โลกาภิวัฒน์เริ่มสะดุดและตอนนี้กำลังมีการเปลี่ยนร่างใหม่
จาก The Economist ฉบับล่าสุดวันนี้ 26 มกราคม 2019 เห็นหัวข้อบนหน้าปกแล้วก็น่าสนใจถึงเหตุการณ์โลกาภิวัฒน์ (Globalisation) ที่ผ่านมาเป็นสิบๆปีจนถึงทุกวันนี้ว่าเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงและกำลังดำเนินไปในทิศทางใด อ่านแล้วก็ขอนำมาสรุปคร่าวๆเช่นเคย
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ การเคลื่อนย้ายของสินค้า เงิน ไอเดีย และแม้แต่ผู้คนข้ามพรหมแดนประเทศนั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กไปจนถึงการเมืองภายใน
ลักษณะและจังหวะความเร็วของการรวมเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลกนั้นได้ช้าลง คำว่า “Slowbalisation” ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2015 โดย Adijiedj Bakas นักเฝ้าระวังทิศทางหรือแนวโน้มชาวฮอลแลนด์ (มีอาชีพนี้ด้วยเหรอนี่) ได้อธิบายถึงปฏิกิริยาที่ต่อต้านความเป็นโลกาภิวัฒน์ มันจะรุนแรงแค่ไหน สงครามการค้าจะแย่ลงด้วยน้ำมือ ทรัมป์ หรือไม่ และการค้าทั่วโลกจะเป็นอย่างไรหลังจากสงครามการค้าจบลง (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่)
ในประวัติศาสตร์ของการค้าระหว่างประเทศนั้นมีความเป็นโลกาภิวัฒน์มากหรือน้อยเป็นช่วงๆ ยุคนี้เริ่มมาจากการสนับสนุนของอเมริกาในช่วงปี 1945 หลังจากที่สงครามและความวุ่นวายต่างๆได้สิ้นสุดลง หลังจาก 1990 นั้นโลกาภิวัฒน์ก็พุ่งตัวด้วยความรวดเร็วเมื่อจีนนั้นได้กลับมาสู่สังคมโลก อินเดีย รัสเซีย และยุโรป ก็ได้ร่วมด้วย
การใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทำให้ต้นทุนการจัดส่งข้ามน้ำข้ามทะเลลดลง อเมริกาสร้างสนธิสัญญา NAFTA ช่วยสร้างองค์กรการค้าโลก และสนับสนุนการลดภาษีทั่วโลก การมีอิสรภาพทางการเงินก็ช่วยให้ทุนไหลไปมาอย่างอิสระมากขึ้นเพื่อแสวงหากำไรทั่วโลก
การค้าโลกได้เพิ่มขึ้นจาก 39% ของ GDP โลกในปี 1990 เป็น 58% เมื่อปีที่แล้ว สินทรัพย์และหนี้สิ้นก็เพิ่มขึ้นจาก 128% เป็น 401% ของ GDP ผู้คนก็อพยพย้ายถิ่นฐานมากขึ้นจาก 2.9% เป็น 3.3% ของจำนวนประชากรโลก
แล้วโลกาภิวัฒน์มันเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
จากกราฟด้านล่าง การค้าขายได้ลดลงจาก 61% ของ GDP ในปี 2008 เหลือแค่ 58% ณ ตอนนี้ การนำเข้าสินค้าเพื่อนำไปเป็นชิ้นส่วนในการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีก่อนถึงปี 2008 แต่ตั้งแต่นั้นมาได้ตกลงเหลือเพียง 17% จาก 19%
กำไรของบริษัทข้ามชาติจดทะเบียนทั้งหลายได้ลดลงจาก 33% ในปี 2008 เหลือ 31% การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ลดลงจาก 3.5% ของ GDP โลกในปี 2007 เหลือ 1.3% ในปี 2018 และเมื่อการค้าลดปริมาณลง การปล่อยเงินกู้ และยอดรวมของการเคลื่อนย้ายทุนไปมาก็ร่วงลงเช่นกัน
จุดเบรค?
ความช้าลงของโลกาภิวัฒน์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ต้นทุนการค้าขายไปยังทั่วโลกเริ่มไม่ได้ถูกลง ต้นทุนภาษีและค่าขนส่งก็เริ่มหยุดชะงัก (ไม่ถูกลงแล้ว) ธนาคารเริ่มเข้มงวดในการปล่อยกู้เนื่องจากวิกฤติการเงิน กำไรทั่วโลกเริ่มลดลง ผลตอบแทนลดลงจาก 10% ช่วงปี 2005-2007 เหลือ 6% ในปี 2017 คู่แข่งท้องถิ่นนั้นกลับมีความสามารถในทางการแข่งขันธุรกิจมากกว่าที่คาดคิดไว้ การเข้าซื้อกิจการหรือลงทุนข้ามชาติก็ไม่ค่อยประสพความสำเร็จนัก
การให้การบริการ (services economics) ในด้านต่างๆเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากว่ามันค้าขายได้ยากกว่าสินค้านั่นเอง ทนายชาวจีนก็ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะจัดการกับพินัยกรรมในเบอร์ลิน และหมอฟันจากเท็กซัสก็ไม่สามารถเจาะฟันใครได้ในมะนิลา เศรษฐกิจจากประเทศเกิดใหม่ต่างๆ (emerging economies) ก็เริ่มสรรหาสิ่งต่างๆ วัตถุดิบในการผลิต ไอเดียของตัวเองและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น โรงงานในจีนก็สามารถผลิตชิ้นส่วนสำหรับ iPhone ได้แล้วจากที่เคยประกอบอย่างเดียวในอดีต ยกเว้นพวกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง การกีดกันทางการค้า (protectionism) อย่างสงครามการค้าของอเมริกาตอนนี้ก็ส่งผลด้วยเช่นกัน อเมริกาอาจจะเคยใช้เทคนิคนี้ในอดีตมาก่อนแต่ตอนนี้อเมริกาไม่ได้มีอิทธิพลอย่างในอดีตแล้วอย่างที่เคยทำกับญี่ปุ่น ตอนนี้ส่วนแบ่ง GDP โลกของอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้นเมื่อเทียบกับ 1 ใน 3 เมื่อปี 1985
โลกาภิวัฒน์นั้นทำให้โลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเกือบทุกคน แต่ความพยายามที่จะลดต้นทุนจากโลกาภิวัฒน์นั้นมีน้อยเกินไป โลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้นนี้ก็ไม่ได้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัฒน์ในสายตาของประชาชนจนถึงจุดที่ผลประโยชน์จากการค้าขายนั้นถูกลืมไป
ทางออกระยะสั้นที่มีอยู่ตอนนี้ อย่างการพยายามซื้อขายภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น หรือระยะยาวขึ้นมาหน่อยอย่างการพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อเลี่ยงสงครามการค้าที่อาจจะไปอีกนาน ก็ยังไม่ใช่ทางแก้ที่ชัดเจนสักเท่าไหร่ ต้นทุนการทำธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้ก็จะส่งผลให้มากขึ้นในระยะยาวด้วยเช่นกัน
ความช้าลงของโลกาภิวัฒน์นั้นอาจจะโหดร้ายมากขึ้นและมีเสถียรภาพน้อยกว่าที่ผ่านๆมา แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะเติมเชื้อไฟให้กับกลุ่มที่ไม่พอใจความเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากพวกเขาคิดว่าไม่ได้อะไร
หากมองกันในระยะยาวมากๆเป็นร้อยๆปี โลกาภิวัฒน์นั้นก็คงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ช่วงเวลาชะลอตัวของโลกาภิวัฒน์อาจจะยาวนานขึ้นเมื่อการรวมเข้าด้วยกันของเศรษฐกิจมีการหยุดชะงักหรือลดน้อยลง การค้าขายการในรูปแบบใหม่นี้ก็คงจะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและภยันอันตรายเช่นกัน
ที่มา:
https://www.economist.com/briefing/2019/01/24/globalisation-has-falteredhk
https://www.economist.com/leaders/2019/01/24/the-steam-has-gone-out-of-globalisation
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.