Household debt to GDP หรือบางที่เรียกสั้นๆว่า household debt หรือหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(รายได้) นั้นคืออะไร
ในช่วงโควิด19 ระบาดนี้คงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านรายได้ที่หายไป (ซึ่งหวังว่าจะเพียงแค่ชั่วคราว) หลายครอบครัวอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำว่าไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน หรือแม้แต่ผ่อนรถ ผ่อนบ้านกันไป ซึ่งเมื่อหลายๆครอบครัวมีการกู้ยืมกันมากขึ้นก็จะส่งผลต่อตัวเลขหนี้สินครัวเรือนต่อรายได้รวมของประเทศนั่นเอง
หนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยตัวแรกคำว่า ‘หนี้สินครัวเรือน’ ก็จะรวมถึงหนี้สินของทุกๆคนในครัวเรือนหรือครอบครัว ซึ่งนับรวมถึงหนี้ส่วนตัวเช่น หนี้บัตรเครดิต ผ่อนมือถือ ผ่อนรถ และหนี้จำนองเช่น การเอาที่ดินไปจำนอง อะไรแบบนี้
ภาระของหนี้หลักๆเหล่านี้ก็คือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคือเจ้าของเงินนั่นเอง โดยหากท่านมีหนี้จากบัตรเครดิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12-20% ต่อปี การผ่อนบ้านอาจจะอยู่ที่ 3-7% ต่อปี การผ่อนรถอาจจะอยู่ที่ 1.5-2.5% ต่อปีแบบไม่ลดต้นลดดอก เพื่อให้นึกภาพออกง่ายๆว่าอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้มากหรือน้อย ให้ลองเทียบกับการขึ้นเงินเดือนขึ้นแต่ละปีของเราดูครับ
ทีนี้ในภาพรวมระดับประเทศ หนี้รวมของทั้งประเทศต่อรายได้รวมของทั้งประเทศ (GDP) ก็คือการเปรียบเทียบว่าประเทศทั้งประเทศมีหนี้เท่าไหร่กับดูว่าทั้งประเทศสามารถผลิตได้เท่าไหร่ ยิ่งหนี้ต่อรายได้มีอัตราส่วนที่สูง นั่นก็แปลว่าประเทศนั้นๆมีหนี้ที่สูงและความสามารถในการชำระหนี้อาจจะลดลงได้ ซึ่งอัตราส่วนนั้นก็จะมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์(%) นั่นเอง
ประเทศที่สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับหนี้ที่มีโดยไม่ต้องกู้ยืมเพิ่ม (ก็คือหาเงินมาใช้หนี้ได้ด้วยตัวของเองโดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินจากภายนอก) มักจะเรียกว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ประเทศที่มีหนี้ต่อรายได้สูงและพึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอกนั้นก็มักจะต้องเสียอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อไปกู้ยืมจากนอกประเทศนั่นเอง และในมุมกลับกันผู้ให้กู้ยืมเงินก็อาจจะไม่ค่อยอยากจะปล่อยกู้ให้เพราะเห็นว่ามีอัตราหนี้ต่อรายได้อยู่ในอัตราส่วนที่สูงอยู่แล้วนั่นเอง
บ้านๆก็คือว่า หากคนให้ยืมเห็นว่าคนกู้ มีหนี้ต่อรายได้ตัวเองที่สูงอยู่แล้ว ก็คงไม่อยากจะให้กู้เงินเพิ่มเท่าไหร่นักเนื่องมาจากเกรงว่าจะไม่ได้เงินคืนและหากจะให้ยืมก็มักจะต้องคิดดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกตินั่นเอง ยิ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมลดลงไปอีก
จากการศึกษาโดยธนาคารโลก (World Bank) นั้นพบว่าประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ที่สูงเกิน 77% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องที่ยาวนานนั้นก็มักจะพบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด หากลงรายละเอียดให้ชัดเข้าไปอีกก็คือ ทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นของระดับหนี้เกินจากระดับนี้ขึ้นไปนั้นจะทำให้ประเทศนั้นๆมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงไปถึง 1.7% เลยทีเดียวในประเทศที่เรียกว่ามีการพัฒนาไปสมควรแล้ว และยิ่งสำหรับตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) นั้น ตัวเลขนี้ก็ส่งผลได้ถึง 2% เลยทีเดียวที่ระดับหนี้ต่อรายได้ที่ต่ำลงเหลือ 64% ด้วยซ้ำไป
(บางคนบอกว่าเฮ่ย แค่ช้าลง 1.7% จะอะไรนักหนา แต่ลองไปดูตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทยเราที่อยู่แถวๆ 2-4% ใน4-5 ปีที่ผ่านมา และในปี 2020 กับโควิด19 นี้เราก็น่าจะติดลบกันแล้วละครับ)
โอเค แล้วของไทยเราตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ละตัวเลขอัตราส่วนนี้?
จากตัวเลขของเว็บไซท์ทางเศรษฐกิจ tradingeconomics.com นั้นบอกว่าประเทศไทยเรามีระดับหนี้ต่อรายได้ที่ 68.6% เมื่อเดือนกันยายา 2019 ที่ผ่านมา ตามตารางด้านล่างก็คืออันดับที่ 13
บางคนบอกอะไร แค่อันดับ 13 แต่อย่าลืมว่า 12 อันดับแรกเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าเราทั้งนั้นนะครับ จะว่าไปแล้ว ประเทศอื่นในตารางข้างล่างนี้ก็ดูเหมือนจะร่ำรวยกว่าเราทุกประเทศเลยยยย
สุขภาพทางการเงินของตัวบุคคลที่ไม่ดี ก็จะสะท้อนไปถึงสุขภาพทางการเงินของประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วพยายามอย่าสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหนี้ที่มาจากอารมณ์ชั่ววูบกันเลยครับ
อ้างอิง:
https://tradingeconomics.com/country-list/households-debt-to-gdp
https://www.investopedia.com/terms/d/debtgdpratio.asp
https://en.wikipedia.org/wiki/Household_debt
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.