเฉลี่ยตัวแปรอยู่ 8 ตัวในการวัดค่าความมั่งคั่งและอำนาจของประเทศนั้นๆ ก็คือ 1. ระดับการศึกษา 2. ความสามารถในการแข่งขัน 3. เทคโนโลยี 4. ผลผลิตทางเศรษฐกิจ 5. ส่วนแบ่งของการซื้อขายของตลาดโลก 6. ความเข้มแข็งทางทหาร 7. ความเข้มแข็งในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน และ 8. สกุลเงินสำรอง
จากกราฟด้านล่างแสดงให้เห็นถึงค่าเฉลี่ยของตัวแปรเหล่านี้โดนเน้นส่วนใหญ่ไปที่สามประเทศคืออเมริกา อังกฤษ และก็ฮอลแลนด์
จะเห็นได้ว่าคุณภาพของการศึกษาจะเป็นตัวแปรที่เข้มแข็งสุดในการดูว่าประเทศจะมีอำนาจมากขึ้นหรือลดลง และสกุลเงินสำรองก็เป็นจุดอ่อนมากสุด เนื่องจากว่าการมีการศึกษาที่เข้มแข็งมักจะนำไปสู่ความเข้มแข็งในทุกๆด้าน รวมไปถึงการสร้างสกุลเงินของโลกขึ้นมาด้วย สกุลเงินของโลก ซึ่งก็เหมือนกับภาษาของโลกนั้นมักจะอยู่ยาวก็เนื่องจากพฤติกรรมการใช้นั้นจะยืนยาวกว่าจุดแข็งที่ทำให้มีการใช้ในตอนแรก (ใครที่งงก็คือ จุดแข็งของประเทศอาจจะทำให้ภาษาตัวเองมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่สิ่งที่ทำให้ภาษานั้นยังคงมีการใช้อยู่ก็คือพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัยตะหากที่จะทำให้มันติดอยู่นาน)
โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถมองการเพิ่มขึ้นและดับไปของอำนาจและความมั่งคั่งได้ในสามเฟสคือ 1. ช่วงรุ่งเรือง 2. ช่วงสูงสุด 3. ช่วงถดถอย
- ช่วงรุ่งเรืองมักจะเกิดจาก ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ซึ่งมาจากมีจุดแข็งทางด้านการศึกษา ความเข้มแข็งทางลักษณะเฉพาะ การมีระบบการแจกจ่ายทรัพยากรที่ดี มีสังคมที่เปิดกว้าง มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้ลงทุนได้มากขึ้น ทำให้มีผลผลิตมากขึ้น และทำให้สามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงขึ้น และต้องมีการทหารที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ มีศูนย์กลางทางการเงินที่ดึงดูดเงินลงทุน ช่วยทำให้เงินสกุลของตัวเองเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
- ช่วงที่ประเทศไปสู่จุดสูงสุด ช่วงตอนรุ่งเรือง คนในประเทศก็มักจะร่ำรวยขึ้น ก็นำพาตัวเองไปให้แพงขึ้น และเมื่อตัวเองแพงขึ้น ก็มักจะแข่งขันน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่หลายๆคนพร้อมจะทำงานเยอะกว่าเพื่อแลกผลตอบแทนที่น้อยกว่า คนที่รวยขึ้นมักจะทำงานหนักน้อยลง และใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนมากขึ้น และเมื่อสกุลเงินของตัวเองกลายเป็นสกุลเงินสำรองของโลกไปด้วยก็ยิ่งทำให้ประเทศนั้นสามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้นทำให้มีอำนาจใช้จ่ายมากขึ้นในระยะสั้นแต่ว่าจะทำให้อ่อนลงในระยะยาว และความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจของประเทศก็มักจะมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่มากขึ้น
- ช่วงสุดท้ายคือช่วงเริ่มเสื่อมหรือถดถอยลง เมื่อประเทศมีหนี้มากขึ้น เมื่อธนาคารกลางไม่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้แล้ว และเมื่อเกิดเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ มีการพิมพ์เงินออกมามากขึ้นและสุดท้ายก็ทำให้ค่าเงินต้องลดลง และเมื่อช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากขึ้น ก็เริ่มมีความตีงเครียดมากขึ้นและนำไปสู่นโยบายประชานิยมทางการเมือง และเมื่อเหล่าคนรวยนั้นกลัวว่าเงินของตัวเองจะถูกแย่งชิงไป ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นย้ายเงินของตัวเองไปยังสินทรัพย์หรือสถานที่หรือสกุลเงินที่ดูแล้วปลอดภัยกว่าเพื่อให้พวกเขาอุ่นใจ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้ผลผลิตของประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง และมีข้อขัดแย้งมากขึ้นในการนำทรัพยากรของประเทศไปใช้ และยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งภายในมากขึ้นไปอีก เมื่อประเทศกำลังอ่อนแอลง การมีปัจจัยจากภายนอกมากระทบอย่างเช่นภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือโรคระบาดในช่วงอ่อนแอ ยิ่งทำให้แย่ไปใหญ่
และนั่นก็เป็นบทสรุปไอเดียสำคัญ (ที่ผมคิดเอาเองว่าสำคัญ) จากบทที่หนึ่งของปู่เรย์ ดาลิโอ ที่ศึกษาและเขียนออกมาให้เราได้เรียนรู้กันครับ
ท่านที่มีเวลาน่าจะเข้าไปอ่านฉบับเต็มได้ฟรีจากลิงก์ในส่วนอ้างอิงข้างล่างนี้ครับ
อ้างอิง:
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.