พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

Macroeconomics Factor (ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์มหภาค)

ช่วงนี้ได้ยินการปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจต่างๆตั้งแต่ฝั่งอเมริกา ไล่มาทางยุโรป ไม่เว้นแม้กระทั่งไทยเราว่าปีนี้ดูแล้ว GDP เราจะไปกันไม่ถึง 3.0% กันซะแล้วด้วยซ้ำ เลยมาทบทวนกันหน่อยดีกว่าว่าปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์มหภาคนี่มันมีอะไรกันบ้าง

Macroeconomics หรือเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้นเป็นการศึกษาถึงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมหรือภาพใหญ่ๆ โดยที่ให้ความสำคัญไปกับภาพรวมของตัวแปรต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับ Microeconomics หรือเศรษฐศาสตร์จุลภาคที่เป็นการศึกษาถึงระดับบุคคล

ตัวอย่างของปัจจัยทางมหภาคก็จะมีพวกเงินเฟ้อ (inflation) อัตราแลกเปลี่ยน (exchange rates) และ อัตราดอกเบี้ย (interest rates)

เราจะไล่กันเป็นตัวๆที่มักจะใช้กันเป็นประจำในการวิเคราะห์เศรษฐกิจหรือธุรกิจดังนี้

Gross domestic product (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อ

Base interest rates หรืออัตราดอกเบี้ย

Exchange rates หรืออัตราแลกเปลี่ยน

และ Population หรือจำนวนประชากร

Gross domestic product (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ก็คือผลผลิตของสินค้าและบริการที่ประเทศนั้นๆสามารถผลิตได้ในรูปแบบของสินค้าหรือบริการสุดท้ายภายในหนึ่งปี มีตัวแปรหลายๆอย่างที่เป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของ GDP ซึ่งก็มักจะเทียบกันปีต่อปีและโดยปกติแล้วก็จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทีละมากมายซึ่งก็มักจะขึ้นลงเป็นวงจรเหมือนๆกับวงจรธุรกิจทั่วไป

Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อ ก็คืออัตราของราคาสำหรับตะกร้าของสินคาที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไป ราคาที่เปลี่ยนแปลงไปสุทธิก็คือระดับดัชนีราคา แต่อัตราราคาที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของดัชนี้ราคาก็คืออัตราเงินเฟ้อนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วตะกร้าของสินค้าก็จะเป็นสินค้าที่มีผลต่อชีวิตประจำวันนี่แหละ เช่น เนื้อสัตว์ อาหาร พลังงานเชื้อเพลิงต่างๆ

Base interest rates หรืออัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนี้ก็จะถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ บ้านเราก็จะเรียกแบงค์ชาติ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แบงค์ชาติประกาศออกมาแต่ละช่วงนั้นก็เปรียบเสมือนจุดอ้างอิงสำหรับธนาคารหรือสถาบันการเงินทั่วไปอื่นๆใช้อ้างอิงในการปล่อยเงินกู้หรือลงทุนต่อไป และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีสัดส่วนมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจถึง 1 ใน 4 ของโลก ทำให้เมื่อ Fed หรือธนาคารกลางของสหรัฐฯออกมาประกาศอัตราดอกเบี้ย ทุกๆประเทศทั่วโลกถึงให้ความสนใจ

Exchange rates หรืออัตราแลกเปลี่ยน เหมือนสินค้า (commodity) ทั่วๆไป สกุลเงินก็สามารถที่จะซื้อขายได้ ซึ่งตลาดที่รองรับการซื้อขายเงินตรานี้ก็คือตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ ราคาที่สองสกุลเงินจะถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้นก็จะเรียกว่า exchange rate หรืออัตราแลกเปลี่ยนนั่นเอง เหมือนที่เราได้ยินกันช่วงหลังมานี้ว่าเงินบาทแข็งมาก (เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าห์สหรัฐฯ) ก็คือเงินบาทของไทยเราในจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อเงินดอลล่าห์สหรัฐได้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนนี้จะมีผลต่อต้นทุนการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าของประเทศโดยตรง หากแข็งมากไปการส่งออกก็จะแข่งขันยากเนื่องจากสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นแล้วมีราคาที่แพงกว่า หากอ่อนมากไปก็จะทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าก็มีต้นทุนที่สูงไปเช่นกัน

และก็มาถึงตัวสุดท้าย Population หรือจำนวนประชากร อันนี้ก็ค่อนข้างจะตรงตัว ก็จำนวนประชากรในประเทศนั่นแหละ อย่างไรก็ดีบางประเทศอาจจะมีจำนวนผู้อยู่อาศัยแบบชั่วคราวหรือแปลผันตามฤดูกาล และในบางประเทศนั้นสถิติด้านประชากรก็อาจจะมีการเก็บไม่ดีนัก ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขนั้นผิดเพี้ยนไปได้ จำนวนประชากรนั้นก็จะใช้ในการทำนายถึงขนาดของตลาดว่าน่าจะมีอุปสงค์หรืออุปทานต่อสินค้าต่างๆแค่ไหน หรือขนาดของประชากรในแต่ละช่วงอายุนั้นมีมากมีน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้นำเสนอสินค้าบริการต่อประเทศนั้นๆอย่างถูกต้อง บางประเทศอย่างญี่ปุ่น (หรือแม้แต่ไทยเรา) ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยอยู่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประชากรในวัยทำงาน (ปกติจะเกิน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด) ดังนั้นสินค้าและบริการที่เราอาจจะเห็นในอนาคตก็อาจจะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปทางประชากรสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆก็ได้

ปัจจัยทั้ง 5 ตัวนี้ก็เป็นข้อมูลที่เราควรศึกษาและติดตามเรื่อยๆเพื่อคอยปรับพอร์ตการลงทุนของเราให้ทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ วิธีการลงทุนที่เคยได้ผลในอดีต ก็อาจจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบันแล้วเนื่องจากตลาดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตลอดเวลา

เมื่อก่อนเราอาจจะได้ยินคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”

แต่สมัยนี้ได้ยินคำใหม่แล้วก็คือ “ปลาเร็วกินปลาช้า”

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply