ในการวิเคราะห์มูลค่าของบริษัทนั้นในทางพื้นฐานแล้วเราควรจะศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและธุรกิจของบริษัทนั้นๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าธุรกิจนั้นๆสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทที่เราสนใจได้อย่างไร (หรือบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายๆกัน) และนั่นควรเป็นสิ่งแรกที่เราต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่พุ่งความสนใจตรงไปที่ราคาของหุ้นของบริษัทนั้นก่อนเลย สั้นๆก็คือบริษัทที่เราสนใจนั้นทำกำไรมาจากที่ไหน
ในหนังสือ Security Analysis 6th Edition ของเบนจามิน เกรแฮม ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณนี้ไว้ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำบางส่วนมาย่อยให้เราเรียนรู้ไปด้วยกันเช่นเคย ปัจจัยต่างๆในการวิเคราะห์เชิงปริมาณนั้นจะเกี่ยวข้องกับสถิติต่างๆของบริษัทซึ่งก็มักจะมาจาก งบขาดทุนกำไร (income account) และงบทรัพย์สินหนี้สิน (balance sheet) ซะเป็นส่วนใหญ่ ปลีกย่อยลงไปอีกก็จะเป็นพวกรายงานเกี่ยวกับ ราคา ต้นทุน โครงสร้างทุน กำไร เงินปันผล ทรัพย์สินหนี้สินของบริษัทต่างๆ
ในขณะที่ปัจจัยด้านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพนั้นก็จะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของธุรกิจ ตำแหน่งการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือภาคส่วนธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพหรือทางภูมิศาสตร์ ไล่ไปถึงลักษณะการปฏิบัติการและการดำเนินงานของบริษัท ลักษณะของทีมผู้บริหาร และก็มุมมองในอนาคตของบริษัท อุตสาหกรรม หรือภาพรวมของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งคำถามเหล่านี้มักจะไม่ได้อยู่ในรายงานประจำปีของบริษัท นักวิเคราะห์จะต้องมองหาคำตอบเหล่านี้เองจากแหล่งข้อมูลหลายๆแหล่งที่เชื่อถือได้
อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้ว ปัจจัยเชิงปริมาณก็ดูจะเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและลงลึกได้มากกว่าปัจจัยเชิงคุณภาพ เนื่องจากข้อมูลเชิงปริมาณนั้นมีปริมาณน้อยกว่า สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าและสามารถใช้เป็นข้อมูลที่ดูเหมาะสมและเชื่อถือได้มากกว่า ถึงแม้ว่าปัจจัยเชิงคุณภาพอย่างธรรมชาติของธุรกิจและโอกาสในอนาคตนั้นจะมีความสำคัญพอสมควร แต่มันก้อยากที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น หากเรามองไปที่ปัจจัยของธรรมขาติของธุรกิจ ธุรกิจที่ดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในช่วงเวลานั้นๆก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นสภาวะที่จะคงอยู่แบบนั้นตลอดไป และยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หรือแม้แต่หากจะวัดผลจากความสามารถของทีมผู้บริหารอย่างชัดเจนให้เป็นรูปธรรมก็ไม่สามารถที่จะทำได้ง่ายๆ
แนวโน้มกำไรในอดีตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปีก็ดูเหมือนว่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็อย่าลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมันคือข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เมื่อเราสามารถมองเห็นแนวโน้มในอดีตได้อย่างชัดเจน แต่เงื่อนไขและปัจจัยต่างๆก็อาจจะดำเนินมาถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงพอดีก็ได้ มุมมองอีกมุมอาจจะมองว่าค่าเฉลี่ยในอดีตก็อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตเช่นกัน ซึ่งมันก็อาจจะจริงแต่มันก็ไม่ได้ทำให้แนวโน้มกำไรนั้นมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์มากไปกว่าการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆในอดีต (หมายความว่าอย่าให้น้ำหนักแนวโน้มของกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากเกินไปกว่าตัวเลขที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตแต่ให้คิดว่ามันเป็นเพียงดัชนีอย่างคร่าวๆเท่านั้น)
เนื่องจากว่าเราไม่รู้ว่าแนวโน้มของกำไรนั้นมันจะไปหยุดที่ไหนหรือเมื่อไหร่ในอนาคต ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วมันก็จำเป็นที่นักวิเคราะห์ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของธุรกิจนั้นเช่นกัน ไม่ใช่เพื่อที่จะเป็นประเด็นหลักในการลงทุนแต่เพื่อเป็นข้อควรระวังในการวิเคราะห์เท่านั้น
ความมีเสถียรภาพของบริษัทก็เป็นปัจจัยเชิงคุณภาพที่สำคัญ ความมีเสถียรภาพก็คือสามารถที่จะทนต่อการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขันทางธุรกิจและให้ผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างจะเชื่อถือและใกล้เคียงกับในอดีตได้ หากในอดีตบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางการแข่งขันที่ดีสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจต่างๆและได้ผลการดำเนินงานที่เหมาะสมหรือดีกว่าสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตอนนั้น นั่นก็เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีกว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะแข่งขันได้ดีในอนาคต
ท้ายที่สุดแล้วการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อสรุปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องยืนบนพื้นฐานตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง แต่ตัวเลขเหล่านั้นก็ไม่ได้แปลว่าเพียงพอต่อการวิเคราะห์เนื่องจากว่ามันสามารถถูกลบล้างด้วยปัจจัยเชิงคุณภาพที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอย่างสิ้นเชิงก็ได้ ดังนั้นแล้วหากราคานั้นคิดพิจารณาแล้วสูงเกินไปจากพื้นฐานจากตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้วไปมากๆ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังที่จะใช้ปัจจัยเชิงคุณภาพในการวิเคราะห์มูลค่าของหุ้นหรือบริษัทนั้นๆในอนาคต
blenlit
hakwarmroo.com
1 Pingback