เมื่อวันพุธที่ผ่านมาค่าเงินรูเปีย (rupiah) ของอินโดนีเซีย ตกลงไปอยู่ที่ 14,933 ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนสุดในรอบ 20 ปี ทำให้เกิดความสงสัยว่าจะลามมาถึงประเทศไทยมั้ย
จากเว็บไซท์บางกอกโพสต์มีรายงานว่าประเทศไทยเรายังมีฐานะทางการเงินที่ดี ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) เกินดุลอยู่ถึง 7 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน (เทียบกับ 1.62 ล้านล้านบาทของปี 2017 ทั้งปี)
หนี้สาธารณะ (Public Debt) อยู่ที่แค่ 40.9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products: GDP) เท่านั้น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Reserves) อยู่ที่ประมาณ 6.72 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งน่าจะยังสามารถรับมือกับผลกระทบจากค่าเงินของอินโดนีเซียที่อ่อนตัวลงได้
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงหนี้สาธารณะว่ามีผลกระทบต่อเราอย่างไร และ การที่หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ 40.9% ของ GDP นี่มันดีหรือไม่อย่างไร
หากเราย้อนดูอดีตหนี้สาธารณะของประเทศไทยเราในอดีตจากกราฟด้านบนก็จะถือได้ว่าอยู่ในช่วงที่ต่ำเมื่อเทียบกับในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ถ้ามันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในอนาคตมันจะแปลว่าอะไรหละ
ปกติแล้วหากหนี้สาธารณะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆก็มีโอกาสที่ประเทศจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ทำให้ธนาคารแห่งชาติอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตร (bond) ที่ออกใหม่เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ทำให้รายได้จากภาษีลดลง เนื่องจากต้องนำรายได้จากการเก็บภาษีไปจ่ายดอกเบี้ยแทน ในระยะยาวก็จะส่งผลให้มาตราฐานการครองชีพของคนในประเทศลดลงและการกู้ยืมอาจจะยากขึ้น
เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นก็อาจทำให้ถูกมองได้ว่าประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆก็ต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการของตัวเองเพื่อให้ครอบคลุมกับหนี้ที่ตัวเองต้องจ่ายเพิ่ม นานๆเข้าก็จะทำให้เราๆท่านๆต้องจ่ายค่าสินค้าและบริการที่สูงขึ้นหรือก็คือจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั่นเอง
มากไปกว่านั้นเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็แปลว่าต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการกู้บ้านก็จะสูงขึ้น หลายๆคนก็อาจจะไม่สามารถกู้ยืมได้เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงเกินไป ส่งผลให้ราคาบ้านอาจจะต้องลดราคาลงเพื่อให้ขายได้มากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าบ้านลดลง เสมือนว่าเจ้าของบ้านทั้งหลายมีทรัพย์สินที่มูลค่าลดลงไปด้วย
และเมื่อดอกเบี้ยที่ได้จากพันธบัตรมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้การลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่างๆ (corporate debt) ดูน่าสนใจน้อยลงไปด้วย (เมื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลได้ดอกเบี้ยสูงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท คนก็จะลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่างๆน้อยลง) ส่งผลให้บริษัทต่างๆอาจมีความยากลำบากในการออกตราสารหนี้หรือเพิ่มทุนเพื่อให้ได้รับเงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในภาคเอกชนอาจจะลดลงไปด้วย
อย่างไรก็ดี การมีหนี้ไม่ได้แปลว่าต้องแย่เสมอไป หากมีการก่อหนี้อย่างเหมาะสมแล้ว มันก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดี
ก็เหมือนคนธรรมดาอย่างเราๆหากสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากๆ เช่น ทีวี รถ โทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนกันอยู่นั่นแหละ (ผมก็เคยเป็น) รายได้หรือเงินเดือนก็ไม่เพิ่มเท่าไหร่ ความสามารถก็ไม่เพิ่ม แถมเพิ่มหนี้จำพวกนี้ตลอดเวลา เงินเก็บก็จะไม่เหลือเอาไปลงทุนเพื่ออนาคตกันนะครับ
อ้างอิง:
https://m.bangkokpost.com/business/finance/1535514/thailand-sidesteps-currency-storm
https://tradingeconomics.com/thailand/government-debt-to-gdp
https://en.wikipedia.org/wiki/Government_debt
blenlit
Hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.