Phillips curce เป็นคอนเซปทางเศรษฐศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาโดย A. W. Phillips โดยบอกว่าอัตราเงินเฟ้อ (inflation) และ อัตราการว่างงาน (unemployment) นั้นมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกันอย่างมั่นคง
ทฤษฏีนี้บอกไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต เงินเฟ้อก็จะติดตามมาด้วย ซึ่งควรนำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นและทำให้อัตราการว่างงานลดน้อยลง อย่างไรก็ดี คอนเซปนี้ก็เหมือนจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาจจะไม่จริงเนื่องมาจากเหตุการณ์ Stagflation ในช่วงปี 1970 (Stagflation = เศรษฐกิจไม่มีอัตราการเจริญเติบโต อัตราการว่างงานสูง และก็อัตราเงินเฟ้องสูง)
เนื้อหาสำคัญของ Phillips curve นั้นบอกไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงในระดับอัตราการว่างงานนั้นจะมีผลกระทบที่คาดเดาได้ของระดับราคาสินค้าที่จะสูงขึ้น (price inflation) ความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางตรงกันข้ามกันระหว่างอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อนี้สามารถวาดเป็นกราฟที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในแกน Y และอัตราการว่างงานอยู่ในแกน X มีลักษณะเว้าเข้าสู่แกนตามกราฟด้านล่าง การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะลดระดับอัตราการว่างงานลง หรือในทางกลับกันก็เช่นกัน
ทีนี้มาถึงเหตุการณ์ Stagflation ที่อเมริกาไม่เคยประสพพบเจอมาก่อนจนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเหตุการณ์นี้มันก็ขัดกับทฤษฏีของ Phillips curve อย่างชัดเจนเมื่ออัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเลย ระหว่างปี 1973 และ 1975 6 ไตรมาสติดต่อกันที่มีระดับ GDP ที่ลดลง (เป็นนัยยะว่าทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น) แต่ในช่วงเดียวกันนั้นอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นสามเท่าเลยทีเดียว
จากเหตุการณ์ Stagflation และการขัดแย้งกับ Phillips curve นี้ก็ทำให้นักเศรษฐศาสตร์นั้นให้ความใส่ใจมากกว่าเดิมในแง่ของบทบาทของ ความคาดหวังที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อนี้ เนื่องมาจากว่าแรงงานและผู้บริโภคนั้นสามารถปรับความคาดหวังของพวกเขาถึงระดับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตบนพื้นฐานอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานในปัจจุบันได้ ดังนั้นแล้วความสัมพันธ์แบบตรงกันข้ามระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงานนี้จะสามารถเป็นจริงได้ก็ในช่วงระยะสั้นเท่านั้น
เมื่อธนาคารกลางพยายามเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น (พิมพ์เงินออกมา ลดอัตราดอกเบี้ย อื่นๆ) เพื่อที่จะพยายามลดอัตราการว่างงานลง มันก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามแนว Philips curve ในระยะสั้น แต่ในเมื่อความคาดหวังเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของแรงงานและผู้บริโภคนั้นปรับเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่แล้ว ในระยะยาว Phillips curve ก็จะขยับออกไปด้านนอกได้
ดังนั้นแล้วในระยะยาว หากความคาดหวังสามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ นโยบายทางการเงินจะเพียงแค่เพิ่มหรือลดอัตราเงินเฟ้อหลังจากที่ความคาดหวังต่อตลาดนั้นมีการปรับตัวไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดีจากส่วนนึงของบทความจาก The Economist 22nd Aug 2020 นั้นบอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้สิ่งที่เกิดขึ้นมันต่างจากที่คิด มันเหมือนเป็นการหมุนเวียนไปมากกว่าการขยับตัวขึ้นหรือลงของกราฟ อัตราเงินเฟ้อเริ่มไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน ทำให้กราฟนั้นค่อนข้างจะไปออกแนวๆแบนราบเสียมากกว่า ซึ่งนี่อาจจะเป็นได้ว่าเพราะว่าอัตราการว่างงานนั้นอาจจะคาดเดาหรือเข้าใจถึงปริมาณงานที่มีอยู่ในเศรษฐกิจนั้นผิดไปก็ได้
อัตราเงินเฟ้อนั้นอาจจะขึ้นช้าในช่วงที่มีงานมากๆ และก็ตกช้าเช่นกันในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยนั้นบริษัทต่างๆอาจจะลังเลที่จะลดเงินเดือนพนักงานเพราะกลัวส่งผลต่อสภาพจิตใจ แต่ในเมื่อพวกเขาลังเลที่จะตัดเงินเดือนในช่วงเวลาที่แย่ๆ พวกเขาก็จะขึ้นเงินเดือนให้ช้าลงในช่วงเวลาที่ดีด้วยเช่นกัน อัตราค่าจ้างสุดท้ายแล้วมันก็จะเพิ่มขึ้นเพียงแต่มันคงต้องใช้เวลารวมไปถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น โรคระบาด COVID19 ก็สามารถแทรกแซงได้เช่นกันก่อนที่อัตราค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น
กว่าที่อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่สูงขึ้นจะสะท้อนไปสู่ราคาสินค้านั้นมันก็อาจจะใช้เวลาเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนราคาสำหรับหลายๆบริษัทนั้นมันก็เป็นต้นทุนเช่นกัน (นึกภาพร้านอาหารต้องปรับราคาขึ้นและต้องทำเมนูใหม่หมด แต่กะขึ้นราคาตามเงินเฟ้อแค่ 1-2%) ดังนั้นเศรษฐกิจอาจจะต้องขยับนำไปมากๆก่อนที่ระดับราคาสินค้าจะขยับด้วย
เพื่อที่จะรักษาระดับ Phillips curve ให้เป็นแบบแบนราบนั้น ธนาคารกลางต้องสามารถตัดอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณว่าจะตกลง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่า 0% ได้ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยต่ำติดลบ คนก็คงไปถอนเงินมาถือเงินสดไว้ดีกว่าอ่ะเนาะ
Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคิดว่าธนาคารกลางนั้นสามารถป้องกันเงินเฟ้อได้หากธนาคารกลางตั้งใจเพียงพอ อุปสรรคจริงๆนั้นคือการเมืองมากกว่า ธนาคารกลางมีข้อจำกัดทางเทคนิคอยู่สองอย่างคือ หนึ่ง พวกเขาไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 0% ได้ และสอง พวกเขาสามารถซื้อสินทรัพย์ทางการเงินได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถซื้อสินค้าจำพวกอุปโภคบริโภคได้ ธนาคารกลางอาจจะสามารถพิมพ์เงินเท่าไหร่ก็ได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถบังคับใครให้ใช้เงินได้
ดังนั้นแล้วมันถึงมาถึงทางออกที่ว่าธนาคารกลางกับรัฐบาลต้องร่วมมือกัน เพราะรัฐบาลสามารถใช้เงินและอาจจะถนัดใช้เงินที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมาด้วย เหมือนที่มีนโยบายต่างๆเพื่อหยุด COVID19 ในหลายๆประเทศอย่างที่เราเห็นกัน เพื่อลดอัตราการว่างงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ แต่ถ้ามันไม่สามารถช่วยได้ มันก็อาจจะกลายเป็นหายนะก็ได้ คนว่างงานจะเต็มไปหมด และอัตราเงินเฟ้อก็จะติดลบ
คนธรรมดาอย่างเราๆก็ได้แต่รอชมและเอาตัวรอดกันไปเช่นเคย
อ้างอิง:
https://www.investopedia.com/terms/p/phillipscurve.asp#:
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.