แม้หุ้นเทคโนโลยีที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ทุกวันนี้นั้นทำให้หวนนึกถึงยุคดอทคอมช่วงปี 90 แต่ความมีประสิทธิภาพนั้นดูแตกต่างกันอย่างมาก
ในช่วงแห่งเวลายากลำบากนั้น คนเราก็มักจะมองหาความสะดวกสบายที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าโควิด19 จะทำให้หลายๆอย่างนั้นกลับหัวกลับหางหรือพลิกคว่ำก็ตาม แต่ราคาหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นก็พิสูจน์ให้เห็นอย่างน่าประทับใจจนดูเหมือนว่าไม่มีกระทบกระเทือนและสะทกสะท้านอะไรเลย
NASDAQ ดัชนีหุ้นที่เน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีนั้นกระโดดขึ้นไปถึง 25% ตั้งแต่ต้นปี 2020 และหากเทียบย้อนกลับไปกับ 10 ปีที่แล้วนั้นก็จะพบว่าดัชนีนี้ปรับตัวขึ้นมาสูงถึง 400% เลยทีเดียว หากมันไม่ใช่เพราะมีหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Microsoft แล้ว ดัชนี S&P500 ก็จะตกลงมากไปกว่านี้เลยทีเดียวในปีนี้
นานมาแล้วตั้งแต่ช่วงรุ่งเรืองในทศวรรษปี 1990s ที่บริษัทหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นมีการซื้อขายที่ฮึกเหิมเว่อร์วังขนาดนี้ สำหรับคนที่ชอบเล่นหุ้นแล้วการเปรียบเทียบระหว่างสองยุคนี้ก็ควรจะเริ่มซีเรียสสักหน่อย หลังจากช่วงขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมปี 2000 แล้ว NASDAQ ก็ร่วงไม่เป็นท่าและสูญเสียมูลค่าตลาดไปถึง 73% แต่ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจในสองยุคนี้น่าจะทำให้กระวนกระวายใจและอยู่ไม่สงบมากกว่าความคล้ายคลึงของตลาดที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้
ความรุ่งเรืองคึกคะนองในสองยุคนี้นั้นอาจจะมีลักษณะที่เหมือนๆกันบางอย่าง ที่มากกว่าการพุ่งขึ้นของราคาหุ้น ทั้งสองยุคนั้นมีเงินอัดฉีด (inflow) เข้าไปในตลาดอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 นั้น เหล่าโบรเกอร์ต่างๆนั้นพยายามดึงดูดนักเทรดมือสมัครเล่นที่มองหาการทำกำไรที่ดูเหมือนว่าจะมีแต่พุ่งขึ้นไปในทิศทางเดียวเข้าไปในตลาดจากแพลตฟอร์มที่เกิดใหม่ในสมัยนั้น
วันนี้กองทัพของนักเทรดหุ้นแบบเล่นสั้นๆมีการเทรดทั้งหุ้นและอนุพันธ์บนแพลตฟอร์มใหม่ๆอย่างกะโรบินฮู้ด ในช่วงปี 1990 นั้นตลาดกระทิงที่บ้าคลั่งอาจจะดูสมเหตุสมผลจากจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจยุคใหม่ทำให้ราคาหุ้นพุ่งพรวดขึ้นจากการมีคอมพิวเตอร์ที่มีพลังคำนวณสูงขึ้นมาก มีซอฟท์แวร์หรูหราและก็มีการเกิดขึ้นมาของอินเตอร์เน็ต
วันนี้คนที่มองโลกสวยมองบวกก็บอกว่าทุกๆอย่างมีโอกาสใหม่ไปหมดทั้งการใช้พลังการคำนวณบนคลาวด์แทนคอมพิวเตอร์เป็นตัวๆ (cloud computing) มีปัญญาประดิษฐ์โผล่มา (artificial intelligence) มีรถยนต์ใช้ไฟฟ้าโผล่มา (electric vehicle) และก็มีบล็อคเชนโผล่มาอีก (blockchain)
หากมองผลงานทางเศรษฐกิจอย่างผิวเผินแล้วก็อาจจะดูว่ามันก็คล้ายคลึงกันด้วย ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นั้น อัตราการว่างงาน (unemployment) นั้นลดลงเหลือเพียงแค่ 4% และค่าจ้าง (wage) ก็พุ่งตัวสูงขึ้น ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด อัตราการว่างงานของอเมริกาก็ยืนอยู่ที่จุดต่ำสุดในช่วงครึ่งศตวรรษและมีอัตราการเติบโตของค่าจ้างเลยทีเดียว หลังจากทศวรรษที่หดหู่แล้ว มันก็พุ่งตัวสูงขึ้นในความเร็วที่เร็วที่สุดตั้งแต่ปี 2008 มาเลยทีเดียว จากตัวเลขตีพิมพ์โดยสำนักสำมะโนประชากรเมื่อวันที่ 15 กันยายนแล้ว ค่ากลางของรายได้ครัวเรือนนั้นเติบโตอย่างดีเลยที่ 6.8% ในปี 2019
