มูลค่าหุ้นหรือมูลค่าของบริษัททางบัญชี (book value) นั้นเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นได้มีการลงทุนหรือใส่เงินเข้าไปในบริษัทแล้วเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าสิ่งก่อสร้างหรืออุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ
โดยมูลค่าทางบัญชีที่ได้นั้นก็เป็นเพียงเสมือนไกด์ไลน์เท่านั้น เพราะมูลค่าทางบัญชีนั้นมีรายการทั้งที่มีตัวตนจับต้องได้ (tangibles) และไม่มีตัวตนจับต้องไม่ได้อย่าง (intangibles) ที่มูลค่าก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความพอใจของผู้ซื้อที่มีมุมมองที่ดีต่อบริษัทมากกว่า และในยุคสมัยดิจิตอลนี้แล้วมูลค่าที่จับต้องไม่ได้ก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากเรายึดมูลค่าทางบัญชีเป็นตัวกำหนดราคาหุ้นหรือมูลค่าของบริษัทนั้นก็มีโอกาสที่จะผิดพลาดสูงเลยทีเดียว
Liquidating Value หรือมูลค่าบริษัทเมื่อต้องล้มเลิกกิจการไปก็มักจะมีมูลค่าที่น้อยกว่ามูลค่าทางบัญชีเนื่องจากบริษัทซื้อเครื่องจักรมาสิบล้านบาท ในมูลค่าทางบัญชีก็อาจจะมีสิบล้านบาท แต่เมื่อต้องล้มเลิกกิจการและนำเครื่องจักรนั้นไปขายทอดตลาด มูลค่ามันอาจจะเหลือเพียงแค่ห้าล้านบาทเท่านั้นก็เป็นได้
ดังนั้นทั้ง book value และ liquidating value ก็ให้เราดูไว้เป็นไอเดียเท่านั้น ซึ่งมีตัวเลขทางการเงินอีกตัวนึงที่น่าสนใจและมักจะได้ยินนักวิเคราะห์หรือข่าวพูดถึงกันทุกสามเดือนก็คือผลประกอบการบริษัทว่ามีกำไรเท่าไหร่ โดยความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นก็คือ earning power นั่นเอง
โดยส่วนมากแล้วความน่าสนใจของบริษัทต่างๆก็อยู่ที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนี่แหละว่าสามารถที่จะทำกำไรหรือมีแนวโน้มหรือ potential ที่บริษัทจะสามารถทำกำไรไปได้ถึงเมื่อไหร่
ซึ่งหากมองอย่างสมเหตุสมผลแล้ว earning power นั้นก็อาจจะพอมองไปในอนาคตได้สักช่วงๆหนึ่ง อาจจะสองหรือสามปีข้างหน้าว่ามีแนวโน้มที่บริษัทจะมีกำไรแค่ไหน (แต่อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าเราคงไม่สามารถจะรู้ได้ขนาดนั้นใช่มั้ยว่าบริษัทจะอยู่หรือไป จะยังกำไรอยู่มั้ย เพราะคงไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ขนาดนั้น แม้จะมีหมอดูหลายๆคนชอบโอ้อวดว่าตัวเองแม่นก็ตาม)
ด้วยหลักเหตุและผลแล้ว เราจึงควรใช้ผลประกอบการในปัจจุบันและในอดีตที่ไม่ไกลนัก (ย้อนหลังไปไม่ควรเกินสิบปีเช่นกัน) เป็นไกด์ไลน์ในการคำนวณและประเมินความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตได้อย่างสมเหตุสมผลเช่นกัน
ถ้าสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างปกติ การแข่งขันทางธุรกิจก็น่าจะดำเนินไปอย่างเป็นปกติด้วย (ตอนนี้อาจจะเรียกได้ว่าไม่ปกติเท่าไหร่เนื่องจากมีสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกาและจีน หรือการมีวิฤติเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือแม้แต่สงครามอย่างในอดีตก็ตาม) ค่าเฉลี่ยของกำไรที่จะทำได้ในอนาคตก็น่าจะมีแนวโน้มที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยกำไรในปัจจุบัน เช่น ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กำไรต่อหุ้นของบริษัทนึงอาจจะอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น ดังนั้นแล้วหากไม่มีภาวะรุนแรงใดๆมากระทบในอีกห้าปีข้างหน้า กำไรต่อหุ้นของบริษัทนี้ก็น่าจะมีแนวโน้มที่สูงกว่า 10 บาทต่อหุ้นเป็นต้น
เราลองมาดูตัวอย่างกันตามตารางข้างบน บริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทยเราเอง มีรายได้ปี 2008 ที่ 9,832 ล้านบาท แต่ปี 2018 เพิ่มขึ้นมาเป็น 27,700 ล้านบาท
กำไรก็เพิ่มขึ้นจาก 1,638 ล้านบาทในปี 2008 เป็น 3,865 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นก็เพิ่มขึ้นจาก 0.52 บาทต่อหุ้นเป็น 1.23 บาทต่อหุ้น มูลค่าตลาด (market cap) เพิ่มขึ้นจาก 13,810 ล้านบาทเป็น 26,206 ล้านบาท
ดูแบบนี้ก็จะเห็นว่าบริษัทนี้มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีและมั่นคง ค่อยๆเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆตลอดสิบปีที่ผ่านมา ดูแล้วก็น่าจะเป็นบริษัทที่น่าลงทุนระดับนึง
แต่ก็อย่าลืมว่า ความสามารถในการทำกำไรก็เป็นเพียงตัวเลขทางการเงินตัวนึงเช่นกัน บริษัทนี้อาจจะมีหนี้ที่สูงมากก็ได้ หรือแนวโน้มในอนาคตอาจไม่สวยงามเหมือนในอดีต สภาพแวดล้อมการแข่งขันทางธุรกิจอาจจะเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีการออกกฏหมายหรือกฏเกณฑ์มากขึ้นและส่งผลกระทบความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทนี้ก็เป็นได้
หรือแม้แต่สงครามการค้าของอเมริกากับจีนตอนนี้ก็อาจจะส่งผลต่อความต้องการในสินค้าของบริษัทนี้ทำให้ผู้บริโภคชะลอตัวในการตัดสินใจซื้อสินค้าตัวนี้ได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้วการลงทุนที่รอบคอบจึงควรมีข้อมูลให้ครบให้รอบด้านที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ยิ่งโดยปัจจุบันนี้มีข้อมูลมากมายให้เข้าถึงได้ง่ายไปหมด เราก็เสียสละเวลาอ่านกันสักหน่อยเนาะ ก็จะช่วยให้การลงทุนของเรามีโอกาสที่จะกำไรและไม่ขาดทุนมากขึ้นด้วย
หลายคนซื้อหุ้นง่ายเหมือนซื้อขนมซื้อน้ำตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ฟังมาจากไหนไม่รู้ก็ซื้อตามได้เฉย แต่พอจะซื้อเสื้อผ้า มือถือ ตู้เย็น ทีวี นี่เทียบแล้วเทียบอีกจากหลายๆที่ บางทีเป็นวันยังตัดสินใจไม่ได้ ดังนั้นแล้วการซื้อหุ้นยิ่งเป็นการลงทุนที่มีโอกาสงอกเงยก็ขอให้ทำเหมือนซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้อะไรเหล่านั้นด้วยละกันครับ
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.