เมื่อประมาณสิงหาคมปี 2019 ปีที่แล้ว เรามีการพูดถึงว่า Big Mac Index และ Purchasing Power Parity คืออะไร ท่านใดสนใจก็สามารถกลับไปทบทวนความเข้าใจแบบเร็วๆได้ตามลิงก์นี้ https://www.hakwamroo.com/?s=purchasing+power+parity
และแล้วเมื่อวานนี้ (15 กรกฏาคม) ทาง The Economist ก็ได้มีการอัพเดท The Big Mac Index นี้อีกครั้งหนึ่ง ดัชนี้บิ๊กแมคนี้คิดค้นขึ้นมาโดย The Economist ในปี 1986 เพื่อเป็นไกด์คร่าวๆว่าระดับอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศนั้นควรอยู่ที่ระดับเท่าไหร่
โดยใช้ทฤษฏีที่ว่าอำนาจซื้อโดยเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) ในแต่ละที่ควรจะเท่ากันในสองประเทศใดๆที่เปรียบเทียบกัน โดยราคาของสินค้าที่เปรียบเทียบเมื่อผ่านอัตราแลกเปลี่ยนแล้วควรจะมีราคาที่เท่ากันในระยะยาวหรือมีแนวโน้มไปในทิศทางนั้นๆ
อย่างไรก็ดีมันไม่ได้บอกว่ามันต้องเป็นตามนี้เป๊ะๆเมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น เพราะบิ๊กแมคเนี่ยก็น่าจะขายมีให้กินในเกือบทุกประเทศทั่วโลกแหละ เราก็ลองไปดูอัตราแลกเปลี่ยนที่ The Economist “คิดว่า” เหมาะสมกันเมื่อนำเงินบาทไปเทียบกับดอลล่าห์สหรัฐ
โดยจากกราฟด้านล่างจะมีให้ดูอยู่สองมุมมอง มุมมองแรกคือมุมมองที่เลือกตอนนี้คือ “Raw Index” ซึ่งจะบอกว่าบิ๊กแมคนั้นมีราคา 128 บาทในประเทศไทยเรา แต่ว่ามีราคา 5.71 เหรียญในประเทศอเมริกา ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ “่น่าจะ” เป็นคือ 128 / 5.71 = 22.42 บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงตอนนี้เงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.39 บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ นั่นแปลว่าเงินบาทนั้นมีค่าอ่อนกว่าที่ “ควรจะเป็น” คือ (22.42/31.39-1)*100 = -28.6% เลยทีเดียว จากกราฟเงินบาทจริงอยู่ที่ด้านซ้ายในด้านของ “Undervalued” เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์สหรัฐนั่นเอง
![](https://i0.wp.com/www.hakwamroo.com/wp-content/uploads/2020/07/image-3.png?resize=616%2C422&ssl=1)
ทีนี้เราไปดูอีกมุมนึงกันก็คือมุม “GDP-adjusted” ก็คือมุมมองที่บอกว่าราคาบิ๊กแมคในประเทศที่จน(กว่า) ควรจะมีราคาที่ถูกกว่าในประเทศที่ร่ำรวยทั้งหลายแหละสิ เนื่องจากว่าต้นทุนด้านแรงงานมันถูกกว่าหนิ ซึ่งเมื่อมีการปรับรายได้ของประเทศต่อคนเข้ามาแล้วก็อาจจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ “ยุติธรรม” กว่าก็ได้ (เขาว่างั้น)
เมื่อดูจากกราฟด้านล่างตามมุมมองอีกมุมนึง ปรากฏว่า แม้ว่าราคาบิ๊กแมคในไทยนั้นจะมีราคาถูกกว่าในประเทศอเมริกา 29% (USD4.08 vs USD5.71) แต่หากเทียบกับรายได้ต่อคนโดยเฉลี่ยที่แตกต่างกันระหว่างสองประเทศนี้แล้ว (GDP per person) บิ๊กแมคควรมีราคาที่ถูกกว่านี้ที่ 44% ด้วยซ้ำไป หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐด้วยมุมมองนี้มีค่าแข็งเกินไปประมาณ 27%
![](https://i0.wp.com/www.hakwamroo.com/wp-content/uploads/2020/07/image-4.png?resize=616%2C419&ssl=1)
พอดูทั้งสองมุมมองนี้แล้วก็เกิดคำถามว่า เฮ่ย งง แล้วเราควรจะยึดถืออันไหนเป็นหลัก ตั้งแต่ -28% อ่อนเกินไปจากมุมนึงไป ถึง 27% แข็งเกินไปเมื่อมองอีกมุม คนที่ไม่มีธุรกรรมอะไรเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องสนใจอะไรพวกนี้ด้วยซ้ำไป เพราะอาจจะไม่มีผลกระทบอะไรเท่าไหร่ต่อการดำรงชีวิตเท่าไหร่
แต่สุดท้ายมันก็เป็นแค่ทฤษฏีที่เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้น แต่ยังไงสำหรับคนทำธุรกิจก็ต้องยึดตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงในโลกแห่งความจริงอยู่ดี เพราะตัวเลขนั้นตะหากที่จะทำให้เราเจ็บจริงอ่ะเนาะ
อ้างอิง:
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.