ในภาวะที่หุ้นลงถล่มทลายแบบนี้ ตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,128.91 จุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2020 หรือปรับตัวลดลง 450 จุดจาก 1,579.84 เมื่อสิ้นปี 2019 คิดเป็นประมาณ -28.5% อันเนื่องมาจากความตื่นตระหนกหลักๆเกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ซึ่งก็หวังว่าคงไม่หมดตัวและเป็นเงินเย็นที่ใส่เข้าไปในตลาดกันนะครับ
เมื่อตลาดไม่ดี เราก็ทำได้แค่หาความรู้กันเพิ่มเติมไป ก็เลยมีคนพูดถึงปู่วอเรน บัฟเฟต ที่เคยบอกว่าปู่แกใช้อัตราส่วนนึงในการพิจารณาร่วมด้วยว่าตลาดหุ้นนั้นมีราคา “แพง” ไปหรือไม่ จนเป็นที่มาและหลายๆคนจึงเรียกว่า ‘Buffett Indicator’
ไอ่ตัวบ่งชี้หรือ indicator ที่ว่านี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอัตราส่วนเทพอะไร แต่สิ่งที่ปู่แกคิดคือการนำเอาสัดส่วนของมูลค่าตลาด (market capitalization) และ GDP ของประเทศอเมริกามาเทียบกันกลายเป็น Market-cap-to-GDP ratio นั่นเอง
ความหมายของมันก็คือว่าหากอัตราส่วนนี้มีสัดส่วนที่สูง นั่นก็คือมูลค่าของตลาดมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ GDP เรื่อยๆก็แปลว่าราคาตลาดโดยทั่วไปในตอนนั้นๆมีราคาที่แพงนั่นเองเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศที่เปรียบเทียบ
ซึ่งจากกราฟด้านบนจะเห็นได้ว่า ช่วงก่อนที่ฝรั่งเรียกว่า Dot Com Bubble หรือช่วงนี้ฟองสบู่แตกสำหรับหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายในช่วงปี 1999-2000 ตอนนั้นอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 146% ของ GDP และก่อนจะเกิด Hamburger Crisis หรือวิกฤตการเงินช่วงปี 2008 นั้น ในช่วงท้ายปี 2007 อัตราส่วนนี้ก็อยู่ที่ 137% ของ GDP
และเมื่อต้นปีในเดือนมกราคม 2020 นั้น ตัวเลขนี้ก็บอกว่าอัตราส่วนอยู่ที่สูงถึง 153% ของ GDP เลยทีเดียว (อาจจะบังเอิญมีไวรัสมาเป็นตัวเร่ง หรือปู่แกเห็นมาหมดแล้วก็ไม่รู้เนาะ ตอนนี้ราคาตลาดเลยลงหนักหน่วงกันเลยทีเดียว)
ทีนี้เราก็มาสงสัยว่า โอเค ฝรั่งอเมริกาที่มีมูลค่าตลาดหุ้นที่สูงสุดของโลกนั้นอาจจะใช้อัตราส่วนนี้เป็นตัวบ่งบอกได้ ไหนเราลองมาทำตัวเลขดูบ้างของตลาดหุ้นไทยเรา พอนั่งค้นคว้าหาตัวเลขก็พอจะได้มาประมาณกราฟข้างล่างนี้
เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขของอเมริกา จึงใช้ข้อมูลช่วงเดียวกันคือเริ่มที่ 1999-2019 และใช้ตัวเลขข้อมูลจากเดือนธันวาของแต่ละปีสำหรับมูลค่าตลาด ในภาพรวมจะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดของตลาดหุ้นไทยเราเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศเราเองแล้วในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาจะมีอัตราส่วนสูงเกิน 100% อยู่แค่สามปีคือในปี 2014, 2016 และ 2017 ช่วงหลังนี่เอง ซึ่งค่อนข้างจะตรงข้ามกับฝั่งอเมริกาที่อัตราส่วนส่วนใหญ่จะเกิน 100% ทั้งนั้น
อาจะเป็นได้ว่าประเทศเรามีหุ้นอยู่ในตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP ภาษาบ้านๆหน่อยก็คือมีบริษัทที่ทำรายได้เยอะสำหรับในประเทศ แต่แปลงร่างเป็นบริษัทมหาชนเพียงแค่ 700 กว่าบริษัทเท่านั้น แต่อคิดอีกมุมบริษัทเพียงแค่หลักร้อยนี่มีมูลค่าตลาดเทียบแล้วพอๆกับ GDP ของทั้งประเทศเลยเชียวหรือและหากในอนาคตมีบริษัทจากไทยออกไปจดทะเบียนในตลาดเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์มากขึ้น อย่างที่เคยมีตัวอย่างกันมาแล้ว คำถามคือตัวเลขอัตราส่วนนี้จะใช้ได้หรือเป็นจริงได้แค่ไหน
อย่างไรก็ดี พักคำถามที่ไม่รู้คำตอบไว้ก่อน หากเราดูเทียบกับอดีตมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าอัตราส่วนนี้สูงเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ และในปี 1999-2000 ที่เกิดฟองสบู่ Dot Com แตก อัตราส่วนของเราเองก็ร่วงไปอยู่ที่ 25% ในปี 2000 และ Hamburger Crisis ปี 2008 อัตราส่วนของเราก็ร่วงไปอยู่ที่ 37% เท่านั้น
และเมื่อสิ้นปี 2019 นั้นอัตราส่วน market cap-to-GDP เราก็ขึ้นไปอยู่ที่ 99% แล้ว มองในแง่ดีก็คือตลาดหุ้นไทยเรายังเติบโตได้อีกเยอะ เพราะพึ่งจะอยู่แถวๆ 100% เอง
มองอีกแง่นึงในภาวะตลาดหุ้นร่วงหนักๆแบบนี้ หากย้อนไปดูปี 2008 ที่อัตราส่วนอยู่ที่ 37% เองนั้น ก็อาจคิดได้ว่า ตลาดหุ้นเรายังสามารถร่วงได้อีกเยอะเลยทีเดียว
ไม่รู้จะคิดไปในทางไหนดีแบบนี้???
อ้างอิง:
https://www.ccn.com/buffett-indicator-warns-stocks-doomed-worse-crash-than-2008/
https://www.set.or.th/en/market/market_statistics.html
https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=409&language=eng
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.