พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Finance

มามองโลกจากมุมมองของนักเทรดออพชั่นกัน

https://i.redd.it/bhzjt83fjb911.jpg

“การกระทำที่มีผลนั้นไม่ได้อยู่ตรงกลางแต่อยู๋ตามริมๆขอบๆ” ประโยคนี้ช่างงงแท้ มันแปลว่าอะไรกัน

จากบทความใน The Economist ฉบับล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2020 นั้นมีบทความนึงที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่างๆที่ (คาดว่า หรือ จะเกิดขึ้น) เป็นประจำในการลงทุนหรือการเทรดต่างๆ ซึ่งเขามองว่ายังไงเราก็ไปอ่านกัน

เขาว่ากันว่าทุกๆคนที่เคยเมายา เมากัญชา (บ้านเราเรียกเมาปุ๊นสินะ) เป็นประจำจะรู้ดี หรือทำให้คุณทำอะไรบื้อๆและน่าเบื่อ เกี่ยวกับตาที่สาม มันเป็นส่วนอวัยวะนึงที่เป็นปริศนาและคุณจะได้มันมาเนื่องจากเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่กล่อมประสาทเหล่านี้

ข้อมูลจากการถกเกียงกันอย่างมึนมัวและดึกๆดื่นๆจากหอพักในปี 1960 จะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ การมีสติครบนั้นจะทำให้เห็นภาพจากตรงกลางมากเกินไปที่จะเข้าใจจริงๆว่าโลกนี้กำลังดำเนินไปอย่างไร ดวงตาที่สามจะช่วยให้คุณมองเห็นมุมมองต่างไปจากเวลาที่คุณเป็นปกติซึ่งจะไม่สามารถมองเห็นได้ (เริ่มต้นมานี่เหมือนจะไปไสยศาสตร์นิดๆ)

นักลงทุนทุกคนก็ควรจะใช้ดวงตาที่สามบ้างก็น่าจะดี แต่จะมีนักลงทุนอยู๋ประเภทหนึ่งที่อาจจะกล่าวอ้างได้ว่าพวกเขาสามารถใช้มันได้ดีที่สุดนั่นก็คือ นักเทรดออพชั่น (options trader) พวกเขาต้องใช้ตาข้างนึงเฝ้ามองดูผลลัพธ์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด ในขณะที่ตาอีกข้างนั้นต้องมองดูสถานการณ์ที่ดีที่สุดหรืออาจจะแย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ในหลายๆครั้งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตรงกลาง หรือว่าก็คือค่าเฉลี่ย จุดกลาง จุดที่เกิดขึ้นบ่อยๆที่สุด นั้นก็เป็นตัวทำนายได้ดี แต่สำหรับบางสิ่งบางอย่าง บางช่วงเวลาแล้ว ทางสายกลางนั้นก็อาจจะค่อนข้างดูสั่นคลอน

นี่คือโลกของคนที่เทรดออพชั่นที่มีค่าที่สุด (ออพชั่นก็คือ “สิทธิ” ในการที่จะเลือกซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่มีการกำหนดไว้ก่อนแล้ว) และการกระทำที่ได้ผลนั้นไม่ได้อยู่ตรงกลางแต่อยู่ตรงริมๆขอบๆต่างหาก (พูดสองรอบละ มันแปลว่าไร)

เพื่อที่จะเข้าใจว่ามันแปลว่าอะไร (ในที่สุดก็มาอธิบายสักที) ลองนึกภาพว่าคุณลองพนันกับเพื่อนคุณดูว่าผู้ชายคนต่อไปที่จะเดินเข้ามาในร้านกาแฟที่คุณกำลังนั่งอยู่นั้นจะมีความสูงเท่าไหร่ ถ้าจะเดาให้ใกล้เคียงก็คงต้องแถวๆ 1.75 เมตร (มันคือความสูงเฉลี่ยของผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ในอเมริกา) และมันก็เป็นไปได้ที่คุณจะทายผิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะผิดไปมากมาย

ผู้ชายหลายๆคนที่อาจจะเดินเข้ามานั้นก็อาจจะมีความสูงใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย อีกหลายคนก็จะมีความสูงที่มากกว่าหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอาจจะสองสามเซนติเมตร และก็จะมีไม่กี่คนที่จะสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากๆ

คำว่าตรงกลาง หรือว่าค่าเฉลี่ยนั้นจึงเป็นตัวทำนายที่พอใช้ได้ว่าอะไรก็ตามที่ดูเหมือนว่ามาจากการสุ่มนั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ออกมาแถวๆค่ากลางหรือค่าเฉลี่ย (อ้อ ไอ่คำว่า ตรงกลางที่ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีผลไม่สำคัญคือแบบนี้นี่เอง แต่มันไม่สำคัญยังไงอ่ะ)

การโยนลูกเต๋าสองลูกก็จะคล้ายๆกัน (สำหรับใครที่อาจจะไม่เคยจับลูกเต๋ามาก่อนเลยในชีวิต ให้ดูในกราฟด้านล่าง ลูกเต๋าหนึ่งลูกจะมีหกหน้า แต่ละหน้าจะมีจุดที่นับแล้วจะบ่งบอกเลขตั้งแต่ หนึ่ง ถึง หก) มันมีความไปได้ถึง 36 อย่างในการจับคู่ของตัวเลขจากลูกเต๋า (6 x 6 = 36 ความเป็นไปได้หกหน้าของลูกเต๋าลูกแรก คูณกับความเป็นไปได้หกหน้าของลูกเต๋าลูกที่สอง)

การโยนลูกเต๋าบางครั้งอาจจะให้ผลลัพธ์ทางใดทางหนึ่งมากกว่าทางอื่น เช่น การที่จะโยนลูกเต๋าให้ได้ผลลัพธ์เท่ากับเจ็ดนั้นก็สามารถโยนได้ถึงหกทาง (ใครงงก็นึกผลลัพธ์ของลูกเต๋าสองลูกตามนี้ ลูกแรก + ลูกที่สอง: 1+6, 2+5, 3+4, 4+3, 5+2, 6+1) แต่ว่ามีเพียงวิธีเดียวที่จะโยนลูกเต๋าให้ได้สองหรือสิบสอง (1+1 หรือ 6+6)

ถ้าคุณนำผลลัพธ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการโยนลูกเต๋าแต่ละครั้งแล้วมาดูว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆนั้นจะเป็นอย่างไร มันก็จะเข้าสู่กฏพิเศษๆอันนึงของกราฟระฆังคว่ำผู้มีความรู้เขาเรียกว่า Bell Curve ซึ่งก็แสดงถึงการกระจายตัวแบบปกติหรือ normal distribution นั่นเองในทางสถิติตามกราฟด้านล่าง (โอ้ อย่างนี้นี่เอง ที่ว่าไอ่ตรงกลางก็คือกลางกราฟ ไอ่ริมๆขอบๆก็คือริมๆขอบๆของกราฟ)

การวัดค่าในรูปแบบหลายๆประเภทที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผลการสอบ ความสูง ก็จะออกมาแนวๆนี้ ลักษณะของมันก็คือว่า ค่าใดๆก็ตามที่เบี่ยงเบนออกจากค่าเฉลี่ยจะเบี่ยงเบนออกไปในลักษณะที่มีระเบียบมีรูปแบบ

สองในสามของการโยนลูกเต๋า (24 ใน 36 ครั้ง ที่ว่า 36 ครั้งคือมาจากการนับค่าจากการโยนลูกเต๋าแต่ละครั้งว่าจะเกิดหน้าไหนได้บ้างจากความเป็นไปได้ทั้งหมด และ 24 ครั้งในกรณีนี้ก็คือการรวมแถว sum 5, 6, 7, 8 , และ 9 ตามกราฟ) นั้นจะอยู่ภายใต้หนึ่งช่วงการเบี่ยงเบนตามมาตราฐาน (SD: standard deviation) ของค่าเฉลี่ยจากการโยนลูกเต๋า

นั่นก็คืออยู่ในช่วง 5 ถึง 9 ที่บอกไป และในกรณีโยนลูกเต๋านี้ ในการกระจายตัวแบบปกติ 68% ของผลลัพธ์นั้นจะอยู่ภายใต้หนึ่งช่วงของการเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยของมาตราฐาน และ 95% จะเกิดขึ้นจากสองช่วงของการเบี่ยงเบนจากมาตราฐาน (สั้นๆง่ายๆก็คือ 68% ของผลลัพธ์จะอยู่ในช่วง 1SD – แถวที่ sum 5 กับ 6 และ sum 8 กับ 9 ในขณะที่ 95% – รวมแถวที่ sum 3 กับ 4 และ sum 10 กับ 11 จะอยู่ในช่วง 2SD ก็คือจะไกลออกจาก SD หรือไกลจากช่วงตรงกลางมากขึ้น ตามกราฟด้านล่าง)

ค่าเบี่ยงเบนมาตราฐาน หรือ standard deviation ซึ่งเป็นค่าทางสถิติ แต่จะเรียกว่าความผันผวน หรือว่า volatility ในทางการลงทุน ซึ่งก็เป็นโครงร่างกุญแจสำคัญในการซื้อขายออพชั่น (มาสักทีคำนี้!) ค่าดัชนีความผันผวนที่นักลงทุนชอบใช้ที่เรียกว่า VIX หรือว่า volatility index นั้นเป็นตัววัดที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งเป็นระดับความผันผวนที่สืบเนื่องมาจากราคาของออพชั่นของดัชนี S&P500 นั่นเอง

(Put options นั้นคือสิทธิที่ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะขายดัชนีที่ราคาที่คาดว่าจะใช้สิทธิหรือเรียกว่า “strike” price ในขณะที่ Call options จะตรงกันข้ามคือจะเป็นสิทธิในการซื้อออพชั่นแทน)

มูลค่าหลักๆของออพชั่นที่จะได้คือความผันผวนที่กะเก็งไว้แล้วและช่องว่างระหว่างราคาดัชนี (index price) กับราคาที่คาดว่าจะใช้สิทธิ (strike price) ยิ่งราคายิ่งเคลื่อนไหวรุนแรงเท่าไหร่ โอกาสที่ช่องว่างระหว่างทั้งสองราคานั้นก็ยิ่งจะชนกันก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ก็คือคุ้มค่าที่ซื้อออพชั่นไว้ ถ้าสมมุติว่าค่า VIX บอกว่าความผันผวนน่าจะเป็น 14 นักเทรดทั้งหลายก็คาดว่าค่าเบี่ยงเบนมาตราฐานคิดที่ต่อปีแล้วอยู่ที่ 14% ของราคาหุ้น

ระดับของความผันผวนนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณหรือน้ำหนักของผู้ซื้อและผู้ขายด้วย ปกติแล้วด้านผู้ขายก็เหมือนจะคล้ายๆการนำเสนอประกัน พวกเขาจะพนันอยู่ตรงกลางว่าโลกนี้คงจะดำเนินไปแบบเหมือนๆเดิมปกติไม่มีอะไรพิเศษ หรือว่าจะเข้าสู่จุดนั้น

คนที่ค่อนข้างแอคทีฟในตลาดออพชั่นนั้นจะอธิบายกลยุทธ์การลงทุนทุกรูปแบบราวกับว่าตัวออพชั่นนั้นมาเทรดเองซะอีก หากต้องการซื้อตราสารหนี้ของบริษัทโดยที่ช่องว่างราคา (spread) แคบๆนั้น ก็เหมือนขายความผันผวนที่คุณจ่ายค่าพรีเมี่ยม (ค่าความเสี่ยง) ต่ำๆและก็หวังว่าบริษัทจะไม่ผิดชำระหนี้ (default)

ในขณะที่ผู้ซื้อนั้นมองในเชิงหาหลักประกันมากกว่า พวกเขาไม่เชื่อในจุดตรงกลาง พวกเขาจะคิดว่าโลกนี้จะต้องผิดเพี้ยน จะไม่มีระเบียบ จะวุ่นวาย และบางครั้งพวกเขาก็ถูก ราคาของสินทรัพย์นั้นไม่ได้มีการกระจายเป็นแบบมีแบบแผนเหมือนกันกับความสูงของคน เหตุการณ์สุดโต่งต่างๆเช่นตลาดล่ม หรือเกิดวิกฤตนั้นเกิดขึ้นบ่อยกว่าการกระจายตัวแบบปกติจะบอกไว้

ความผันผวนที่ผ่านมาค่อนข้างจะต่ำในหุ้น ในตราสารหนี้ และสกุลเงิน ไวรัสเอย ประท้วงประชานิยมเอย สงครามการค้าเอย ความวุ่นวายในราชวงศ์เอย สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรทำให้ตลาดขยับได้แบบรุนแรงมากนัก แต่ก็ไม่มีใครที่จะมั่นใจได้ว่าความสงบนิ่งมันจะอยู่อีกนานแค่ไหน

(หลายคนอาจจะสงสัยว่าหุ้นนี่ไม่ผันผวนตรงไหน ยิ่งช่วงไวรัสเยอะๆนี้ขึ้นลงทีนี่เยอะแล้วนะ แต่สำหรับคนที่เคยเทรด commodity หรือเทรดเงินจะเข้าใจว่าความผันผวนของการเทรดหุ้นทั่วไปนั้นจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับการเทรดเหล่านั้น)

คนที่มีดวงตาที่สามทั้งหลายอาจจะยืนยันว่าปริมาณการซื้อขายมันท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเพิ่มขึ้น พวกเขาจะโทษธนาคารกลางที่คอยผ่อนผันนโยบายทางการเงินทุกครั้งที่ตลาดเกิดอาการตื่นตระหนกว่าเป็นผู้ที่กดความผันผวนไว้ ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะทำได้เพราะมีความหมกมุ่นหลักก็คือเงินเฟ้อนั้นเหมือนจะหายไปและไม่ถึงเป้ากันสักที

การฟื้นคืนชีพของเงินเฟ้ออาจจะบังคับให้พวกเขาพยายามบริหารตลาดก็ได้สักวัน่นึงข้างหน้า ซึ่งนั่นก็เป็นการวางเดิมพันครั้งใหญ่ของเหล่าผู้ซื้อออพชั่นทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน นักลงทุนระดับทั่วไปทั้งหลายก็คงจะต้องเอาสองตาเล็งตรงกลางไว้อย่างมั่นคง

อ้างอิง:

https://www.economist.com/finance-and-economics/2020/02/13/looking-at-the-world-through-the-eyes-of-options-traders

https://en.wikipedia.org/wiki/Option_(finance)

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply