เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา ปู่เรย์ ดาลิโอ หนึ่งในยอดนักลงทุนของโลกก็ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางของตลาดและเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้เราได้เรียนรู้กันอีกแล้วครับ เป็นอะไรที่น่าติดตามว่าเราจะทำตัวในช่วงนี้กันอย่างไรดี
ปู่เรย์เริ่มต้นด้วยการบอกว่าเขาเชื่อในสิ่งต่างๆที่เป็นจริง (reality) ว่าทำงานเหมือนเครื่องจักรที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบ (cause-effect relationship) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้น ดังนั้นแล้วมันก็เป็นการดีที่จะเราควรจะเข้าใจโมเดลนี้ว่าเครื่องจักรหรือความเป็นจริงเหล่านั้นมันทำงานกันอย่างไรเพื่อที่เราจะได้มีหลักการที่จะจัดการกับมันได้เมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึง
เครื่องจักรเศรษฐกิจและตลาดทำงานอย่างไร
ในภาพใหญ่สุดนั้นมันจะมีแรงผลักดันอยู่สามอย่างที่เป็นตัวผลักดันตลาดและเศรษฐกิจตลอดเวลาดังนี้
1. การเจริญเติบโตของผลิตผล (productivity growth)
2. วงจรหนี้ระยะสั้นซึ่งกินเวลา 5-10 ปี (short-term debt cycle) และ
3. วงจรหนี้ระยะยาวซึ่งกินเวลา 50-75 ปี (long-term debt cycle)
ปู่เรย์ให้ความเห็นต่อสามอย่างนี้ว่า การเจริญเติบโตของผลิตผลนั้นมีอิทธิพลมากและสำคัญที่สุดในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นมันอาจจะดูไม่สำคัญนักเนื่องจากมันจะไม่ค่อยผันผวน (ให้เราลองนึกภาพตอนเด็กๆแต่ละคนอาจจะเรียนได้ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่พอโตมาทำงานแล้วเริ่มจะเห็นความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ) แต่ในระยะยาวแล้วคนเราจะสามารถเรียนรู้และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้ซึ่งก็จะส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าหรือสร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาได้มากขึ้น (หนึ่งชั่วโมงที่ใช้ทำงาน สามารถทำงานออกมาได้มากกว่าเดิม)
วงจรเครดิตและหนี้ก็ส่งผลต่อความผันผวนที่ผลักดันผลิตผลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น การให้เครดิตก็เหมือนกับการให้อำนาจซื้อ ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการใช้จ่ายในสินค้า บริการ และการลงทุนที่มากขึ้น ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจนส่งผลให้ราคาของสิ่งต่างๆเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ในขณะเดียวกันการให้เครดิตก็คือการสร้างหนี้เช่นกัน ซึ่งหนี้ก็ต้องมีการจ่ายคืนในภายหลังซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะทำให้การใช้จ่ายในสินค้า บริการและการลงทุนที่มีจำนวนลดลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงตามไปด้วย
ดังนั้นแล้วการให้เครดิตในตอนแรกก็เหมือนการกระตุ้นการเจริญเติบโตในช่วงแรกแต่ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวได้ในช่วงถัดไปเช่นกัน เมื่อมองครบแล้วก็จะเห็นว่า ผลกระทบต่อสินค้า บริการ และการลงทุนต่างๆนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นวงจรอย่างที่เห็นกัน
วงจรหนี้ระยะสั้น (Short-Term Debt Cycle)
วงจรหนี้ระยะสั้นจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจว่ามีความยืดหยุ่นหรือสายป่านของเครดิตมากแค่ไหน ความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเร็วมากแค่ไหน
ในช่วงการขยายตัวของวงจร ธนาคารกลางจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งก็จะยั่วยวนบริษัทต่างๆให้กู้ยืมเงินเพื่อที่จะซื้อหุ้นบริษัทตัวเองหรือบริษัทอื่น พอทำแบบนั้นมากขึ้นก็จะทำให้ราคาหุ้นขึ้น แต่งบดุลบริษัทก็จะมีหนี้มากขึ้นเช่นกัน การลดภาษีนิติบุคคุลก็จะช่วยส่งเสริมให้ราคาหุ้นสูงขึ้นเช่นกัน (ทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้น) และเมื่อลดภาษี รัฐบาลก็จะมีงบที่ขาดดุลมากขึ้นยิ่งทำให้ต้องยืมเงินเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ทีนี้ นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแล้ว ธนาคารกลางก็ยังพิมพ์เงินและซื้อหนี้ (ด้วยการลดภาษีนิติบุคคุล) มากขึ้นด้วยเพื่อช่วยพยุงตลาดไว้ในระดับที่ต้องการ
การกระตุ้นแบบครั้งเดียวนี้เมื่อวงจรดำเนินมาถึงช่วงปลายๆที่อะไรก็เริ่มจะตึงตัวแล้วนั้นก็จะทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการกู้ยืมหรือการขยายตัว เมื่อนั้นแหละที่เราจะเริ่มเห็นรอยแตกของระบบและคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิด ก็จะเริ่มเห็นมันเกิดขึ้น
โดยปกติแล้วในช่วงนี้ของวงจรหนี้ระยะสั้น ราคาของหุ้นและสินทรัพย์อื่นๆที่มักจะทำได้ดีเมื่อการเจริญเติบโตแข็งแกร่งนั้นก็จะเริ่มลดตัวลงด้วย โอกาสหนี้เสียของบริษัทต่างๆเริ่มจะมีเพิ่มขึ้น เครดิตเริ่มจะหดตัวลง ซึ่งเหตุการณ์นี้โดยปกติแล้วมักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ๆมีการเติบโตของหนี้สูงสุด (หนี้นอกระบบหรือหนี้ที่ไม่ได้ผ่านธนาคาร) และในช่วงครั้งที่แล้วของวงจรระยะสั้นนั้นเกิดขึ้นในตลาดรอง (ตลาดจำนอง) แต่ในรอบนี้เกิดขึ้นในตลาดหนี้ของบริษัทและรัฐบาลแทน จิตวิทยาของตลาด ความกลัว ความโลภ ก็เป็นตัวกำหนดสำคัญในการผลักดันตลาด เช่นกัน
วงจรหนี้ระยะยาว (Long-Term Debt Cycle)
วงจรหนี้ระยะยาวจะเกิดขึ้นทุก 50-75 ปีโดยประมาณ เมื่อธนาคารกลางไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้อีกต่อไปก็จะเริ่มพิมพ์เงินและซื้อหนี้ (ในรูปแบบต่างๆ) แทน ซึ่งก็จะส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และเมื่อผ่านไปจนเครดิตตึงแล้วสุดท้ายก็ต้องกลับมารัดเข็มขัดดังเช่นวงจรหนี้ระยะสั้น แต่คราวนี้จะมาทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและธนาคารกลางก็ลดการถือครองหนี้สินที่ได้ซื้อมาก่อนหน้านั้นอย่างพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ดี การรัดเข็มขัดนั้นไม่เคยทำงานได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอรเซ็นต์ มันยากสำหรับธนาคารกลางที่จะควบคุมหรือย้อนกลับอะไรได้ในช่วงปลายของวงจรหนี้ระยะยาว เพราะธนาคารกลางไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยหรือซื้อสินทรัพย์ทางการเงินได้อย่างที่ต้องการอีกต่อไป นั่นก็คือช่วงสุดท้ายของวงจรหนี้ระยะยาวนั่นเอง
ข้อจำกัดของธนาคารกลางที่จะพิมพ์เงินเพิ่มหรือซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มนั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อ a) ราคาสินทรัพย์ทางการเงินนั้นเพิ่มสูงขึ้นไปสู่ระดับที่ทำให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์เหล่านั้นลดลงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากเงินสด (ได้ผลตอบแทนต่ำลงเรื่อยๆจนเริ่มเข้าใกล้ผลตอบแทนจากเงินสด) b) ธนาคารกลางได้ซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเป็นสัดส่วนที่สูงจนเริ่มที่จะไม่มีอะไรให้ซื้อแล้ว หรือ c) อุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถซื้ออะไรเพิ่มได้อีกหรือซื้อเพิ่มได้ยาก
ดังนั้นแล้ว ก็ดูเหมือนว่าในตอนนี้เราอยู่ในช่วงท้ายของทั้งวงจรหนี้ระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆกัน หรืออีกนัยนึงก็คือ a) เราอยู่ในช่วงท้ายของวงจรหนี้ระยะสั้น เมื่อกำไรและการเติบโตของรายได้นั้นยังดีและการตึงตัวของเครดิตทำให้ราคาสินทรัพย์ลดตัวลง และ b) เราอยู่ในช่วงท้ายของวงจรหนี้ระยะยาวเมื่อราคาทรัพย์สิน และ เศรษฐกิจนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อการรัดเข็มขัด และเมื่อธนาคารกลางนั้นไม่สามารถที่จะปล่อยเครดิตเพิ่มได้อีกต่อไป
ในบทความนี้ ปู่เรย์ยังได้กล่าวถึงปัจจัยทางการเมืองรวมไปถึงปัจจัยต่างๆที่ได้กล่าวไปนั้นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งท่านที่สนใจในรายละเอียดและอยากเข้าใจโมเดลของเศรษฐกิจในปัจจุบัน (ในมุมมองของปู่เรย์) ว่าเป็นอย่างไรนั้นก็น่าสนใจอ่านต่อได้ที่ตามลิงก์ข้างล่างครับ
อ้างอิง:
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.