เคยสังเกตุมั้ยครับ หลายๆคนรวมทั้งคนเขียนด้วยเวลาเลือกซื้อเสื้อผ้า ของใช้ ของอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ เรามักจะพยายามเทียบกับร้านต่างๆที่เราสามารถจะหาข้อมูลได้
สมัยนี้ก็ดีหน่อย สามารถเปิดเว็บไซท์ที่ขายของออนไลน์ต่างๆเพื่อเทียบราคาได้หลายๆเว็บเลย สินค้าราคาเท่าไหร่ ค่าจัดส่งเท่าไหร่ ร้านไหนเปิดมานาน หรือโกงลูกค้าบ้าง รีวิวดีไม่ดี พวกนี้เราหมดเวลาเป็นชั่วโมง (หรือบางกรณีก็อาจจะเป็นวันเลยทีเดียว) เพื่อค้นหาดีล ‘ที่ดีที่สุด’ แล้วเราก็จะภูมิใจว่าเราได้ดึลดีกว่าชาวบ้านเขา อะไรเทือกนั้น
แต่! หลายๆคนเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาต้องเลือกซื้อกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีระเบียบวินัย มีการกระจายความเสี่ยงโดยซื้อทุกเดือน หรือจะเป็นกลุ่มที่รอโบนัสปลายปีเพื่อซื้อทีเดียวปลายปีเลย ซึ่งไม่ว่าจะกลุ่มไหน ไม่ว่าจะซื้อเพื่อการลงทุน หรือซื้อกองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษีก็ตาม หลายๆคนมักจะไม่เคยคำนึงถึงค่าธรรมเนียมที่กองทุนรวมเหล่านั้นเรียกเก็บเลย
หลายๆคนยิ่งอาการหนักคือไม่เคยเข้าไปดูด้วยซ้ำว่ากองทุนเหล่านั้นมี ‘นโยบาย’ ของกองทุนว่าอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นว่าลงทุนในอะไรบ้าง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินแบงค์ชาติ หุ้นกลุ่มเซคเตอร์ไหนอย่างไร มีการจ่ายปันผลหรือไม่จ่าย หลายๆคนไม่เคยดูสิ่งเหล่านี้เลย เพียงแค่ ‘ซื้อๆให้มันจบๆไป’ ซึ่งตรงกันข้ามกับเวลาเลือกซื้อของใช้ที่เราอยากได้กันไม่รู้จักจบสิ้นกันนัก
โอเค อารัมบทมาเยอะแล้ว งั้นเข้าเรื่องเลยว่าทำไมเราต้องดูและพิจารณาค่าธรรมเนียมที่กองทุนต่างๆนั้นเรียกเก็บด้วย?
คำตอบสั้นๆก็คือ เงินที่เราลงทุนนั้นมันหายาก และค่าธรรมเนียมก็จะมีผลต่อผลตอบแทนที่เราจะได้คืนกลับมาในอนาคตเต็มๆหนะสิ! ก่อนจะไปดูว่าค่าธรรมเนียมมันมีผลต่อการลงทุนของเราอย่างไร เราก็ไปดูกันก่อนว่าไอ่คำว่า ‘ค่าธรรมเนียม’ เนี่ยมันประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
โดยปกติแล้ว ค่าธรรมเนียมที่แต่ละกองทุนเรียกเก็บนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละกองทุน แต่โดนส่วนมากและเป็นมาตราฐานนั้น ค่าธรรมเนียมที่กองทุนเรียกเก็บนั้นจะเก็บจาก Net Assets Values หรือ NAV ซึ่งก็คือมูลค่าสุดท้ายของกองทุนรวมก่อนที่จะมีการหักค่าธรรมเนียมนั่นแหละ
ค่าธรรมเนียมต่างๆจะแบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมสำหรับนายทะเบียน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมย่อยๆเหล่านี้ก็จะถูกเรียกเก็บรวมเป็นที่เราเข้าใจง่ายๆก็คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนนี่แหละ ซึ่งโดยมากแล้วค่าธรรมเนียมตามมาตราฐานสากลโดยทั่วโลกก็มักจะเก็บไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งรายละเอียดต่างๆเหล่านี้นักลงทุนมักหาดูได้จาก ‘หนังสือชี้ชวนลงทุน’ ของกองทุนรวมนั้นๆ ถ้าใครไม่อยากอ่านเวอร์ชั่นยาวๆก็ดู ‘สรุปสาระสำคัญของกองทุน’ แทนก็ได้
เด๋วนะ หลายๆคนอาจจะบอกว่ากังวลมากไปรึเปล่า ‘แค่ 2%’ เองเนี่ยนะ? ต้องสนใจดูด้วยเหรอ?
แว๊บแรก ก็อาจจะดูเหมือนน้อยจนไม่ต้องสนใจมาก แต่ลองให้เทียบ 2% กับดอกเบี้ยเงินฝากดูก่อนเลยครับว่าท่านธนาคารทั้งหลายเขาจ่ายเราแค่ 0.25% ต่อปีสำหรับฝากออมทรัพย์ แค่เริ่มต้นลงทุน (ยังไม่ต้องห่วงว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง) เราก็แทบจะขาดทุนทันทีแล้ว -1.75% หากเทียบกับการเอาเงินไว้ในธนาคารเฉยๆใช่มั้ยครับ โดยสมมุติว่าปีนั้นตลาดหุ้นไม่ไปไหนเลย เพื่อให้เห็นภาพ อยากให้ดูตารางง่ายๆข้างล่างนี้
เพื่อให้เห็นภาพง่ายๆของผลกระทบของค่าธรรมเนียม ขอสมมุติว่าเงินลงทุนเริ่มต้นคือ 1,000 บาทในต้นปีที่ 1 และสมมุติให้ตลาดหุ้น (SET) นั้นไม่ไปไหนเลยตลาดเวลาการลงทุน 5 ปี นั่นหมายความว่า หากเราลงทุน 1,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี เราก็ควรจะมีเงินเท่าเดิมคือ 1,000 บาทใช่มั้ยครับ
แต่ถ้าหากเราต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปีละ 2% เป็นเวลาทุกปี ตลอดการลงทุน 5 ปีของเรา หากตลาดหุ้นมีผลตอบแทนที่ไม่ไปไหนเลย ในสิ้นปีที่ 5 เงินลงทุนของเราจะเหลือแค่ 903.92 บาทเท่านั้น! เท่ากับว่าขาดทุนถึง -9.61% เลยทีเดียว!
นี่ยังไม่รวมถึงเงินเฟ้อในแต่ละปีนะครับยิ่งจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนแที่แท้จริง (real term) ของเรานั้นลดลงมากกว่า -9.61% แน่นอน
นั่นแปลว่า ผู้จัดการกองทุนนั้นๆต้องมีผลงานที่เอาชนะตลาดให้ได้ไม่พอ ต้องเอาชนะให้มากพอกับค่าธรรมเนียมและเงินเฟ้อด้วยซ้ำ นักลงทุนบ้านๆอย่างเราๆถึงจะได้กำไรกับเขาบ้าง ในแน่นอนว่าช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นแรงๆหรือเรื่อยๆก็คงไม่มีใครสนใจ ‘ค่าธรรมเนียม’ ตรงนี้เท่าไหร่เพราะมันดูจิ๊บๆ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ที่ตลาดหุ้นขึ้นๆลงๆ ความแตกต่างที่น้อยนิดก็มีผลในระยะยาวได้เช่นกัน
คำถามคือ อ้าว แล้วแบบนี้จะทำให้ยังไงล่ะ ยังไงเขาก็ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่ใช่เหรอ เราก็ต้องทำแบบที่เราเลือกซื้อผ้าของใช้ต่างๆนั่นแหละครับ เลือกดูว่านโยบายการลงทุนเหมาะกับสภาพเงินๆทองๆของเรามั้ย เห็นด้วยมั้ย และค่าธรรมเนียมควรจะต่ำกว่า 2% เพื่อที่ว่าเราจะมีโอกาสได้กำไรมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะกองทุนรวมที่เน้นการลงทุนในดัชนีของตลาดเช่น SET50, SET100 เหล่านี้ก็มักจะมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า 1% แต่เราก็จะได้ผลตอบแทนที่ไม่ต่างกับตลาดเท่าไหร่
รู้อย่างนี้แล้ว ก่อนจะลงทุนในกองทุนรวม เราก็หันไปดูค่าธรรมเนียมกันก่อนลงทุนกันหน่อยเนาะ
อ้างอิง:
https://www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/in_rate.aspx
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.