เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครได้เห็นผ่านตา ก็จะเห็นว่ามีการยกเลิกการคุยเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างสองธนาคารมหาชนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมัน นั่นก็คือ Deutsche Bank และ Commerzbank ซึ่งเหตุผลของการยกเลิกก็คือ ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ต้นทุนการปรับโครงสร้างใหม่ และเงินทุนที่ต้องใช้ไปในการควบรวบกิจการที่ใหญ่ๆแบบนี้
แต่จริงๆไม่ได้จะเขียนถึงว่าทำไมสองธนาคารยักษ์ใหญ่นี้ถึงยกเลิกการเจรจา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงว่าจริงๆแล้วเนี่ยธนาคารทำเงินยังไง
ธนาคารนั้นโดยพื้นฐานแล้วก็ทำเงินจากการให้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายไปสำหรับการได้มาของต้นทุนของเงินนั้น ธนาคารเก็บดอกเบี้ยจากเงินกู้และจากหลักทรัพย์ที่ธนาคารเป็นเจ้าของอยู่ และนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินฝาก ใบสำคัญการฝากเงิน หรือเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเอง โดยความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างดอกเบี้ยที่ธนาคารรับ กับดอกเบี้ยที่ธนาคารจ่ายออกไปนี้เรียกว่า “Spread” หรือรายได้จากดอกเบี้ยสุทธินั่นเอง
เงินฝาก (Deposits)
เงินฝากเป็นแหล่งต้นทุนที่ใหญ่ที่สุดของธนาคาร เงินที่เจ้าของบัญชีนำมาฝากนั้นก็หวังว่าจะมีความปลอดภัยและเก็บไว้ใช้ในธุรกรรมในอนาคตโดยจะได้รับดอกเบี้ยกลับมาในอัตราที่เล็กน้อย ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่เหล่านี้ก็คือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบเผื่อเรียกแบบที่เราๆท่านๆมีกันแทบจะทุกคนนั่นเอง
ตราสารหนี้ (Debt)
อีกวิธีการหนึ่งที่ธนาคารจะได้มาถึงแหล่งเงินทุนนั้นก็คือการออกตราสารหนี้หรือการออกพันธบัตร (bond) เพื่อให้สามารถนำเงินมาใช้ในธุรกรรมของธนาคารในบางช่วงที่อาจจะต้องการใช้เงินที่มากขึ้น ในระยะสั้นๆได้
แล้วเมื่อธนาคารได้เงินทุนมาแล้ว ธนาคารก็สามารถนำเงินทุนไปใช้ในด้านใดได้บ้างหละ
อย่างแรกเลยก็คือการปล่อยกู้ (loans) เหมือนที่หลายๆคนเวลาต้องการจะซื้อรถ ซื้อบ้าน ซ่อมบ้าน หรือแม้แต่ต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะสั้น ก็หันไปหากู้เงินกันตามธนาคารเหมือนกัน การปล่อยกู้ก็เป็นการหารายได้หลักของธนาคาร โดยปกติแล้วก็จะมีการกำหนดระยะเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน และอาจจะมีการค้ำประกันจากตัวทรัพย์สินที่เราซื้อนั่นแหละ เช่น จะซื้อบ้าน ตัวบ้านที่เราซื้อก็เปรียบเสมือนหลักทรัพย์ที่เราให้ความมั่นใจกับธนาคาร เราต้องการกู้ 30 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยปีละ 7% หรืออัตราดอกเบี้ยขึ้นลงตามดอกเบี้ยอ้างอิงแล้วแต่ธนาคารจะเลือก อะไรแบบนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนที่ธนาคารจะปล่อยเรากู้เงินไปซื้อบ้านหรือซื้อรถหรือซื้ออะไรก็ตาม ธนาคารก็มักจะมีการประเมินความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของเราก่อน เช่น จะตรวจดูว่าเราเคยกู้เงินที่ไหนมาก่อนรึเปล่า กู้ไปซื้ออะไร กู้ผ่านมากน้อยแค่ไหน และมีการผ่อนชำระได้ครบถ้วนตรงเวลาหรือขาดผ่อนอยู่เรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติและข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับธนาคาร เพราะว่าจะช่วยให้ธนาคารนั้นสามารถพิจารณาได้ใกล้เคียงมากที่สุดว่าเงินที่ธนาคารจะปล่อยกู้ให้กับใครนั้นมีโอกาสที่ธนาคารจะได้คืนมากแค่ไหน รวมไปถึงว่าเงินที่จะให้กู้ไปนั้นจะไปซื้อทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงระดับไหน ซึ่งบ้าน รถ สินค้าคงคลังต่างๆก็จะถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าทรัพย์สินประเภทอื่น (ก็ถ้าผ่อนไม่ได้ก็ยึดบ้านยึดรถเราคืนไปนั่นแหละเนาะ)
(ซึ่งในลักษณะนี้มันก็เหมือนจะขัดกับสิ่งที่เป็นสักหน่อย คนที่ขาดการผ่อนส่งและโดนยึดทรัพย์สิน พอจะไปกู้อีกก็จะถูกปฏิเสธ แล้วพวกเขาเหล่านั้นจะเอาเงินจากไหนไปใช้หนี้หละ เพราะมันคือการนำเงินไปต่อเงิน กลายเป็นคนมีเครดิตดี ได้กู้เงินตลอด ทั้งๆที่ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกู้ แต่ก็มักจะมีธนาคารนำเสนอเงินให้กู้ต่อตลอดเวลาแถมดอกเบี้ยต่ำด้วย หลายครั้งต่ำกว่าคนที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆด้วยซ้ำไป ตัวอย่างที่ชัดเจนก็จะเห็นเป็นชาวไร่ชาวสวน เนื่องจากว่าผลผลิตมักออกไม่ตรงเวลากับที่ต้องจ่ายชำระคืนธนาคารทุกๆเดือน และชาวไร่ชาวสวนเหล่านี้เมื่อเคยผิดนัดชำระหนี้ หากต้องการไปกู้เงินอีกก็มักจะถูกปฏิเสธเงินก้อนถัดไป ทำให้ชาวไร่ชาวสวนเหล่านี้ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำมาใช้จ่ายให้ไร่สวนของตัวเองดำเนินงานและไปต่อได้ หรือสมัยนี้ฮิตเรียกว่า microfinance ซึ่งมักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารทั่วไป ทำให้ชาวไร่ชาวสวนเหล่านี้ก็จะมีก้อนหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่ล้มละลายและไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้อีกต่อไป และเป็นปัญหาสังคมอย่างที่เราเห็นกันทั่วไปนี่แหละ)
การปล่อยกู้เพื่อการศึกษา การปล่อยกู้บัตรเครดิต (ตัวดีเลยอันนี้) ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารทั่วไปกระทำกันเพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง (มาก) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 12-20% ต่อปีเลยทีเดียว (ลองคิดดูเมื่อเทียบกับรายได้เราแล้ว ลองคิดหนักๆว่าเงินเดือนปีนึงขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์เอง แล้วเราต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิต 12-20% ต่อปีเนี่ยอ่ะนะ มันสมควรแล้วมั้ย?)
ฉะนั้นแล้วจะเห็นว่าธนาคารส่วนใหญ่จึงมีกำไรมาจากพฤติกรรมมนุษย์สามัญอย่างเราๆที่กู้เงินกันอย่างไม่ยั้งคิด หรืออยากมีอยากได้จนลืมดูถึงรายได้และความสามารถในก่อนผ่อนคืนของตัวเอง
ถึงกระนั้น ยังไงเราก็ยังต้องมีธนาคาร มีระบบการเงินไว้ให้สำหรับคนที่ต้องการใช้เงินจริงๆไม่ว่าจะส่วนบุคคลหรือทางธุรกิจเพื่อการสร้างงานและลงทุนต่อไป สิ่งสำคัญคือเราต้องใช้เครดิตให้เป็น กู้เท่าที่จำเป็นจริงๆเพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างไม่เสี่ยงจนเกินไป มีความสุขจากการผ่อนเงินก้อนนั้น และนอนหลับกันได้อย่างปกตินะครับ
อ้างอิง:
https://www.investopedia.com/university/banking-system/banking-system3.asp
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.