พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Finance

การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers & Acquisitions)

เมื่อวันพฤหัสบดี(20) ที่ผ่านมาหากท่านใดได้อ่านเจอข่าวการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาติและธนาคารทีเอ็มบีแล้วก็อาจจะสงสัยว่าอะไรคือการควบรวมกิจการ แล้วมันมีผลดีผลเสียยังไง ก็ลองไปศึกษากันดูครับ ปรึกษาอากู๋เช่นเคย

การควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers & Acquisitions) ขอเรียกสั้นๆว่า M&A มันคืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว M&A ก็คือการโอนย้ายความเป็นเจ้าของ (ownership) ของบริษัทหรือทรัพย์สินของทั้งสองบริษัทเข้าไว้ด้วยกันผ่านการซื้อขายทางการเงินในหลายๆรูปแบบ แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็จะต้องเกี่ยวข้องกับบริษัทสองบริษัทที่จะทำการควบรวมกัน อาจจะมีการสร้างบริษัทขึ้นมาใหม่ในชื่อใหม่ หรือบริษัทใดบริษัทนึงถูกซื้อหุ้นส่วนใหญ่ไป บริษัทนั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อหรือปิดไป หรืออาจจะยังคงอยู่ทั้งสองบริษัทก็ได้

ใน Mergers หรือการควบรวมกิจการนั้น คณะบอร์ดบริหารจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการจัดสรรโครงสร้างและที่นั่งในบอร์ดบริหารของบริษัทใหม่และมีการอนุมัติให้ดำเนินการควบรวมกิจการกันได้ บริษัทที่ควบรวมกันนั้นอาจจะจบไปโดยไปใช้ชื่อใหม่ก็ได้ เช่น หากบริษัท A ควบรวมกับ B ก็จะกลายเป็น AB ก็ได้

ใน Acquisitions หรือการเข้าซื้อกิจการนั้น บริษัทที่เป็นผู้เข้าซื้อกิจการจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ถูกซื้อ (รูปแบบง่ายๆ) ซึ่งก็อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือโครงสร้างบริหารใดๆของบริษัท เช่น บริษัท A และ B ตามตัวอย่างข้างต้น ก็จะยังคงใช้โครงสร้างการบริหารเดิม ชื่อเดิม และทั้งบริษัท A และ B ก็จะยังคงอยู่ หรือ B อาจจะเลิกใช้และปิดไปโดยที่เข้าไปเป็นส่วนนึงของบริษัท A ก็ได้

อย่างไรก็ดี อ่านข้างบนแล้วยังอาจจะงงๆอยู่ แต่เอาเป็นว่าหากทั้งสองบริษัทมีการควบรวมทรัพย์สินและหนี้สินเข้าไว้ด้วยกันแล้ว การจะแยกความแตกต่างระหว่าง Merger และ Acquisition นั้นก็อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นหลายๆครั้งเราอาจจะเห็นคำว่า M&A นั้นใช้ทดแทนกันหรือใช้คู่กันอย่างสม่ำเสมอ

ทีนี้ก็มาถึงคำถาม แล้วจะควบรวมกิจการกันไปเพื่อ?

โดยภาพรวมแล้ว การที่เขาจะทำ M&A กันก็จะทำไปเพื่อลดความเสี่ยงหรือเพื่อให้มีประสิทธิภาพทางการเงินที่ดีขึ้น (แน่นอนถ้าควบรวมกันแล้วอะไรก็แย่ลงคงไม่มีใครทำ) ซึ่งโดยปกติแล้วก็มักจะได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพต่างๆดังนี้

Economy of scale หรือการประหยัดจากขนาด เมื่อควบรวมกันแล้วก็อาจจะมีการลดแผนกหรือรวบการจัดการอะไรที่ซ้ำซ้อนกันเพื่อทำให้กำไรหรือ profit margin ดีขึ้น

Economy of scope หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านอุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเพิ่มขอบเขตของการตลาดและการจัดจำหน่ายของสินค้าหลายๆประเภทที่แตกต่างกันไป เนื่องจากพอควบรวมแล้วก็จะมีสินค้าที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของรายได้(revenue) หรือส่วนแบ่งตลาด(market share) หากทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดที่ดีอยู่แล้ว การควบรวมกันก็จะเป็นการเพิ่มอำนาจทางการตลาดให้กับผู้เล่นรายนั้นด้วย

Cross-Selling หรือการขายสินค้าข้ามไปยังอีกกลุ่ม เช่น การควบรวมระหว่างธนาคารและนายหน้าค้าหุ้น ก็จะสามารถนำสินค้าของธนาคารไปขายให้กับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อขายหุ้นได้ด้วย

Synergy คำเหมือนจะหรูดูดี แต่ที่เราอาจได้ยินกันบ่อยๆก็คือ 1 + 1 = 3 นั่นแหละ คือการรวมสองสิ่งเข้าด้วยกันแล้วคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการที่สองสิ่งนั้นแยกกันอยู่แบบโดดๆ เช่น ค่ายรถนิสสัน มิตซู และเรโนลด์ เมื่อก่อนแยกกันอยู่ก็อาจจะตัวใครตัวมัน รายได้ก้อธรรมดาแยกกันแข่ง แยกกันขายไป แต่พอรวมกันแล้วก็กลายเป็นผู้ผลิตรถอันดับต้นๆของโลกแทน

Taxation หรือภาษีนี่ก็เป็นเป้าหมายนึงในการควบรวมกัน บริษัทใดบริษัทนึงอาจมีการขาดทุนแต่เมื่อถูกควบรวมไว้กับอีกบริษัท ทำให้บริษัทที่เข้าซื้อนั้นอาจใช้ประโยชน์จากบริษัทที่ถูกซื้อในการลดภาษีได้

การต้องการนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา หรือสิทธิบัตรของอีกบริษัทนึง ก็ทำให้เกิดการเข้าซื้อกิจการได้เช่นกัน ความสามารถทางการแข่งขันในยุคนี้นั้นเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่รอด การที่เข้าซื้อบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ๆหรือมีสิทธิบัตรสำคัญๆต่อการพัฒนาของบริษัทที่เข้าซื้อ ก็จะส่งผลให้บริษัทนั้นมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นไปอีก

ดังที่เราจะเห็นได้หลักๆจากบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple, Microsoft, Google, Facebook ที่มักจะเข้าซื้อบริษัทเล็กๆหรือ start up เรื่อยๆก็เพื่อนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่บริษัทตนเองต้องการในการพัฒนาการแข่งขันให้กับตัวเองนั่นเอง


อ้างอิง:

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/821781

https://en.wikipedia.org/wiki/Mergers_and_acquisitions

https://www.investopedia.com/terms/m/mergersandacquisitions.asp

Leave a Reply