พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

การที่หุ้นของบริษัทเข้าร่วมรายชื่อ S&P 500 Index มีผลเสียต่อบริษัทหรือไม่?

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้มีผลการค้นคว้าหรือ working paper จาก เบนจามิน เบนเน็ต (Tulane University) เรเน่ เอ็ม สตู้ลส์ (Ohio State University) และ เซซี่ แวง (Lancaster University) ออกมา พวกเขาได้ทำการค้นคว้าว่า การที่บริษัทมหาชนต่างๆได้เข้าร่วมรายชื่อในดัชนี S&P 500 ของตลาดหุ้นอเมริกาเนี่ย มันเป็นผลดีหรือผลเสียต่อบริษัทเอง

อ้าว เอาแล้วไง ความรู้ใหม่อีกละหรือนี่ จากที่เคยรู้ๆกันดีว่าสำหรับนักลงทุนเชิงรับแล้ว (passive investor) การที่เราไม่มีเวลาเนื่องจากไม่ใช่นักลงทุนเต็มเวลา มีธุรกิจให้ดูแล มีงานประจำ เป็นลูกจ้างนั้น การลงทุนในกองทุนดัชนีของตลาดหุ้นก็ดีกว่าไม่ใช่เหรอ?

เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว เราก็ได้กระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายๆตัว หากช่วงที่ตลาดดี ผลประกอบการของกองทุนก็ขึ้นตาม หากตลาดไม่ดีเราก็ยังได้ผลประกอบการไม่หนีจากผลตอบแทนของตลาดไม่ใช่หรือ (ตลาดหุ้นไทยเราก็มี SET50 กับ SET100 และกองอื่นๆ) ไม่ต้องคอยมานั่งอ่านงบการเงิน ไม่ต้องคอยมาติดตามความคืบหน้าหรือผลประกอบการของบริษัททุกๆสามเดือน ประมาณว่าลงทุนแล้วลืมไปเลย เพราะเดี๋ยวก็มีคนเอาหุ้นเข้าออกกองดัชนีให้เรากันเองนี่หว่า

ก็ใจเย็นๆก่อนครับ เครื่องมือต่างๆในโลกนี้ก็คงไม่สามารถจะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ทุกอย่างหรอก เครื่องมือการลงทุนก็เช่นกัน เราคงต้องเลือกการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองโดยใช้เครื่องมือให้ถูกต้องด้วย ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เกริ่นและบ่นมาสามย่อหน้าแล้ว เราก็ไปลองศึกษากันดูก่อน

จากการค้นคว้าในครั้งนี้ (ถ้าใครสนใจฉบับเต็มตามลิงก์ท้ายบทความด้านล่างมี 97 หน้า แต่เนื้อหาบรรยายประมาณ 36 หน้า นอกนั้นเป็นข้อมูลอ้างอิงสนับสนุนการค้นคว้า) พวกเขาพยายามหาผลกระทบของบริษัทที่จากที่ไม่เคยอยู่ในดัชนี S&P 500 และเมื่อได้เข้าร่วมแล้วจะส่งผลต่อราคาหุ้นอย่างไรบ้าง – แน่นอนว่าราคาหุ้นนั้นเป็นผลมาจากหลายๆปัจจัย แต่การค้นคว้านี้จะเอาราคาหุ้นมาดู – โดยในช่วงที่ศึกษานั้นคือตั้งแต่ปี 1997 – 2017 พวกเขาดูว่าในช่วงเวลานี้ บริษัทที่เข้าร่วมดัชนีห้าวันก่อนเข้าร่วม ไปจนถึงเวลาหนึ่งปีในภายหลัง โดยเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างระหว่าง 2 ทศวรรษ

โดยในช่วงทศวรรษแรกนั้น การที่บริษัทถูกรวมไว้ในดัชนีจะเพิ่ม ผลตอบแทนที่ “ไม่ปกติ” (abnormal returns) ขึ้นไปประมาณ 4.9% ในช่วงสัปดาห์แรกที่บริษัทเข้าร่วมดัชนี แต่ว่าผลตอบแทนที่ไม่ปกตินี้จะค่อยๆหายไปเมื่อเวลาผ่านไปเกิน 12 เดือน

แต่ในทางตรงกันข้ามกันแล้ว ในช่วงทศวรรษถัดมา ผลตอบแทนที่ “ไม่ปกติ” ในช่วงแรกนั้นยิ่งไม่ต้องสนใจได้เลย แย่ไปกว่านั้น ผลตอบแทนจะกลายเป็นติดลบด้วยซ้ำไปภายในช่วงสามสัปดาห์แรก และมันก็มักจะอยู่แถวๆนั้นแหละ

ซึ่งเบื้องต้นแล้วพวกเขาสรุปว่า ในตอนที่มีการประกาศว่าหุ้นตัวใดจะได้เข้าร่วมดัชนี S&P 500 นั้นแม้ว่าช่วงประกาศออกมาจะมีผลต่อราคาหุ้นที่ดีขึ้นแต่มันก็จะหายไปในภายในหลัง และผลกระทบในระยะยาวนั้นกลับส่งผลให้ติดลบด้วยซ้ำไป

การที่รวมหุ้นเข้าไปในดัชนี S&P 500 นั้นจะส่งผลให้ราคาหุ้นแย่ลง การชดเชย การลงทุน และนโยบายทางการเงินจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการรวมหุ้นเข้าในดัชนี

ตัวอย่างเช่น นโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่เข้าร่วมดัชนีนั้นจะเปลี่ยนไปโดยจะไปคล้ายคลึงกับบริษัทเพื่อนๆที่คล้ายๆกัน

ROA หรือ return on assets หรือผลตอบแทนต่อทรัพย์สินจะลดต่ำลงเมื่อมีการรวมบริษัทเข้าไว้ในดัชนีด้วย แต่มันไม่ปรากฏหลักฐานว่าการแข่งขันมีผลกระทบต่อการรวมหุ้นของบริษัทเข้าไว้ในดัชนีด้วยหรือไม่

ถามว่าทำไมมันถึงเป็นเยี่ยงนั้น?

พวกเขาอธิบายว่ามันอาจจะเป็นไปได้จากสองสาเหตุ อย่างแรกเลย นักลงทุนเชิงรับแบบ passive investor เนี่ยก็ไม่เหมือนกับนักลงทุนเชิงรุก หรือ active stockpicker ที่คอยเฟ้นคอยค้นหาหุ้นที่จะสามารถเอาชนะผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดได้อยู่แล้ว

โดยนักลงทุนเชิงรับจะไม่ค่อยสนใจถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นของแต่ละบริษัทในดัชนีเท่าไหร่นัก (ก็แน่นอนอ่ะนะ ไม่งั้นคงไม่เรียกว่า passive) ถ้ามันอยู่ในดัชนี พวกเขาก็ต้องถือหุ้นนั้นไว้อยู่ละ สิ่งที่พวกเขาจ่ายเงินซื้อไปก็ไม่ได้บ่งบอกถึงข้อมูลมากมายอะไรเกี่ยวกับจุดแข็งหรือจุดอ่อนของบริษัทเท่ากับนักลงทุนเชิงรุก

งงมั้ย? หมายความว่านักลงทุนเชิงรับ เวลาซื้อกองทุนดัชนี ก็ไม่ได้สนใจราคาหุ้นของแต่ละตัวหรอก ผู้จัดการกองทุนจะเอาหุ้นอะไรเข้ามา เอาอะไรออกไป ก็ตามดัชนี S&P 500 นั่นแหละ ฉะนั้นนักลงทุนที่ซื้อกองทุนดัชนีก็จะไม่ค่อยรู้เรื่องบริษัทนักหรอก ตรงกันข้ามกับนักลงทุนเชิงรุกที่เลือกหุ้นเป็นตัวๆ ซึ่ง (ที่ควรจะเป็น) จะผ่านการวิเคราะห์และกลั่นกรองถึงจุดแข็งจุดอ่อนและอนาคตของบริษัทและหุ้นตัวนั้นๆมามากกว่านักลงทุนเชิงรับอยู่แล้ว

ทีนี้ สัญญาณของตลาดที่บิดเบือนนี้อาจจะทำให้ ผจก กองทุนเกิดความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป โดยทำการตัดสินใจลงทุนที่ผิดเพี้ยน และส่งผลต่อผลตอบแทนระยะยาวที่ไม่เป็นไปในทางที่ควรจะเป็น ซึ่งโดยหลักการแล้วก็จะสะท้อนมาจากราคาหุ้นนั่นแหละ

สาเหตุอย่างที่สอง พวกเขาบอกว่าการเพิ่มขึ้นของการถือครองดัชนีโดยนักลงทุนเชิงรับที่เพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนของหุ้นบริษัทนั้นๆจะไปลดทอนอำนาจของนักลงทุนเชิงรุกที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทด้วย และเนื่องมาจากว่าพวกเขาถือว่าพวก ผจก (ทั้งหลายในบริษัท) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ (ต่อผลตอบแทนของบริษัท) ก็อาจจะทำให้ธรรมมาภิบาลของบริษัทลดลงไปด้วย (เพราะต้องหาทางเพิ่มผลตอบแทนให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง) หลังจากที่เข้าร่วมดัชนี ส่งผลต่อโอกาสความเจริญในระยะยาวของบริษัท

อ้างอิง:

https://poseidon01.ssrn.com/delivery.php?ID=373087070022102011084102125126012018017088025072063003074020125092024109002115098002045016030042041027026001018080101114084117055081055054007091089105113127066118100046018052091094100075066071086008065095080120123009103026091077112087086093073011086106&EXT=pdf

https://www.economist.com/business/2020/08/08/joining-the-s-and-p-500-may-not-be-as-big-a-boon-as-often-assumed

Leave a Reply