พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Finance, Investment

บริษัทสามารถนำกำไรสะสมจากการดำเนินธุรกิจไปทำอะไรได้บ้าง? (How can a company utilise its retained earnings?)

เมื่อบริษัทดำเนินธุรกิจของตัวเองก็ต้องคาดหวังที่จะมีกำไรและเมื่อมีรายได้เกินกว่าค่าใช้จ่ายก็จะทำให้เงินที่คงไว้ในบริษัท  (retained earnings) นั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พอเงินมีจำนวนมากขึ้นก็จะมีคนที่อยากจะเอามือมาจับมาใช้เงินก้อนนั้น ดังนั้นแล้วผู้บริหารของบริษัทนั้นๆเขาสามารถเอาเงินหรือกำไรสะสมนี้ไปทำอะไรได้บ้างหละนอกจากจะเก็บไว้เป็นเงินที่คงไว้ในบริษัทให้มากขึ้น

หากตัดสินใจที่จะนำเงินนั้นมาใช้ โดยทั่วไปแล้วก็จะมีทางเลือกอยู่ 5 ทางหลักๆที่ผู้บริหารสามารถที่จะกระทำได้ดังนี้คือ 

  1. ลงทุนกลับเข้าไปในธุรกิจ (reinvest in the business) ก็คือการนำเงินลงทุนกลับเข้าไปในธุรกิจของตัวเองนี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานใหม่ การซื้อเครื่องจักรใหม่ การจ้างพนักงานเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ก็ทำเพื่อที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองนั้นได้ขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และสามารถทำกำไรให้กับบริษัทได้มากขึ้นในระยะยาว หรือจะเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (competitive advantage)ให้กับบริษัทตนเองให้สูงขึ้นก็เป็นการลงทุนที่ดี
  1. ซื้อธุรกิจหรือสินทรัพย์ของธุรกิจอื่นมาเป็นของตัวเอง (acquire other businesses or assets) ในหลายๆครั้ง การที่จะขยายธุรกิจด้วยการสร้างโรงงานใหม่ การทดสอบเครื่องจักร การค้นคว้าวิจัย การอบรมพนักงานเพิ่มก็อาจจะเป็นการล่าช้าไปสำหรับธุรกิจนั้นๆ เนื่องจากต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อให้เงินลงทุนในสิ่งเหล่านั้นสามารถให้ผลตอบแทนกลับมาได้อย่างพอใจ ดังนั้นแล้วสำหรับธุรกิจที่มีเงินคงไว้ในบริษัทที่มากพอและไม่อยากกู้เงินเพิ่ม และต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่า ก็สามารถที่จะออกไปหาซื้อธุรกิจหรือสินทรัพย์อื่นเพื่อที่ว่าพอได้ธุรกิจหรือสินทรัพย์นั้นๆมาแล้วก็จะสามารถใช้งานได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาสร้างอะไรใหม่ การซื้อโรงงานจากธุรกิจอื่นที่คล้ายๆกัน การซื้อธุรกิจอื่นที่จะมาช่วยส่งเสริมธุรกิจตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น เช่น การซื้อบริษัทด้านลอจิสติกที่ดีกว่าของเดิมมาช่วยให้บริษัทตัวเองสามารถจัดการได้ดีขึ้น หรือในหลายๆครั้งการซื้อบริษัทอื่นๆก็เพื่อต้องการองค์ความรู้ (know how) ของบริษัทนั้นเพื่อมาต่อยอดให้กับบริษัทตัวเองแทนที่จะไปลองผิดลองถูกใหม่ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
  1. ใช้หนี้ของบริษัท (pay down debt) อันนี้ก็ง่ายๆตรงๆครับ ก็คือใช้หนี้บริษัทนี่แหละ ส่วนใหญ่แล้วหลายๆบริษัทก็ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อมีหนี้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ การเลือกที่จะชำระหนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทลง เมื่อบริษัทมีหนี้น้อยลงก็เป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินให้กับบริษัทมากขึ้น ก็เหมือนมีสุขภาพการเงินที่ดีขึ้น สามารถแข่งขันต่อได้อย่างต่อเนื่อง
  1. จ่ายเงินปันผล (pay dividends) การจ่ายเงินปันผลก็คือนำกำไรที่ได้จากการดำเนินงานกลับคืนไปให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งอันนี้แล้วแต่นโยบายของบริษัทนั้นๆว่ากำหนดการจ่ายเงินปันผลไว้อย่างไร ซึ่งจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหาร อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้วสำหรับบริษัทที่ตัดสินใจที่จะจ่ายเงินปันผลก็มักจะมีการกำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างชัดเจน โดยส่วนมากคิดเป็นร้อยละของกำไรในแต่ละปี เช่น ในปี 2017 บริษัท AAA มีกำไร 100 ล้านบาท จ่ายปันผลออกมา 30 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 30 (dividend payout ratio)  ในแว๊บแรกฟังดูแล้วว่าผู้ถือหุ้นได้เงินคืนมาในรูปปันผลก็เหมือนจะดี แต่การคงเงินไว้ในบริษัทก็จะทำให้บริษัทมีมูลค่ามากขึ้นเช่นเดียวกันเพราะก็มีโอกาสที่ผู้บริหารจะนำเงินไปใช้ลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับบริษัทที่สูงขึ้นในอนาคต ส่วนเงินปันผลที่จ่ายออกมา ผู้ถือหุ้นก็จะต้องเสียภาษีรายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้ว การจ่ายปันผลก็ควรต้องพิจารณาหลายๆปัจจัยเช่นกันว่าสิ่งไหนจะทำให้บริษัทยั่งยืนและมีมูลค่าสูงขึ้นในระยะยาวก็อาจจะเป็นการดีกว่า
  1. ซื้อหุ้นคืน (shares buyback) การซื้อหุ้นคืนก็เหมือนเป็นการเพิ่มให้บริษัทมีกำไรต่อหุ้นที่สูงขึ้น ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนห่นอยก็ลองมองที่บริษัทมหาชนที่มีตลาดรองเพื่อการซื้อขายหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีราคาชัดเจน การซื้อหุ้นคืนก็จะทำให้บริษัทมีจำนวนหุ้น (ทุนที่ออกและชำระแล้วหรือ shares outstanding) น้อยลง ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นมากขึ้น เช่น บริษัท AAA มีกำไร 100 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 10 ล้านหุ้น ก็เท่ากับว่า กำไรต่อหุ้นคือหุ้นละ 10 บาท แต่หากบริษัทนั้นซื้อหุ้นคืน 1 ล้านหุ้น ก็จะเหลือหุ้นที่ออกและชำระแล้ว 9 ล้านหุ้น (10 – 9) ดังนั้นแล้วกำไรต่อหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 11.11 บาทต่อหุ้น จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ซื้อหุ้นคืน 10% จากหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด แต่กำไรต่อหุ้นนั้นเพิ่มมากขึ้นกว่า 10% ด้วยซ้ำ (จริงๆแล้วการซื้อหุ้นคืนถึง 10% ของหุ้นทั้งหมดที่ออกและชำระแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายและไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติ เพียงแต่กรณีนี้เพื่อให้เห็นภาพและคำนวณง่ายๆ) แต่เดี๋ยวก่อนครับ ดูเหมือนจะสวย แต่ถึงกระนั้น ไม่ใช่ว่าเห็นอย่างนี้แล้วใครอยากจะซื้อหุ้นคืนก็ทำได้อย่างง่ายๆทุกๆครั้ง สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนก็คือราคาที่จะซื้อคืนนี่แหละครับว่ามันสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆหรือไม่ เพราะหากมันสูงเกินไป การซื้อหุ้นกลับมาก็ไม่ได้ช่วยอะไรเพราะก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นๆได้จ่ายเงินสำหรับหุ้นของตัวเองที่ “แพง” ไป ซึ่งก็จะไม่ส่งผลดีอะไรต่อผู้ถือหุ้นและราคาหุ้นในอนาคต แบบนี้แล้วการเก็บเงินไว้ในบริษัทต่อไปหรือทำอย่างอื่นก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทางเลือกนี้ครับ หรือแม้แต่จะลองมองที่บริษัทเอกชนที่ไม่ไ้ด้อยู่ในตลาดหุ้นก็ตาม ลักษณะก็จะคล้ายกันคือ ณ ขณะนั้นบริษัทมีมูลค่าที่ 20 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้น 20 คน เท่ากับมูลค่าบริษัทต่อหุ้นที่ 1,000,000 บาท หากมีใครต้องการจะขายหุ้นที่ราคา 900,000 บาท นั่นก็ถือว่าเป็นราคาที่น่าสนใจเพราะต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท แต่ถ้าหากใครต้องการขายหุ้นที่ราคามากกว่า 1,000,000 บาท ก็จะถือว่าแพงเกินมูลค่าหุ้น ก็ไม่ควรจะซื้อใช่มั้ยครับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นทางเลือกหลักๆสำหรับการนำเงินที่คงอยู่ไว้ในบริษัทหรือกำไรสะสมจากการดำเนินงานไปใช้กัน ส่วนบางบริษัทนั้นจะมีจินตนาการที่ซับซ้อนสำหรับการนำเงินไปใช้และดูยากเหลือหลายว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทแค่ไหน อันนี้สำหรับผู้ถือหุ้นก็ต้องคอยเฝ้าระวังเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่นำไปใช้นั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทในระยะยาวครับ

 

 

 

blenlit

hakwarmroo.com

Leave a Reply