ปี 2018 นี้ก็ผ่านมาครึ่งปีแล้ว ตลาดหุ้นหลายๆแห่งทั่วโลกก็มีความผันผวนกันค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่ก็จะปรับตัวลงตามๆกันจากปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น สงครามการค้าระหว่างอเมริกาและจีนที่ดูแล้วก็จะยังมีต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด อเมริกาประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนเป็นมูลค่าอีก 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมไปถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
ตลาดหุ้นไทยเราที่เป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลายๆแห่งก็หนีไม่พ้นและล่าสุดเมื่อวานนี้ก็ปรับตัวลงเมื่อเทียบกับต้นปี(year to date) มาอยู่ที่ประมาณ -6%กว่าๆและเมื่อตลาดปรับตัวลงก็ทำให้เกิดความสงสัยว่าแล้วแบบนี้เราควรจะมองหาโอกาสและกระจายการลงทุนออกไปนอกประเทศไทยเราบ้างหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยเพียงตลาดเดียว ภาษาฝรั่งที่เรียกว่า“Diversification” หรือการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง
การกระจายความเสี่ยงก็คือ การบริหารความเสี่ยง (risk management) ที่เลือกลงทุนในสินทรัพย์หลายๆประเภทและในหลายๆแห่ง โดยที่มีจุดประสงค์เพื่อที่ว่าจากการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้ผลตอบแทนของพอร์ทการลงทุน (portfolio return) ของเรานั้นมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ มีความเสี่ยงน้อยลงจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว หรือจากแห่งเดียว
การลงทุนในสินทรัพย์หลายๆประเภท ก็เช่น หุ้น พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือแม้แต่สินทรัพย์ที่จับต้องได้อย่าง บ้าน ที่ดิน หรือคอนโด ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็เป็นไปได้ที่สินทรัพย์เราจะมีโอกาสเพิ่มมูลค่ามากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดีตลาดต่างประเทศก็เป็นโอกาสนึงที่นักลงทุนอาจจะมองหาเพิ่มเติมนอกจากตลาดในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาตลาดที่อาจจะไม่ดีในประเทศและเพิ่มโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะมีข้อดีต่างๆดังนี้
ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดเล็ก(สิ้นปี 2017 ที่ 560,000 ล้านเหรียญจาก บริษัทจดทะเบียน 688 แห่ง vs ทั้งโลกรวมกันมากกว่า 69 ล้านล้านเหรียญ)
เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายของการควบคุมการไหลของเงินทุนอย่างเสรี (Free Capital Flow) ดังนั้นการไหลเข้าและไหลออกจากเงินทุนจากต่างประเทศก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างที่เราเห็นเมื่อหกเดือนที่ผ่านมาว่าเงินทุนได้ไหลออกจากไทยไปเป็นแสนล้านบาทแล้ว และเนื่องจากตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่เล็กในด้านขนาด ดังนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงจากการไหลออกของเงินทุน (หรือแม้แต่ช่วงเงินไหลเข้าก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นเร็วและสูงเกินกว่าพื้นฐานความเป็นจริง) ก็จะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดให้มีมากขึ้น ดังนั้นการลงทุนในต่างประเทศก็จะลดการผันผวนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพียงตลาดเดียว
การหลีกเลี่ยงความลำเอียง(bias) ต่อตลาดบ้านเราเอง
หลายๆครั้งมันเป็นเรื่องง่ายที่เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเราได้ดีกว่าที่อื่นเนื่องจากความคุ้นเคยคุ้นชิน เช่น เราอาจจะคุ้นเคยกับการซื้อของสดจากตลาดข้างบ้านเรามากกว่าตลาดที่อยู่ถนนถัดไป หรือเราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจตลาดหุ้นบ้านเราได้ดีกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตลาดที่อยู่ถนนถัดไปหรือการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงนั้นนั้นก็อาจจะเป็นการลงทุนที่ใกล้เคียงกันหรืออาจจะดีกว่าก็เป็นได้หากเราให้เวลาศึกษามันเช่นเดียวกับเราให้การศึกษาตลาดที่เราคุ้นเคย เราไม่ควรตัดสินใจลงทุนอะไรเพียงแค่ว่าเราคุ้นเคยกับมันแค่นั้น
ไม่ใช่ทุกๆตลาดจะเป็นขาขึ้นได้ตลอดไป
แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา SET Index จะดูเหมือนว่าเป็นขาขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะขึ้นได้ตลอดไป ช่วงต้นปี 2018 แม้ว่าจะขึ้นไปสูงสุดมื่อเดือนมกราคมที่มากกว่า 1,800 จุด แต่ก็ได้ลดลงมา 200 จุดแล้ว ดังนั้นในเมื่อตลาดก็ต้องมีขึ้นมีลง เราก็ควรจะมองหาโอกาสที่ใกล้เคียงกันหรือแม้แต่ดีกว่าในตลาดอื่นๆด้วยเช่นกัน
เราอาจจะกำลังพลาดการลงทุนอื่นๆในตลาดทั่วโลกอยู่ก็เป็นได้
ในเมื่อตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่เล็กมาก ดังนั้นแล้ว การโฟกัสอยู่แต่กับตลาดหุ้นของเราเองทำให้เราอาจสูญเสียโอกาสสำคัญสำหรับการลงทุนในที่อื่นๆอยู่ก็เป็นได้ จากข้อมูลหลายๆแห่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดหุ้นของไทยมีมูลค่าไม่ถึง 1% ของตลาดหุ้นทั่วโลก ดังนั้นแล้วการที่เราออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมก็เป็นโอกาสเสาะหาการลงทุนได้อีกมากมายเลยทีเดียว
ท้ายที่สุดแล้ว…
แม้ว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้นจะเป็นสิ่งที่จะช่วยขยายมุมมองการลงทุนของตัวเราเองให้มากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่ว่าใครก็อยากจะบินไปเปิดบัญชีการลงทุนกับประเทศไหนก็ทำได้ทันที ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุน (transaction cost) ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ค่าธรรมเนียม (fee) ในการจัดการ หรือ คอมมิชชั่น (commission fee) ในการซื้อขายหุ้น ภาษีของกำไร (capital gain tax) สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นต้นทุนที่จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่เราจะได้กลับมาทั้งนั้น
พูดแบบนี้บางท่านก็อาจจะงงว่า อ้าว! ตกลงควรจะทำอย่างไร หากท่านที่ไม่สามารถทำตามข้างต้นได้ ก็อาจจะลองมองหาการลงทุนในกองทุนรวม (mutual fund) เพิ่มเติมในประเทศที่เราสนใจก็ได้ ซึ่งแม้ว่ากองทุนรวมก็มีค่าบริหารจัดการ (management fees) แต่โอกาสที่เราจะแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากโอกาสที่มากมายทั่วโลกก็น่าจะสมน้ำสมเนื้อกับค่าบริหารจัดการที่กองทุนเรียกเก็บ อย่างไรก็ดีแม้ว่าเราอาจไม่ได้ลงทุนด้วยตัวเราเองตรงๆและเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม เราก็ต้องศึกษาเช่นกันว่า กองทุนรวมนั้นตรงกับสิ่งที่เราอยากจะลงทุนมั้ย ความเสี่ยงเรื่องนโยบายในด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไร ค่าบริหารจัดการกี่เปอร์เซ็นต์ ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เราเห็นด้วยมั้ย และเรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน นานมั้ย
เพราะสุดท้ายแล้ว การลงทุนไม่ว่าจะในอะไรก็ตาม ต้องให้ใกล้เคียงกับความเสี่ยงที่เรารับได้มากที่สุด อย่าไปสนใจกับคนรอบข้างที่อาจจะโชคดีรวยเร็วกว่าเราครับ ทุกคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ไม่งั้นนอกจากจะเสี่ยงในสิ่งที่ไม่สมควร เสียเงินไปแล้ว ก็คงจะนอนไม่หลับเสียสุขภาพกันไปอีกเปล่าๆนะครับ
อ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Stock_Exchange_of_Thailand
https://en.wikipedia.org/wiki/New_York_Stock_Exchange
http://www.visualcapitalist.com/all-of-the-worlds-stock-exchanges-by-size/
Blenlit
Hakwarmroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.