แต่ทว่า หากพิจารณากันให้ลึกลงไปแล้ว สองฉากนี้ก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง ในช่วงทศวรรษ 1990 นั้น นักเศรษฐศาสตร์นั้นไล่ล่าหาการใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพ (productivity) ที่เทคโนโลยีใหม่ๆจะส่งผลกระทบ โรเบิร์ต โซโลว (Robert Solow) นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลนั้นก็เคยหล่นคำพูดไว้ว่า “คุณสามารถพบเห็นคอมพิวเตอร์โผล่ไปในทุกๆที่แต่จะไม่สามารถเห็นได้ในสถิติเชิงประสิทธิภาพ” และในช่วงกลางทศวรรษมันก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ผลผลิตต่อแรงงาน (output per labour) ในอเมริกานั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ต่อปีในช่วงปี 1998-2000 เป็นความสามารถที่เศรษฐกิจไม่เคยทำได้เลยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970
การเจริญเติบโตทางด้านประสิทธิภาพที่วัดด้วยการพิจารณาว่ามีการใช้ทุนกับแรงงานเข้าไปในการผลิตจำนวนเท่าไหร่ (total factor productivity) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมในการใช้วัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นเพิ่มขึ้น 2% ต่อปีจากปี 1995 ถึงปี 2004 ข้อมูลจากโรเบิร์ต กอร์ดอน แห่งมหาวิทยาลัย นอร์ธเวสเทิรน์ นั้นถือว่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง 0.5% ในช่วงปี 1973 ถึง 1995 และเกือบจะเท่ากับอัตราการเจริญเติบโตสูงๆที่ทำได้ที่มีการเจริญโตอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1947 ถึง 1973 เลยทีเดียว
ในทางตรงกันข้ามนั้น ความมีประสิทธิภาพในช่วงปี 2010 นั้นดูง่อยๆ ความมีประสิทธิภาพของแรงงานต่อปีนั้นไม่เพิ่มขึ้นเกิน 2% เลยตั้งแต่ปี 2010 จากข้อมูลที่รวบรวมโดย จอห์น เฟอร์นอล จากธนาคารกลางแห่งรัฐซานฟรานซิสโกนั้นดูหดหู่ที่สุดที่เคยมีมาเลย การเจริญเติบโตทางด้านประสิทธิภาพที่วัดด้วยการพิจารณาว่ามีการใช้ทุนกับแรงงานเข้าไปในการผลิตจำนวนเท่าไหร่นั้นมีการเติบโตเพียงแค่เฉลี่ย 0.3% ต่อปีเท่านั้นจากปี 2004 ถึง 2019 และยิ่งถ้าดูช่วงทศวรรษ 2010 แล้ว ค่าเฉลี่ยจะเหลือเพียงแค่ 0.1% ต่อปีเท่านั้น
การเจริญเติบโตของประสิทธิภาพของแรงงานในช่วงทศวรรษ 1990 อย่างแข็งแกร่งนั้นส่งผลให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปเบียดเบียนกำไรของบริษัท แม้ว่าในช่วงดอทคอมนั้นมักจะเป็นที่พูดถึงกันในแง่ที่ว่ามีการประเมินค่าบริษัทกันสูงลิ่วจากบริษัท upstarts ทั้งหลายแหล่ที่ไม่รู้ว่าจะมีกำไรเอาวันไหนและไม่มีเส้นทางที่มองเห็นได้เลย กำไรหลังจากหักภาษาในช่วงทศวรรษนั้นเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ของ GDP ในปี 1990 เป็น 6.7% ในปี 1997 และก่อนจบทศวรรษด้วย 5.6% แต่กำไรบริษัทนั้นจริงๆแล้วลดลงเมื่อเทียบกับ GDP ในช่วงทศวรรษ 2010 แม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงกว่าในช่วง 1990 คือจาก 10.4% ในปี 2010 เหลือ 9.0% ในปี 2019 ก็ตาม
และที่อยากจะเม้าท์ต่อมากกว่านั้นก็คือโอกาสทำกำไรของบริษัทจากสองยุคก็แตกต่างกันด้วย การลงทุนในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟ์ทแวร์ และการค้นคว้าและวิจัยนั้นพุ่งพรวดในช่วงทศวรรษ 1990 ประมาณ 1.5 จุดของ GDP แต่ในช่วง 2010 นั้น แม้ว่าจะมีระดับของกำไรที่สูงกว่ามาก แต่การลงทุนประเภทเดียวกันนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 0.7 จุดของ GDP เท่านั้น
ไอ่ความเจริญงอกงามที่ทำให้ราคาหุ้นพุ่งตัวสูงขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 นั้น ถ้าในบางกรณีมันอาจจะดูไม่มีเหตุและผลอะไรแล้ว แต่มันก็เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีที่เป็นกำลังผลักดัน การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพนั้นก็มาจากความก้าวหน้าในการสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมา และเมื่อราคามันถูกลงประกอบกับประสิทธิภาพที่พุ่งขึ้น บริษัทอื่นๆก็เริ่มที่จะลงทุนในอุปกรณ์ใหม่ๆเช่นกัน ประสิทธิภาพที่ได้จึงแผ่กระจายไปทั่วทั้งเศรษฐกิจ ช่วยให้บริษัทต่างๆมีการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสำคัญๆ สิ่งเหล่านี้ก็ไปต่ออยู่หลายปีหลังจากที่เกิดดอทคอมระเบิดแล้วก็ตาม แม้ว่าบริษัทเด่นๆช่วงดอทคอมระเบิดจะหายไป โครงสร้างดิจิตอลพื้นฐานที่สร้างไว้ช่วงรุ่งเรืองก็ยังคงอยู่ รวมไปถึงบริษัทจำนวนหนึ่งที่เข้าครอบครองธุรกิจต่างๆในช่วงนั้น ในเดือนมีนาคมปี 2001 The Economist ก็ได้ประเมินความเจริญรุ่งเรืองของ Amazon ไว้อย่างเคร่งขรึม บริษัทที่ซึ่งสูญเสียมูลค่าตลาดไปถึง 90% ในช่วงดอทคอมระเบิด โดยประเมินไว้ว่า “แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นอาจจะรอดมาได้ แต่พวกเขาก็ไม่น่าจะสามารถกลับไปสู่ธุรกิจแบบเดิมๆในช่วงก่อนเกิดการระเบิดได้” (ใครที่ฉลาดพอจะถือหุ้น Amazon ในตอนนั้นหลังจากเกิดการระเบิดแล้วก็จะพบว่าตอนนี้หุ้นราคา 3,100 เหรียญ เพิ่มขึ้นมาจากเศษเงินที่ราคาต่ำกว่า 10 เหรียญในช่วงปี 2001) – ใช่ พิมไม่ผิดครับ จาก 10 เหรียญ เป็น 3,100 เหรียญ ก็แค่ 30,900% เองเนาะ…
เด็กยุค 90s เท่านั้นที่จะจำเรื่องราวความมีประสิทธิภาพได้
กลุ่มคนบางคนที่ดูมีความสามารถสูงที่จะประสพความสำเร็จทั้งทางด้านวิชาการและทางธุรกิจนั้นอาจจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นการลงทุนที่ดูจะคุ้มค่า การมองบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจนั้นอาจจะต้องเพิ่มศรัทธาเข้าไปหน่อยๆ มันต้องมีสิ่งที่คาดหวังได้บ้าง นักเศรษฐศาสตร์บางคนนั้นบอกว่ามันเป็นการยากที่จะวัดการลงทุนที่ “มองไม่เห็น” เช่น เวลาที่ใช้ไป หรือการปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนการทำธุรกิจ สิ่งเหล่านี้มันจะใช้พลังความพยายามของบริษัทเพิ่มมากกขึ้น ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ตัวเลขการลงทุนและโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นก็ดูเหมือนว่าเป็นการกดราคาอนาคตมากเกินไป
ทั้งผลผลิตต่อชั่วโมง และประสิทธิภาพจากการใช้ทุนและแรงงานนั้นเร่งตัวสูงขึ้นในปี 2019 แม้ว่ามันก็ยังต่ำกว่าช่วงปี 1990 อยู่พอสมควร การเพิ่มขึ้นนี้อาจจะบอกเป็นลางๆก็ได้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ก็เป็นได้ และยิ่งมีโควิด 19 มาค่อยจำกัดกิจกรรมทางธุรกิจนี้ว่า ซึ่งในอีกแง่นึงก็อาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
ความเป็นไปได้เหล่านี้นั้นอาจจะเป็นตัวส่งผลให้เกิดการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมมาก็ได้ แต่ตอนนี้การประเมินค่าของหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นก็ยังคงห่างไกลความจริงมากกว่าช่วงปี 1990 มาก โดยมองไปทางว่าบริษัทจะทำอะไรได้มากเกินไปเกินกว่าที่บริษัททำอะไรได้จริงๆในตอนนี้ ดังนั้นก็ลงทุนให้สอดคล้องกันครับ
อ้างอิง:
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.