พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

4 องค์ประกอบพื้นฐานในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Four Fundamental Elements)

https://www.raptisrarebooks.com/product/security-analysis-principles-and-technique-benjamin-graham-first-edition-1934/

https://www.raptisrarebooks.com/product/security-analysis-principles-and-technique-benjamin-graham-first-edition-1934/

เดือนตุลาคมก็ได้ผ่านพ้นไปอีกเดือน ใกล้สิ้นปีแล้ว ตลาดหุ้นบ้านเราปรับตัวลงมาอยู่ที่ 1,669.09 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม จาก 1,756.41 ช่วงสิ้นเดือนกันยายน หรือเกือบๆ 5% เลย วนเวียนอยู่แถวนี้

ในเมื่อมีปัจจัยหลายๆอย่างไม่อำนวยต่อบรรยากาศการลงทุน วุ่นวายทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา การเลือกตั้งของไทยเราเองในปีหน้า ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงที่ดูแล้วทั้งปีนี้ก็อาจจะไม่ถึงเป้า 9% อย่างที่คาดกันไว้ ทำให้ระหว่างรอให้อะไรๆกระจ่างชัดเจนมากขึ้น เราหันกลับไปศึกษาองค์ประกอบพื้นฐานในการวิเคราะห์หุ้นกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่บรรยากาศการลงทุนจะดีขึ้น

จากหนังสือ Security Analysis: Sixth Edition ในบทที่สอง ได้กล่าวถึงองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการในการวิเคราะห์หุ้นไว้ ซึ่งผมขออนุญาตอ่านและนำมาสรุปและแปลให้อ่านกันเช่นเคย

องค์ประกอบพื้นฐานสี่ประการ (FOUR FUNDAMENTAL ELEMENTS)

จุดประสงค์ของการวิเคราะห์หุ้นก็เพื่อที่จะหาคำตอบหรือช่วยในการหาคำตอบสำหรับบางคำถาม แต่คำถามที่มักจะได้ยินเสมอคือ เราควรซื้อหุ้นตัวไหนเพื่ออะไร เราควรซื้อหุ้นตัว S ขายออกไป หรือว่าถือไว้ก่อน

องค์ประกอบหลักๆสี่ประการก็คือ จะเลือกหุ้นตัวไหน ราคาเท่าไหร่ ช่วงเวลาไหน และปัจจัยส่วนตัว คำถามที่ตามมาก็คือ เราควรซื้อหุ้น S (ขาย หรือถือไว้) ที่ราคา P ในช่วงเวลา T โดยผู้ซื้อ I

องค์ประกอบส่วนตัวบุคคลผู้ซื้อ (The Personal Element)

องค์ประกอบส่วนตัวนั้นมีผลไม่มากก็น้อยต่อการซื้อหุ้น ซึ่งสิ่งสำคัญหลักก็มักจะคือสถานะทางการเงิน (financial position) ของตัวผู้ซื้อเอง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือแม่หม้ายที่มีรายได้จำกัด ลักษณะเฉพาะส่วนตัวของแต่ละคน เช่น ทักษะด้านการเงิน ความสามารถเฉพาะตัว สภาวะอารมณ์ หรือแม้แต่ความชอบของแต่ละบุคคลก็อาจส่งผลต่อการเลือกหุ้นของเขาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการพิจารณาเหล่านี้อาจจะมีผลบ้างในบางครั้ง แต่ก็จะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะมากำหนดการวิเคราะห์ได้ ซึ่งการสรุปผลจากการวิเคราะห์ก็ต้องมาจากข้อกำหนดที่ไม่ใช่ปัจจัยส่วนตัว

ช่วงเวลา (The Time)

ช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์หุ้นก็สามารถส่งผลกระทบต่อข้อสรุปการวิเคราะห์ได้หลายทาง ตัวเลขจากบริษัทอาจจะดูดี อนาคตอาจจะดูเหมือนสดใส ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของนักวิเคราะห์ต่อประเด็นนั้นๆได้

มากไปกว่านั้น การเลือกหุ้นมักจะมาจากการเปรียบเทียบมาตราฐานของผลตอบแทนตัวอื่นๆมาเทียบกัน ซึ่งก็มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามข้อกำหนดทางการเงินโดยทั่วๆไป

เช่น พันธบัตรของการรถไฟที่เกรดดีที่สุดให้ผลตอบแทนที่ 5% อาจจะดูดีในเดือนมิถุนายน 1931 เนื่องจากผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของพันธบัตรประเภทเดียวกันคือ 4.32% แต่ผลตอบแทนเดียวกันเมื่อผ่านไปหกเดือนก็อาจดูไม่น่าสนใจแล้ว เนื่องจากว่าราคาพันธบัตรได้ตกลงอย่างมาก ทำให้ผลตอบแทนค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปเป็น 5.86% เป็นต้น

และท้ายสุด การที่จะลงทุนใดๆกับหุ้นนั้นก็จะมาจากมุมมองต่ออนาคตทางการเงินและธุรกิจของหุ้นนั้นๆ โดยนักเก็งกำไรอาจจะให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้มากหน่อย แต่ถ้านักลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมก็มักจะไม่สนใจประเด็นเหล่านี้นัก แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำหรือมีความไม่แน่นอนสูงนั้นก็ไม่อาจจะเพิกเฉยต่อปัจจัยนี้ได้

การวิเคราะห์หุ้นนั้น โดยหลักการแล้วต้องให้ความสำคัญและเน้นที่หลักการและวิธีการที่ใช้ได้เกือบตลอดเวลา หรืออย่างน้อยก็ช่วงที่มีสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ดี เราควรจำไว้เสมอว่า การนำการวิเคราะห์ไปใช้ในทางปฏิบัตินั้นต้องคำนึงถึงช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างตลอดเวลา

ราคา (The Price)

ราคาเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อดุลพินิจในการวิเคราะห์หุ้น ในการเลือกการลงทุนในพันธบัตร ปกติแล้วราคาจะเป็นปัจจัยรอง ไม่ใช่ว่าเพราะมันมีความแตกต่างอะไรกันกับหุ้น แต่เพราะว่าในทางปฏิบัติแล้วราคาพันธบัตรนั้นไม่ค่อยจะมีราคาสูงเกินสมเหตุสมผลอะไร ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลแล้วก็จะเน้นที่คำถามว่าพันบัตรนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหนมากกว่า

แต่สำหรับหุ้นแล้ว ความจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงราคาที่ต้องซื้อนั้นค่อนข้างจะสำคัญ เนื่องจากว่า การซื้อหุ้นที่ราคาผิด ก็แทบจะเหมือนซื้อหุ้นผิดตัวเลยทีเดียว

หุ้นหรือหลักทรัพย์ (The Security)

ลักษณะขององค์กร ภาระผูกพันขององค์กรนั้นๆ บทบาทของหุ้นและราคาของมันเพื่อการตัดสินใจในการลงทุนนั้น เราอาจจะตั้งคำถามได้ดีและชัดเจนขึ้นโดยแทนที่เราจะถามว่า 1. หุ้นตัวไหน 2. ราคาเท่าไหร่ แต่ถามใหม่ว่า 1. องค์กรหรือธุรกิจไหน 2. องค์กรหรือธุรกิจของบริษัทนั้นๆได้เสนอหรือแสดงภาระผูกพันว่าจะทำอะไรในปัจจุบันและอนาคต?

สองคำถามหลังนี้จะทำให้เราเห็นภาพที่ครอบคลุมและสมดุลมากกว่าสำหรับการวิเคราะห์องค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้

ครับ…จริงๆการวิเคราะห์หุ้นก็มีรายละเอียด ตัวแปร และมุมมองอีกหลายมิติ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยได้ศึกษาอะไรมาก่อนเลย อย่างน้อยๆแล้ว ก่อนที่เราจะลงทุนซื้อหุ้นเราก็ควรจะพิจารณาถึงองค์ประกอบเบื้องต้นเหล่านี้บ้าง แทนที่จะฟังมาจากใครแล้วก็ซื้อๆตามๆเขาไปอ่ะเนาะ

 

 

 

 

อ้างอิง:

  1. Dodd, David. Security Analysis: Sixth Edition, Foreword by Warren Buffett (Security Analysis Prior Editions) (Kindle Locations 1742-1747). McGraw-Hill – A. Kindle Edition.
  2. https://www.bangkokpost.com/business/news/1568046/bot-pours-cold-water-on-export-view

 

 

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply