พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Finance

Notes Payable (เจ้าหนี้ตั๋วเงินจ่าย)

https://www.invoicera.com/blog/billing-software/difference-accounts-payable-notes-payable/

ยอดหนี้สินหมุนเวียนทั้งหมด (total current liabilities) เมื่อมาเทียบกับสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด (total current assets) ถึงจะมีความสำคัญ ซึ่งเราได้พูดถึงความสำคัญของอัตราส่วนทรัพย์สินต่อหนี้สินหมุนเวียน Current Ratio (การนำเอา ทรัพย์สินหมุนเวียน current assets หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน current liabilities) และข้อดีของการมี Quick Asset (การหักสินค้าคงคลังหรือ inventory ออกอีกที) ที่มากกว่าหนี้สินหมุนเวียนมาแล้ว

อีกรายการหนึ่งที่มีความสำคัญในฝั่งหนี้สินหมุนเวียนก็คือตั๋วเงินจ่ายหรือ notes payable รายการนี้มักจะแสดงถึงเงินกู้จากธนาคาร บัญชีซื้อขายระหว่างกันหรือบัญชีกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือเดียวกันเอง หรือจากบุคคลธรรมดาทั่วไป

แม้ว่าการที่บริษัทกู้ยืมเงินจากธนาคารนั้นจะดูเหมือนว่าบริษัทมีจุดบกพร่องอะไรหรือไม่ แต่จริงๆแล้วมันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเลย การกู้ยืมเงินตามฤดูกาล (seasoning) โดยบริษัทต่างๆนั้นเป็นเรื่องปกติที่กระทำกันโดยทั่วไป ซึ่งพอถึงเวลาหมดช่วงฤดูกาลหรือถึงวันกำหนดชำระ บริษัทก็สามารถชำระได้แบบเต็มจำนวนไม่ได้ติดปัญหาอะไรก็ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งฝั่งบริษัทที่กู้ยืมและฝั่งธนาคารที่ให้ยืม

แต่ในทางกลับกัน การกู้ยืมทางธนาคารแบบระยะยาวนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกที่สำคัญกว่าว่าบริษัทจะสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเวลากำหนดชำระมาถึง และถึงแม้ว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจะมีเพียงพอสามารถนำมาแปลงเป็นเงินสดเพื่อชำระหนี้ได้ก็ตาม แต่ในระยะยาวแล้วก็ต้องดูว่าบริษัทต้องออกพันธบัตรหรือออกหุ้นเพิ่มทุนอะไรแบบนี้หรือไม่เพื่อนำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้หากสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นมีไม่เพียงพอ

เวลาเราดูในงบดุล (balance sheets) แล้วพบว่ามีรายการเงินค้างจ่าย ตั๋วค้างจ่าย หรือสัญญาค้างจ่ายอะไรแบบนี้ก็ควรที่จะให้ความสำคัญในการศึกษาด้วยว่าเงินที่ต้องจ่ายเมื่อถึงกำหนดชำระนั้นดูแล้วเพียงพอหรือไม่ เป็นเงินเท่าไหร่ และบริษัทมีความสามารถที่จะจ่ายได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวังอยู่เป็นระยะเพื่อดูว่าบริษัทจะเกิดอาการสะดุดได้หรือไม่และเมื่อใด

หากเงินสดในมือ (cash on hand) ของบริษัทนั้นมีมากกว่าเงินค้างจ่ายมากๆนั้นก็คงจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลอะไรนัก แต่หากเงินกู้ยืมหรือเงินที่ถึงกำหนดชำระนั้นมีมากกว่าเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกันมากๆแล้วนี่ก็ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทกำลังพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากข้างนอกมากไปหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นเงินกู้จากธนาคารนั่นแหละ

โอเคว่าหากสินค้าคงคลัง (inventory) นั้นมี liquidity ที่สูง ก็คือสามารถเปลี่ยนสินค้าคงคลังเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอกับยอดหนี้ที่ต้องชำระก็ยังพอเข้าใจได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เราก็ควรนำเงินกู้จากธนาคารมาเทียบกันดูหลายๆปีว่า เงินกู้เหล่านั้นมันมีจำนวนที่มากขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีหรือไม่ และเมื่อเทียบกับยอดขาย (sales) และกำไร (profits) ในแต่ละปีแล้วมันมีจำนวนที่เป็นแนวโน้มที่มากขึ้นหรือลดลง

เพื่อใหัเห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองเปรียบเทียบในระดับตัวบุคคลอย่างเราๆเอง ก็เหมือนว่าต้องเทียบดูว่าเรามีหนี้มีการกู้เงินจากธนาคารหรือว่าใช้เงินในบัตรเครดิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ ประกอบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หรือว่าจะสร้างหนี้เพิ่มเองด้วยการซื้อสินค้าหรือนำเงินไปทำอะไรก็ตามที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับรายได้หรือเงินเดือนที่เรารับอยู่เป็นประจำแล้ว หากเห็นว่ายอดหนี้มันโตเร็วกว่ารายได้ เราก็ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วใช่มั้ยครับเพื่อลดหนี้

ไม่งั้นก็จะกลายเป็นหนี้ท่วมหัวแล้วก็ไม่รู้จะเอาจากไหนมาจ่ายคืนได้ง่ายๆแล้วอ่ะเนาะ เผลอๆต้องไปหากู้จากที่นึงมาชำระคืนอีกที่นึง ซึ่งแบบนี้ก็คงจะไม่สามารถทำได้ไปเรื่อยๆ

ยังไงสิ่งเหล่านี้ก็ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ครับ ใช้จ่ายอย่างพอเพียงตามกำลังทรัพย์และความสามารถของเราก็จะป้องกันภัยจากการเป็นหนี้ได้ระดับนึงแล้วครับ

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply