พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

หนี้สาธารณะ (Public Debt) ระดับไหนที่เรียกว่ามากเกินไป?

จากโรคระบาดของโควิด19 ที่ผ่านมีปีกว่าๆนี้บังคับให้รัฐบาลในหลายๆประเทศทั่วโลกนั้นมีการกู้ยืมเงิน (หรือพิมพ์เงิน) เพื่อใช้จ่ายในการบรรเทาทุกข์หรือช่วยพยุงระดับเศรษฐกิจให้มากที่สุดในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

แค่ช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2020 ถึง มิถุนายน 2020 แค่ประเทศอเมริกาประเทศเดียวก็มีการกู้ยืมเงินถึง 3 ล้านล้านเหรียญเข้าไปแล้ว เป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบไตรมาสตั้งแต่มีการเก็บบันทึกมาเลยทีเดียว

ในอดีตนั้นนักเศรษฐศาสตร์มักจะออกมาเตือนเกี่ยวกับระดับหนี้ที่สูงเกินไป แต่ความคิดแนวใหม่นั้นก็ก่อให้เกิดความคิดที่ว่าระดับหนี้ในระดับใหม่ (ที่สูงกว่าในอดีต) นั้นอาจจะยังยืนก็ได้

แล้วโลกเราควรจะกังวลแค่ไหนกับระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นนี้?

เป็นเวลากว่าร้อยปีมาแล้วที่รัฐบาลนั้นมีการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1700 เป็นต้นมา ในช่วงสิ้นสงครามนโปเลียนในปี ค.ศ. 1815 นั้น ระดับหนี้สาธารณะของสหราชอาณาจักรนั้นอยู่ในระดับ 164% ของ GDP และมันยิ่งสูงขึ้นไปอีกหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 ที่ 259% ของ GDP

เพื่อที่จะกู้ยืมเงินจากประชาชน รัฐบาลก็จะทำการออกพันธบัตร (bonds) ซึ่งก็เหมือนสัญญาระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุน (I owe you) ว่ารัฐบาลขอยืมเงินก่อนแล้วจะทำการคืนเงินให้กับประชาชนพร้อมดอกเบี้ยให้ในอนาคตนะ โดยที่ระดับอัตราดอกเบี้ยก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ธนบัตรนั้นๆกำหนดไว้ซึ่งก็มีตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 20 ปีก็มี

ทีนี้ระดับความน่าสนใจของพันธบัตรต่างๆต่อนักลงทุนนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลนั้นๆ (creditworthiness) ซึ่งก็มีนักลงทุนหลายๆประเภทที่สนใจจะซื้อพันธบัตรรัฐบาล เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ (pension fund) กองทุนที่มีนโยบายแตกต่างกันไปอาจจะเข้าออกเร็วอย่าง hedge fund ธนาคารต่างๆ หรือแม้แต่นักลงทุนอิสระ (individual investor) หรือแม้แต่ธนาคารกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศนั้นๆเอง รัฐบาลของประเทศอื่นๆก็สามารถซื้อพันธบัตรด้วยเช่นเดียวกัน โดยประเทศที่ถือพันธบัตรของอเมริกามากที่สุดในโลกก็คือเบอร์หนึ่งอย่างจีน และเบอร์สองก็คือญี่ปุ่น

ความเต็มใจที่จะออกพันธบัตรของรัฐบาลและเพิ่มระดับหนี้สาธารณะของประเทศนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด หลังจากระดับหนี้ที่สูงเสียดฟ้าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองนั้น รัฐบาลในหลายๆประเทศก็มีความกังวลที่จะปล่อยให้งบประมาณมันติดลบไปเรื่อยๆ แต่ว่ารัฐบาลต่างๆก็ยังคงกู้ยืมอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่อัตราเงินเฟ้อนั้นเพิ่มขึ้นสูงมากก็โดนต่อว่าด้วยสาเหตุมาจากการกู้ยืมอย่างต่อเนื่องนี้

จากเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2007 นั้นส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะในบรรดาประเทศที่ร่ำรวยจาก 74% เป็น 105% ในปี 2017 เลยทีเดียว และ 35% จากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) เป็น 48% ในช่วงเวลาเดียวกัน จากระดับหนี้สาธารณะที่ลอยตัวสูงขึ้นนี้ทำให้หลายๆประเทศมีความตื่นตระหนกทางการเมืองและได้เริ่มดำเนินมาตราการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด (austerity) เพื่อที่จะลดการขาดดุลของงบประมาณลง แต่มันก็ไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้นัก

ปัญหาที่เกิดจากการรัดเข็มขัดเหล่านี้ก็ได้นำไปสู่วิธีคิดแนวใหม่ (อีกแระ) โดยในปี ค.ศ. 2019 โอลิเวอร์ แบลนด์ชาร์ด (Olivery Blanchard) ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้ถกว่า รัฐบาลนั้นสามารถกู้ยืมได้มากกว่าที่หลายๆคนในอดีตเคยคิด เขาสังเกตุว่าอัตราดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาลนั้นค่อยๆลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินนั้นมีต้นทุนที่ถูกลงเพียงพอที่จะสามารถให้รัฐบาลของบางประเทศนั้นสามารถกู้ยืมเงินได้ และในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจก้อเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ดูอย่างอเมริกาเป็นตัวอย่าง Nomimal GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติก่อนที่จะมีการปรับผลของอัตราเงินเฟ้อก็มีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลามา 30 ปีแล้ว และมันมีความสำคัญก็เนื่องมาจากว่า หากขนาดเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆมากกว่าระดับหนี้ที่ประเทศสะสมมาเรื่อยๆ และมากกว่าอัตราดอกเบี้ย และรัฐบาลก็คอยตรวจสอบการกู้ยืมอยู่เรื่อยๆในระดับนี้ ดังนั้นประเทศนั้นๆก็สามารถมีระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงได้โดยไม่มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากนัก

หลังจากที่ แบลนด์ชาร์ด กล่าวสุทรพจน์นี้ได้ไม่ถึงปี โคโรน่าไวรัสก็โผล่มาที่ อู่ฮั่นแล้ว (Wuhan) และการกู้ยืมครั้งใหญ่ที่สุดจากคนหลายๆรุ่นก็ได้เริ่มต้นขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกๆประเทศจะสามารถกู้ยืมเงินเพื่อให้ผ่านโรคระบาดนี้ไปได้ การกู้ยืมที่มากขนาดนี้ก็ใช่ว่าจะปราศจากความเสี่ยงเลยซะทีเดียวไม่ว่าจะสำหรับใครก็ตาม เนื่องมาจากว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นมันสามารถที่จะปรับตัวขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าทำไมอัตราดอกเบี้ยมันถึงอยู่ในระดับต่ำได้นานขนาดนี้

โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้จำนองบ้าน พันธบัตรรัฐบาลหรือบัญชีเงินฝากนั้นมักจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในตลาด ถ้าคนมีความต้องการที่จะประหยัดเก็บออมมีมาก อัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องมาจากว่าธนาคารหรือรัฐบาลที่ออกพันธบัตรก็ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อชักจูงนักลงทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง

มันมีอยู่หลายๆปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้คนนั้นมีการอดออม ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยุ่ในระดับต่ำ นั่นก็คือ ประชากรที่สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็ส่งผลให้คนจะเก็บออมมากขึ้นเพื่อเกษียณอายุ และก็กองทุนบำเหน็จบำนาญก็ซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น (เนื่องจากไม่อยากเสี่ยงมากเพราะคนเกษียณหรือใกล้เกษียณมีเยอะขึ้น ก็จะมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนในอีกไม่นาน) และความหวาดกลัวและความไม่มั่นคงต่อวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ส่งผลให้นักลงทุนนั้นเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยลง (safe asset) อย่างพันธบัตรรัฐบาลก็ได้

อย่างไรก็ดี จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆเหล่านี้ เนื่องจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น ประเทศต่างๆก็ไม่มีทางเลือกและยังคงต้องกู้ยืมเงินต่อไป การที่จะตัดงบประมาณลงในช่วงนี้ในขณะที่โรคระบาดยังคงเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกนั้น จะส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ส่งผลในระยะยาวมากกว่า แต่ว่าประเทศต่างๆจะยังคงสามารถกู้ยืมเงินได้อีกแค่ไหนและได้อีกนานเท่าไหร่นั้นก็ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ที่แน่ๆจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดจากโรคระบาดนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน

อ้างอิง:

Public Debt: how much is too much? | The Economist – YouTube

Leave a Reply