ดูเหมือนว่าภาษาไทยเรายังไม่มีคำเฉพาะของคำว่า Gig Economy ซึ่งก็คือระบบเศรษฐกิจที่แบ่งงานกันออกเป็นชิ้นๆ (task) แล้วก็ว่าจ้างกันเป็นส่วนๆไป
ถ้าจะขยายความหน่อยก็คือพวกงานชั่วคราว (part time) งานฟรีแลนซ์ (freelance) งานขายของออนไลน์เสริมรายได้ งานส่งของ (delivery) ส่งอาหาร หรือก็คนที่ขับ Grab/Uber ต่างๆ เหล่านี้ก็รวมเข้าไปด้วยเช่นกัน
ว่าง่ายๆสั้นๆก็คืองานที่ไม่ใช่งานประจำ แบบที่เวลาทำงานมีชัดเจน มีรายได้และผลประโยชน์ที่แน่นอนแบบดั้งเดิมที่เราๆทั้งหลายทำกันอยู่นี่แหละ
จาก The Economist ฉบับสัปดาห์นี้ (6th Oct 2018) มีบทความนึงที่กล่าวถึงความกังวลที่อาจจะมีมากเกินไปต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจประเภทนี้
ข้อดีของ Gig Economy ก็คือความยืดหยุ่นในการทำงาน เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ที่เราอยากจะทำ เราไม่ต้องคอยวิ่งเข้าออฟฟิส ไม่ต้องรีบนอนรีบตื่นเพื่อทำตัวให้เข้ากับตารางเวลาของบริษัทหรือลูกค้า ไม่ต้องรีบไปทำงาน เราสามารถเลือกเวลาทำงานที่เราอยากจะทำเองได้ (ฟังดูดีเนาะ)
อย่างไรก็ดี ใน Gig Economy วันที่เราไม่ทำงาน เราก็จะไม่มีรายได้ เช่น หากเราทำหน้าที่ส่งของ ส่งอาหาร หรือขับ Grab/Uber วันที่เราไม่ทำงาน เราก็จะไม่มีรายได้ไปด้วย ซึ่งตรงข้ามกับงานประจำว่าวันที่เราป่วย หรือลาหยุด เราก็ยังจะได้เงินเดือนอยู่
จากบทความได้บอกไว้ว่า คนที่ทำงานในระบบแบบนี้จะได้รับค่าจ้างกับงานเป็นชิ้นๆไป (piece rate) แทนที่จะได้เงินเดือนแบบงานประจำ งานแบบนี้มีมากมาย ตั้งแต่การทำสไลด์ ไปจนนึงการทำความสะอาดบ้าน การสั่งอาหารส่งถึงที่พัก การช่วยประกอบเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่บ้าน อะไรแบบนี้
จากการวิเคราะห์ของ The Economist ที่ได้ใช้ข้อมูลจากสถาบันอินเตอร์เน็ตของอ๊อกฟอร์ด (Oxford Internet Institute) ได้บอกไว้ว่า เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว มีการโพสต์ทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆสำหรับการหางานในระบบ Gig นี้ในประเทศออสเตรเลียมากกว่าประเทศใหญ่ๆประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับ gig economy นี้ยังถือว่ามีน้อยและยังถือว่ายากที่นำมาใช้แบบเป็นเรื่องเป็นราว แต่ข้อมูลที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน นั้นได้บอกไว้ว่า งานประเภท gig นี้คิดเป็น 1% ของการจ้างงานในอเมริกาทั้งหมด บางสำรวจมีตัวเลขที่สูงกว่า และเกือบจะทั้งหมดนั้นได้บ่งชี้ว่าระบบ gig economy นี้กำลังขยายตัว
มีความเห็นออกเป็นหลายด้านว่าแบบนี้ดีหรือไม่ดี คนเห็นด้วยก็บอกว่าความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะกับคนที่มีลูกมีครอบครัว คนแก่ หรือคนพิการ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ช่วยชดเชยและเพิ่มรายได้ให้กับงานหลัก
แต่สำหรับคนไม่เห็นด้วยกับระบบนี้นั้นก็บอกว่ามันเป็นหนทางนำไปส่งจุดสิ้นสุดของการจ้างงานที่มั่นคงและแน่นอนแบบดั้งเดิม
ในปี 1937 นักเศรษฐศาสตร์โรนัล โคส (Ronald Coase) ได้สนับสนุนว่างานประจำและถาวรนั้นสมควรแล้ว เนื่องจากมันก็มีต้นทุนที่ถูกกว่าสำหรับบริษัทที่จะจ้างพนักงานทำงานทั้งวัน และสั่งให้พวกเขาทำงาน แทนที่จะคอยมาต่อรองหรือทำสัญญาใหม่สำหรับทุกๆงานที่จะต้องทำ ซึ่งพนักงานประจำก็แลกด้วยการมาทำงานทุกวันธรรมดา ทำตามคำสั่ง เพื่อที่จะได้รับความมั่นคงจากการทำงานและรายได้ที่แน่นอน
แต่ระบบเศรษฐกิจแบบ gig นี่จะล้มล้างโมเดลเดิม มันเป็นการพึ่งพาตลาดจากสองด้าน (two-sided markets) ซึ่งเป็นการนำพาคนทำงานและลูกค้ามาเจอกัน ยิ่งจำนวนในด้านใดด้านหนึ่งมีมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลดีต่ออีกด้าน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายและจัดการง่ายกว่าในแง่ของราคา เมื่อเทียบกับขอบเขตของรูปแบบบริษัทต่างๆ
นักบัญชี คนขับรถ นักกฎหมาย แม่บ้านทำความสะอาด สามารถโพสต์ออนไลน์อธิบายถึงประสพการณ์ เวลาที่จะทำงาน ราคาที่ต้องการได้ ยิ่งคนโพสต์เยอะๆก็จะยิ่งดีต่อแพลทฟอร์ม (ระบบหรือเว็บนั้นๆ) นั้นก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ ลูกค้าก็สามารถเลือกทักษะที่ต้องการได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องจ้างถาวร
สำหรับคนหางานแล้วข้อดีที่ชัดเจนก็คือสามารถหางานได้ง่ายขึ้น อย่าง Uber/Grab นี่ก็แทบจะออกไปขับได้ทันที ซึ่งระบบเศรษฐกิจแบบ gig นี้ก็สร้างงานที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างการขับ Grab/Uber หรือแม้แต่การจ้างคนไปไล่แมลงมุมที่บ้านในออสเตรเลียก็ยังมี
ในบ้านเราที่เราเห็นก็คงจะเป็น การขับ Grab การส่งอาหาร Line Man หรือ Food Panda การส่งของจากเว็บช้อปปิ้งกลนักออกแบบเว็บไซท์หรือนักเขียนโปรแกรมต่างๆซึ่งก็เป็นการส่งเสริมและช่วยให้คนสามารถหารายได้พิเศษเพิ่ม
และยังเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าอีกด้วยซึ่งหากเป็นงานประจำก็คงจะทำแบบนี้ไม่ได้ หรือว่าต้นทุนไม่ต่ำแบบนี้แถมยังมีอิสระในการทำงานอีกด้วย สมัยก่อนนี่นึกไม่ออกเลยนอกจากสั่งพิซซ่ามากินที่บ้านที่มีบริการจัดส่ง ทุกวันนี้มีตั้งแต่ส้มตำยันสเต็ค ชาบูก็ยังมี
อย่างไรก็ดี แม้ด้านดีจะมีหลายข้อ แต่การส่งของส่งอาหาร การทำความสะอาด หรือการขับรถบริการนั้นไม่ได้รายได้หวือหวาอะไรนัก แต่จริงๆแล้วงานเหล่านี้ก็ไม่ได้มีรายได้ที่สูงมากมายอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ทักษะไม่สูง มันก็เหมือนการอัพเกรดตัวเองให้มีรายได้ที่สูงขึ้น มีการศึกษาจากบางแห่งบอกว่ารายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสำหรับคนที่ขับแท๊กซี่ในบางเมืองในอเมริกานั้นบอกว่ารายได้สูงขึ้นตั้งแต่ Uber ได้เข้ามา หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์หรือที่ปรึกษาก็สามารถเสนอขายตัวเองไปยังอีกมุมโลกได้ ซึ่งบางแห่งเช่น Expert 360 ก็ได้รายได้ถึงวันละเป็นพันเหรียญ
แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ สำหรับคนทำงานที่มีทักษะไม่สูงอาจไม่มีอำนาจต่อรองเท่าไหร่ ในฐานะพนักงานประจำจะมีสิทธิทางกฏหมาย ตั้งแต่การลาป่วยแต่ยังได้เงิน ไปจนถึงการถูกให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม แต่คนที่ทำงานชั่วคราวหรือฟรีแลนซ์นั้นก็จะไม่ได้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ หลายๆคนอาจจะได้ค่าจ้างน้อยมาก มีเงินเก็บไม่มาก หรือแม้แต่การประสพอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงานทำให้ไม่สามารถทำงานต่อและก็ทำให้ไม่มีรายได้
แต่ในบางกรณี การรับงานแบบ gig นี้ก็สามารถรวมเข้าไปการทำงานแบบดั้งเดิมได้ เช่น อิเกียได้ร่วมกับ TaskRabbit เพื่อที่จะให้คนรับงานช่วยลูกค้าของอิเกียในการประกอบเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ขณะนี้ก็ยังมีการโต้เถียงกันถึงขั้นขึ้นศาลในบางประเทศเรื่อง คนที่รับงานในระบบเศรษฐกิจแบบ gig นี้ถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆหรือไม่ มีความต้องการมากขึ้นจากคนรับงานแบบนี้ที่จะให้ผู้ว่าจ้างปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นเสมือนว่าเป็นพนักงานของบริษัทด้วย ซึ่งหากศาลตัดสินว่าคนเหล่านั้นคือพนักงาน ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุน บั่นทอนนวัติกรรมและส่งผลต่อจำนวนงานในระบบให้ลดลง แต่การไม่ทำอะไรก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ถ้าจำนวนคนรับงานแบบ gig เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆและได้รับค่าจ้างอันน้อยนิด เงินเลี้ยงชีพก็จะมีน้อยลง สุดท้ายก็เป็นภาระรัฐบาลที่ต้องเข้ามาดูแลอยู่ดี ดูแล้วยังอีกไกลสำหรับการต่อสู้ในครั้งนี้
โอววว กว่าจะอ่านจบ เหนื่อยทีเดียว ณ ตอนนี้เราก็คงต้องเอาตัวรอดกันแบบดั้งเดิมกันไปก่อนครับ หากยังไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ คือมีงานประจำ รายได้แน่นอน หางานเสริมรายได้ ประหยัดอดออม ใช้เงินให้เหมาะกับความจำเป็น และลงทุนในธุรกิจที่ดีอย่างต่อเนื่องครับ
การมีความฝันและกล้าที่จะเสี่ยงก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เราควรต้องรู้จักตัวเองว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหนเพื่อที่เราจะสามารถจัดการกับสิ่งต่างๆในอย่างเหมาะสมที่สุดในทุกๆสถานการณ์ครับ
อ้างอิง:
https://www.economist.com/finance-and-economics/2018/10/06/worries-about-the-rise-of-the-gig-economy-are-mostly-overblown
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.