พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อคืออะไร? (What is Purchasing Power Parity?)

ณ ตอนนี้ ที่จีนและสหรัฐฯ ยังคงแลกหมัดกันเก็บภาษีซึ่งกันและกันอย่างหนักหน่วงและไม่รู้ว่าจะจบลงตรงไหน ค่าเงินหยวนก็อ่อนค่าลงจนจะแตะระดับ 7.20 หยวน ต่อ 1 ดอลล่าห์สหรัฐอยู่แล้วตามกราฟด้านล่าง (เงินอ่อนค่า จะส่งผลดีต่อการส่งออก)

อย่างไรก็ดี เราเคยคุยกันเรื่องผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ก็จะมีข้อสงสัยกันว่า แล้วไอ่ค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยนที่มันเหมาะสมเนี่ย มันควรจะอยู่ที่เท่าไหร่กันหละสำหรับแต่ละคู่สกุลเงินอ่ะ คำถามนี้ก็ไม่ง่ายที่จะตอบเหมือนกัน เพราะเงินจะอ่อนจะแข็งมันก็คือการเปรียบเทียบระหว่างสกุลเงินสองสกุล เช่น บาทมีค่าอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ บาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญออสเตรเลีย คืออัตราแลกเปลี่ยนจะต้องมาเป็นคู่เสมอๆ

ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ Purchasing Power Parity นี่ก็เป็นทฤษฏีที่ใช้วัดราคาของตระกร้าของสินค้าหรือ basket of goods (ให้นึกถึงเวลาเราไปซุปเปอร์มาเก็ตและหยิบของใช้เดิมๆใส่ตระกร้า) เพื่อวัดว่าแต่ละประเทศหากเทียบกันแล้วมาตราฐานการครองชีพในแต่ละประเทศนั้นจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ที่จะซื้อตระกร้าสำหรับสินค้าเหล่านี้ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาที่สำรวจ

ตัวอย่างเช่น หากราคาของหม้อข้าวยี่ห้อเดียวกันขนาดเดียวกันในกรุงเทพมีราคา 3,700 บาท และหม้อข้าวรุ่นเดียวกันนี้ขายในลอนดอนราคา 100 ปอนด์ ดังนั้นตามทฤษฎีแล้วอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินปอนด์ควรจะเป็น 37 บาท ต่อ 1 ปอนด์ (แต่ราคาตลาดจริงๆอาจจะสูงกว่านี้เนื่องจากว่าจะมีภาษีและค่าขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง)

ทีนี้ก็เลยจะมีคนที่สงสัยและลงมือหาคำตอบมาให้เราแล้วในระดับนึง ก็คือการพยายามวัดว่าด้วยเงินจำนวนที่เท่ากันในแต่ละประเทศ ว่าเงินของแต่ละสกุลจะสามารถซื้อสินค้าที่เหมือนๆกันในประเทศอื่นๆโดยคิดเป็นสกุลเงินของตัวเองแล้วราคาเท่าไหร่ จนนิตยสารชื่อดังอย่าง The Economist ก็ได้นำเสนอ Big Mac Index หรือดัชนีบิ๊กแมค ขึ้นมาเมื่อปี 1986 เพื่อพยายามเปรียบเทียบค่าเงินของแต่ละประเทศว่าประเทศนั้นๆมีค่าเงินที่แข็งไปหรืออ่อนไปเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์สหรัฐฯ

ในการสำรวจนั้นทาง The Economist ได้ใช้ราคา Big Mac ในแต่ละประเทศมาเปรียบกัน (ใช่ครับ บิ๊กแมค ของแมคโดนัลด์ที่หลายๆคนน่าจะเคยกินหรือเคยเห็นนี่แหละ) ที่ต้องใช้ บิ๊กแมค ก็เพราะว่าแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์นี้มันมีอยู่มากมายหลายสาขาทั่วโลกหนะสิ และเป็นอาหารที่เป็นสูตรเดียวกัน และก็น่าจะเปรียบเทียบกันได้ง่ายที่สุดละ ในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่เหมือนหรือใกล้เคียงกันที่สุดแม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกต้องเพอเฟคเต็มร้อยก็ตาม แต่ก็เป็นไอเดียได้ว่าค่าเงินประเทศไหนน่าจะ “แข็งไป” หรือ “อ่อนไป” เมื่อเทียบกับดอลล่าสหรัฐฯ

Source: The Economist Big Mac Index

พูดเยอะอาจจะงง เราก็ลองเข้าไปเล่นดูของดัชนีบิ๊กแมคตัวนี้กัน (ลิงก์จาก reference) เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราเลือก US Dollar เป็นฐานแล้ว ราคาบิ๊กแมคในไทยเราจะอยู่ที่ 119 บาท และราคา 5.74 เหรียญสหรัฐฯในอเมริกา ดังนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะเป็นนั้นคือ 20.73 บาท ต่อ 1 ดอลล่าห์สหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.83 บาท ต่อ 1 ดอลล่าห์สหรัฐฯ ซึ่งความแตกต่างระหว่าง 20.73 และ 30.83 นี้ก็แสดงให้เห็นว่าเงินบาทเรามีค่าอ่อนเกินไปถึง 32.70% เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์สหรัฐฯนั่นเอง

เราลองมาดูอันดับ GDP เรียงตามประเทศกันมั่งว่าจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทยเราเมื่อคำนวณแบบ Purchasing Power Parity นี้แล้วเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ของโลกกัน จากการจัดอันดับโดยธนาคารโลกหรือ Wolrd Bank นั้นปรากฏว่าเราอยู่อันดับ 19 ของโลก! ประเทศเราทำเงินได้เยอะและรวยมาก!

แต่ทำไมยังมีการแจกบัตรคนจนให้แก่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน จำนวน 14.6 ล้านราย เลยเนาะ เกิน 20% ของประชากรไทยเลยทีเดียวอ่ะ น่าสงสัยว่าเงินส่วนใหญ่ไปกองอยู่ที่ใครกันเนาะ

อ้างอิง:

https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-26/china-sets-yuan-fixing-stronger-than-expected-amid-trade-tension

https://en.wikipedia.org/wiki/Purchasing_power_parity

https://www.investopedia.com/updates/purchasing-power-parity-ppp/

https://www.investopedia.com/ask/answers/09/big-mac-index.asp

https://www.economist.com/news/2019/07/10/the-big-mac-index

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(PPP)

https://money.kapook.com/view213607.html

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply