เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) หนึ่งในร้อยคนแรกของผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุนบริดจ์วอเตอร์ (Bridgewater) เป็นนักลงทุนที่ประสพความสำเร็จในด้านการบริหารกองทุนประเภท hedge fund ในระดับต้นๆของโลก
เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้แจกไฟล์(หนังสือ) PDF เรื่อง “A Template For Understanding Big Debt Crises By Ray Dalio” ซึ่งมีความยาวถึง 471 หน้าให้เราได้เรียนรู้กันว่าเขามีมุมมองและความเข้าใจถึงวิกฤตหนี้ใหญ่ๆอย่างไร ซึ่งเราคงจะไม่สามารถนำมาอธิบายกันตรงนี้ได้ทั้งหมด จึงขออนุญาตินำส่วนนึงในด้านมุมมองต่อเครดิต(credit) และหนี้(debt) ของเรย์ ดาลิโอ ผู้นี้ว่าเขาคิดอย่างไร
เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า เครดิต และ หนี้ พวกมันคืออะไร
เครดิตคือการให้อำนาจซื้อแก่ผู้ซื้อ ซึ่งอำนาจซื้อนี้ก็เปรียบเสมือนสัญญาว่าจะจ่ายคืนให้ทีหลัง ซึ่งการให้เครดิตนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งหากมีเครดิตกันน้อยไปในระบบก็จะไม่เกิดการพัฒนาที่เหมาะสมซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่หากมีหนี้มากขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ นั่นก็เป็นปัญหาเช่นกัน ดังนั้นแล้ว เครดิตและหนี้เป็นสิ่งดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเครดิตนั้นถูกนำไปใช้อย่างไร และมีการใช้หนี้คืนกันแบบไหน
เขาได้เรียนรู้จากประสพการณ์และการค้นคว้าว่า การที่มีการเจริญเติบโตของเครดิตและหนี้ที่น้อยเกินไปนั้นก็สามารถสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจได้ไม่ดีหรือแย่ลงพอๆกับการมีเครดิตและหนี้ที่มากเกินไปเช่นกัน เนื่องจากมีต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ประมาณว่าถ้าเราไม่นำเงินก้อนนี้ไปซื้อรถ เราก็สามารถนำเงินก้อนนี้ไปทำอย่างอื่นแทนได้
โดยทั่วไปแล้ว เนื่องจากว่าเครดิตนั้นให้ทั้งอำนาจซื้อและเพิ่มหนี้ การมีเครดิตที่มากขึ้นจะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ยืมมานั้นถูกนำไปใช้อย่างมีผลิตผลเพียงพอที่จะสร้างรายได้เพื่อนำมาใช้หนี้ในภายหลังได้หรือไม่
ในการประเมินภาพรวมของสังคมนั้น เราควรพิจารณาถึงเป้าหมายรองของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่าๆกับเป้าหมายหลัก ตัวอย่างเช่น เงินหรือเครดิตสำหรับต้นทุนที่สำคัญเพื่อการศึกษาของลูกของเรานั้นมีไม่เพียงพอ (ซึ่งหากมีเพียงพอก็จะทำให้เด็กมีประสิทธิภาพ ลดอาชญากรรม และลดต้นทุนการจองจำ เป็นต้น) หรือการทดแทนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เริ่มหมดสภาพ ซึ่งนักอนุรักษ์นิยมนั้นยืนยันว่าการยืมเงินเพื่อทำสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสังคม ซึ่งไม่เป็นความจริง
เรย์แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าการที่เครดิตและหนี้ที่สร้างผลประโยชน์ที่เพียงพอต่อเศรษฐกิจและสามารถจ่ายหนี้คืนได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะยากที่จะมองเห็น ถ้ามาตราฐานการปล่อยกู้นั้นเข้มงวดถึงขึ้นที่ว่าเงินที่ปล่อยกู้ไปนั้นต้องได้คืนเกือบจะ 100% มันก็คงจะมีการพัฒนาเพียงน้อยนิด แต่ถ้ามาตราฐานนั้นหลวมเกินไป มันอาจจะทำให้มีการพัฒนามากขึ้นแต่ก็อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้ขั้นร้ายแรงตามมาจนกลบผลประโยชน์ที่จะได้ไปเลยก็ได้
เรามาลองดูคำถามเกี่ยวกับหนี้และวงจรหนี้กัน (debt cycles)
ต้นทุนของการมีหนี้เสียนั้นสูงแค่ไหนเมื่อเทียบกับการที่ไม่มีการใช้จ่ายจากหนี้ส่วนนั้นเลย?
สมมุติว่าคุณเป็นคนวางนโยบายและเลือกที่จะสร้างรถไฟใต้ดินมูลค่าหนึ่งพันล้านเหรียญ คุณกู้เงินมาลงทุนสร้างโดยหวังว่าจะจ่ายหนี้คืนจากรายได้ แต่เศรษฐกิจนั้นตกต่ำมากเกินกว่าที่คุณได้คาดไว้และจะมีรายได้เข้ามาเพียงครึ่งเดียว หนี้เสียจะมีถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว คำถามคือว่าคุณไม่ควรสร้างรถไฟใต้ดินนั้นใช่หรือไม่?
เราลองเรียบเรียงคำพูดใหม่ คำถามคือระบบรถไฟใต้ดินนั้นมีมูลค่าห้าร้อยล้านเหรียญมากเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่ (เนื่องจากรายได้เข้ามาเพียงครึ่งเดียวจากพันล้านเหรียญ เท่ากับว่าต้นทุนนั้นสูงขึ้นอีกห้าร้อยล้านเหรียญ) หรือหากเทียบเป็นรายปีก็คือ 2% ต่อปี หากสมมุติให้รถไฟใต้ดินนั้นมีอายุ 25 ปี หากมองได้แบบนี้ คุณจะเห็นได้ว่าการมีรถไฟใต้ดินนั้นแม้ว่าจะมีต้นทุนที่แพงขึ้นอีกห้าร้อยล้านเหรียญ ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มี
ความเสี่ยงจากหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจและความสามารถของผู้กำหนดนโยบายว่าจะสามารถกระจายหนี้เสียที่เกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน ซึ่งจากประสพการณ์และการศึกษาของเรย์นั้นได้บอกว่า ผู้กำหนดนโยบายจะทำได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ 1. หนี้นั้นอยู่ในรูปของสกุลเงินที่พวกเขาควบคุมหรือไม่ 2. พวกเขามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีต่อกันหรือไม่
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตหนี้เสียได้ใช่มั้ย
ในประวัติศาสตร์นั้นมีเพียงประเทศที่มีวินัยเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่หลีกเลี่ยงวิกฤตหนี้ได้ เนื่องจากว่าการปล่อยกู้ไม่เคยมีการทำแบบไร้ที่ติ แต่มักจะปล่อยกันแบบไม่ดีนักหรือหลวมกันเกินไปเนื่องจากว่าพวกเขาอยากมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และมันง่ายกว่าที่จะปล่อยให้มีการกู้ยืมกันแบบหลวมๆมากกว่าการเข้มงวดในการปล่อยเครดิต (เช่นการมีการรับประกัน มีการผ่อนผันทางนโยบายการเงิน) นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราเห็นวงจรหนี้ที่ใหญ่ๆและรุนแรง
เราสามารถจัดการกับวิกฤตหนี้ส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่รุนแรงได้หรือไม่
ปกติแล้วจะมีอยู่ 4 วิธีที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถลดระดับของหนี้ให้ต่ำลงได้เมื่อเทียบกับระดับรายได้และกระแสเงินสดที่จำเป็นเพื่อรองรับหนี้เหล่านั้น
- ความเข้มงวดทางการเงิน (ใช้จ่ายน้อยลง)
- การปรับโครงสร้างหนี้
- การพิมพ์เงินและใช้จ่ายเงินในระบบ (หรือการให้การรับประกันทางการเงิน) ของธนาคารกลาง
- การโอนเงินหรือเครดิตจากคนที่มีมากเกินจำเป็นไปยังคนที่มีน้อยกว่า
ในแต่ละวิธีก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ต่างกัน บางมาตราการอาจจะกระตุ้นเงินเฟ้อและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (เช่นการพิมพ์เงิน) แต่มาตราการอื่นอาจจะลดเงินเฟ้อลดหนี้ (เช่น การใช้จ่ายน้อยลงและการปรับโครงสร้างหนี้)
ปัจจัยหลักในการลดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ให้อยู่ในระดับที่มีเงินเฟ้อและอัตราการเจริญเติบโตที่ยอมรับได้นั้นอยู่ที่ความสมดุลระหว่างมาตราการต่างๆ ในสถานการณ์ที่ดี อัตราส่วนหนี้เสียต่อรายได้จะลดลงในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและราคาสินทรัพย์ก็จะเริ่มดีขึ้น ค่อยๆนำพาอัตราการเจริญเติบโตทางรายได้กลับไปสู่ระดับที่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ย
มาตราการเหล่านี้มักจะส่งผลต่อคนที่ได้ประโยชน์และคนที่ได้รับผลกระทบและขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วยว่านานแค่ไหน ผู้กำหนดนโยบายนั้นอยู่ในสถานะที่ลำบากที่ต้องตัดสินจากทางเลือกเหล่านั้น ทำให้พวกเขาไม่ค่อยมีใครชื่นชมนักแม้ว่าเขาจะจัดการกับวิกฤตหนี้ได้ดีเพียงใดก็ตาม
นี่เป็นเพียงแค่ส่วนนึงเท่านั้นจากหนังสือ A Template For Understanding Big Debt Crises By Ray Dalio ท่านที่สนใจอย่างจริงจังและอยากเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นสามารถหาอ่านได้ฟรีที่ https://www.principles.com/big-debt-crises/
วันนี้เข้าสู่ช่วงหยุดยาวอีกแล้ว รถติดถล่มทลายเช่นเคย ท่านใดขับรถไปพักผ่อนยัง ตจว ก็ขอให้มีสติในการขับรถนะครับ เพื่อให้เรารอดกลับมาทำงานสร้างรายได้และลดหนี้กันได้อย่างมีความสุขกันต่อไปในวันอังคารนะครับ
อ้างอิง:
https://www.bloomberg.com/billionaires/profiles/raymond-t-dalio/
https://en.wikipedia.org/wiki/Ray_Dalio#cite_note-5
A Template For Understanding Big Debt Crises By Ray Dalio
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.