พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investing) จะยังใช้ได้อยู่มั้ย?

https://medium.com/@yonathanbadash14/value-investing-stockmarketblog-8d831dc11e86

จากบทความ “Dinimising Value” หรือมูลค่าที่ลดน้อยถอยลงใน The Economist ฉบับ 14th พฤศจิกายนสัปดาห์นี้มีการวิเคราะห์ถึงวิธีการลงทุนแบบเน้นคุณค่าว่าทุกวันนี้มันยังใช้ได้ผลอยู่มั้ย ซึ่งก็น่าสนใจ เราก็ไปหาอ่านกันครับ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นเริ่มที่จะกระเสือกกระสนที่จะยังเป็นวิธีการลงทุนที่ยังจะเวิคอยู่ เหตุผลหลักๆก็เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างไม่ปราณีของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) ซึ่งเป็นการยากนักที่จะวิเคราะห์

มันเป็นกว่ากว่า 20 ปีมาแล้วที่ดัชนี Nasdaq ที่เป็นดัชนีของหุ้นเทคโนโลยีทั้งหลายที่ล้มพับไปหลังจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าอย่างน่าทึ่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 90 จุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2000 นั้นเป็นจุดจบของฟองสบู่อินเตอร์เน็ต

จากการล้มพับของหุ้นอินเตอร์เน็ตทั้งหลายในตอนนั้นก็มีการปลดปล่อยออกมาอีกครั้งของการวิเคราะห์หุ้นโดยวิธีการแบบเน้นคุณค่าหรือที่เรียกกันจนเบื่อหูแล้วว่า Value Investing ซึ่งคิดคิดริเริ่มโดย Benjamin Graham ในช่วงปี 1930 ที่เรียกว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนในวิธีนี้ ซึ่ง Warren Bufett ก็ได้เป็นคนทำให้มันได้รับความนิยมขึ้นมา

ในสายนี้คำว่า value หรือคุณค่าเนี่ยก็หมายถึงการเลือกซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ผ่านมาไม่นานหรือมูลค่าทางบัญชีที่เรียกว่า book value of assets นักวิเคราะห์นั้นใช้วิธีวิเคราะห์ที่มันดูเลือนลางกว่านั้นเช่น ‘eyeballs’ หรือที่เรียกว่าจะมีคนเห็นกี่ตา หรือ ‘engagement’ หรือว่ามีคนมีส่วนร่วมมากแค่ไหน และถ้ามันดูใช้ความพยายามมากไป ก็มักจะลงไปที่คำว่า ‘opportunity’ หรือ โอกาส แทนซะงั้น

หลายๆคนตอนนี้เริ่มรู้สึกหวนกลับไปถึงช่วงฉิบหาย dotcom ในช่วงนั้นกับความบ้าบอของตลาดในทุกวันนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นในอเมริกานั้นจะมาจากหุ้นไฮโซทางเทคโนโลยีทั้งหลาย เช่นหุ้น Apple, Alphabet (Google), Facebook, Micrisoft และก็ Amazon

หุ้นที่เน้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอย่างสาวกของ Graham ทั้งหลายก็เริ่มเลือนหายไป แต่ทว่าการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงดำเนินไปอยู่ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นความร่ำรวยก็ดูเหมือนจะกลับข้างแล้ว มีการเทขายหุ้นเทคโนโลยีต่างๆ และหุ้นที่เน้นคุณค่าก็เริ่มจะปรับตัวขึ้นมาเมื่อโอกาสวัคซีนที่โควิด 19 จะสำเร็จนั้นมีสูงขึ้นทำให้โอกาสที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบปกตินั้นดูมีความหวังขึ้น นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มของการหมุนเปลี่ยนของหุ้นที่มีราคาสูงเกินไปของเทคโนโลยีไปยังหุ้นที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น หรือก็คือหุ้นที่มักจะมีผลงานที่ดีเมื่อเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง บางทีการลงทุนแบบเน้นคุณค่ามันอาจจะกลับมาก็ได้

มันอาจจะเป็นการทำให้วิธีการที่ใช้โดยนักลงทุนที่ประสพความสำเร็จในช่วงศตวรรษดูมีเหตุมีผลขึ้นมาก็ได้ที่ใช้ประเมินมูลค่าของบริษัทต่างๆ แต่ความเป็นจริงที่ไม่น่าฟังอย่างนึงก็คือลักษณะบางอย่างของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในทุกวันนี้

เมื่อยุคอุตสาหกรรมหนักนั้นเริ่มต้องหลีกทางให้กับยุคดิจิตอล มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการประเมินมูลค่าแบบเก่าๆอีกต่อไป อ้างอิงจากบทเรียงความของ Michael Mauboussin และ Dan Callahan แห่งการบริหารการลงทุนของ Morgan Stanley

หน้าที่การเลือกหุ้นนั้นก็จะยังคงเป็นการหาความได้เปรียบระหว่างช่องว่างระหว่างความคาดหวังจากตลาดกับพื้นฐานของบริษัท ระหว่างราคาหุ้น และมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนั้นๆ แต่งานนี้มันก็ยากลำบากมากขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนทุนจากทุนที่จับต้องได้ (tangible capital) เป็นทุนที่จับต้องไม่ได้ (intangible capital) จากเศรษฐกิจแบบที่โรงงาน ตึกสำนักงาน และเครื่องจักรต่างๆนั้นเป็นกุญแจสำคัญ ไปยังเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ซอฟ์ทแวร์ ไอเดีย แบรนด์ และความรู้ทั่วไปที่มีความสำคัญมากที่สุดในตอนนี้

การวัดมูลค่าของทุนที่จับต้องไม่ได้นั้นค่อนข้างจะบิดเบือนหรือไม่สะท้อนความเป็นจริงในการวัดหาค่ากำไรและมูลค่าทางบัญชีซึ่งทำให้มันเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้น้อยลงในการหามูลค่าของบริษัทนั้น

เราต้องมองหาวิธีการที่แตกต่างออกไปที่จริงจังกว่าเดิมซึ่งต้องมีพื้นฐานทางตรรกะและทฤษฏีทางการเงินที่ถูกต้อง ไม่ใช่วิธีการแบบตอน dotcom อย่างไรก็ดี มรดกตกทองของสำนักเก่าแบบการลงทุนที่เน้นคุณค่านั้นมันทำให้เป็นการยากสำหรับวิธีการใหม่ๆที่จะเข้ามา

เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมวิธีการลงทุนแบบ Graham นั้นถึงค่อนข้างได้รับความนิยมนั้น ให้ย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษที่ผ่านมาเมื่อตลาดหุ้นนั้นยังคงไม่อิ่มตัว ราคามักจะเป็นเหมือนเสียงรบกวน ความคิดเกี่ยวกับมูลค่านั้นค่อนข้างยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ การตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นมักจะมาจากการแนะนำกัน จากข้อมูลภายใน จากอคติ หรือความรู้สึกเลยทีเดียว

นักลงทุนรุ่นใหม่ๆก็พึ่งจะเกิดขึ้น ซึ่งรวมไปถึงผู้จัดการเงินทุนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ พวกเขามองเห็นว่าหุ้นนั้นมีข้อได้เปรียบมากกว่าพันธบัตรซึ่งมักจะได้รับการสนับสนุนจากการจำนอง การรถไฟ หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งมักจะได้รับความนิยมในระยาวจากนักลงทุนมากกว่า เช่นบริษัทประกันภัย

ในปี 1934 นั้น Graham ก็ได้ตีพิมพ์หนังสือที่ชื่อว่า “Security Analysis” ซึ่งนำเสนอการวิเคราะห์ทางตัวเลขอย่างละเอียดรวมไปถึงเทคนิคในการเลือกหุ้น และมีหนังสืออีกเล่มของ Graham ที่อาจจะอ่านง่ายกว่าและอาจจะมีอิทธิพลมากกว่าคือ “The Intelligent Investor” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949 ซึ่งการตีพิมพ์ครั้งแรกนั้นก็เต็มไปด้วยการวิเคราะห์ขั้นปรมาจารย์ซึ่งก็ยังใช้ได้อยู่ทุกวันนี้เหมือนกับ 70 ปีที่แล้ว

ระหว่างราคาและมูลค่าของหุ้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำกัน ราคาคือความรู้สึกของความโลภและความกลัว แต่มูลค่าที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งก็มาจากทุนจากมูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัทเช่น โรงงาน เครื่องจักร สำนักงาน และอื่นๆ

ซึ่งวิธีการนี้จะเน้นไปที่มูลค่าทางบัญชีของบริษัท การประเมินมูลค่าของหุ้นนั้นควรจะยืนพื้นบนกำไรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็มาจากการวิเคราะห์เทรนหรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอีกที มูลค่าหุ้นของสินทรัพย์ของบริษัทนั้นเป็นตัวตรวจสอบซ้ำอีกที แม้ว่าอดีตจะเป็นตัวบอกอนาคตแบบหยาบๆ แต่ Graham ก็แย้งว่ามันก็ยังเป็นวิธีการที่ยังน่าเชื่อถือและมีพื้นฐานมากกว่าวิธีการอื่นๆที่อนุมานขึ้นมากจากการมองในด้านบวกหรือด้านลบ

และเพื่อเป็นการเพิ่มความระมัดระวังอีกขั้น นักลงทุนก็ควรจะมีช่องว่างระหว่างราคาที่จ่ายกับมูลค่าที่แท้จริงเพื่อให้เกิดการเผื่อความผิดพลาดไว้ด้วย (margin of safety) จงเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและมองหาหุ้นที่มีค่า ราคาต่อกำไร หรือราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีที่ต่ำไว้

The Economist 14th November 2020

อย่างไรก็ดี สิบปีที่ผ่านมานั้นหุ้นที่ทำผลงานได้ดีกลับเป็นหุ้นที่มีการเติบโตหรือเรียกว่า grotwh stock มากกว่าหุ้นที่เน้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ value stock ซึ่งก็จะขัดๆกับลักษณะของเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้

ในยุคของ Graham นั้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่นั้นพึ่งพาทุนที่จับต้องได้เสมือนเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเลยทีเดียว แต่ทุกวันนี้หลายสิ่งมันก็เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่ทำให้บริษัทนั้นมีความแตกต่างออกไปนั้นไม่ใช่เพียงแค่ทรัพย์สินที่จับต้องได้ที่บริษัทมีอีกต่อไปเนื่องจากมาจากการกระจายตัวของเทคโนโลยีการผลิตออกไปยังทั่วโลกมากกว่าที่จะมีอยู่แต่ในประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น

ในเศรษฐกิจที่นำโดยบริการมากกว่านั้นมูลค่าของธุรกิจยิ่งมีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น หรือไม่สามารถนับได้ มากขึ้น ลองนึกถึงซอฟ์ทแวร์อย่างอัลกอลิทึ่มในการค้นหาของ google หรือระบบปฏิบัติการของ Windows ห่วงโซ่อุปทานหรือช่องทางการจำแนกแจกจ่ายสินค้าก็มีความสลับซับซ้อนไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่ายๆก็เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เช่นกัน รวมไปถึงทักษะและความสามารถของพนักงานในบริษัท หลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม กิจวัตรประจำวัน สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อนหลัง หรือการร่วมแรงร่วมใจของพนักงานนั้นไม่สามารถเขียนลงเป็นตัวอักษรหรือตัวเลขได้ แต่มันก็คือมูลค่าของบริษัทด้วยเหมือนกัน

Mauboussin นั้นบอกว่า มันมีแง่มุมสำคัญหลักๆของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้อยู่สามอย่าง อย่างแรกคือวิธีการวัดค่า อย่างที่สองคือคุณลักษณะสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นั้นๆ และอย่างที่สามคือนัยของวิธีการที่บริษัทนั้นๆได้รับการประเมินค่า

เริ่มที่วิธีการวัดค่าก่อน การวัดค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นั้นค่อนข้างจะดูยุ่งยากมีเล่ห์เหลี่ยม ค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เคยเป็นต้นทุนการผลิตอย่างเช่น R&D และการพัฒนาซอฟ์ทแวร์นั้นตอนนี้เสมือนว่าเป็นการใช้จ่ายด้านทุนแทน แต่การปฏิบัติต่อสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของบริษัทนั้นค่อนข้างจะยุ่งเหยิงและมั่วๆอยู่

แง่มุมสำคัญอย่างที่สองคือลักษณะเฉพาะของมัน ธุรกิจที่มีสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้มากในบริษัทมักจะประพฤติตัวแตกต่างจากบริษัทที่มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นั้นเรียกว่า “non-rival goods” ก็คือสามารถนำกลับมาใช้ได้เรื่อยๆและใช้ได้โดยหลายๆคนพร้อมๆกัน ลองนึกถึงสูตรยาทั่วไปหรือการออกแบบของเซมิคอนดัคเอตร์ ซึ่งทำให้มันไม่เหมือนกับสินค้าที่จับต้องได้ ที่ใช้ได้เฉพาะบุคคลหรือการผลิตเฉพาะที่คนอื่นๆไม่สามารถใช้พร้อมๆกันได้

ในหนังสือ “Captialism Without Capital” หรือแปลตรงๆว่าทุนนิยมแบบไม่ใช้ทุน ของ Jonathan Haskel และ Stain Westalke บอกไว้ถึง 4S ก็คือ Scalability (การเพิ่มขนาด), Sunkenness (ต้นทุนที่ไม่สามารถเอากลับมาได้), Spillovers (ผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ), และ Synergies (การรวมกันของสองอย่างขึ้นไปแล้วได้ผลดีกว่าแยกกันทำ) จากทั้งสี่ตัวนี้ Scalability นั้นสำคัญที่สุด

สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นั้นสามารถนำกลับมาใช้แล้วใช้อีกได้อีกโดยไม่มีเสื่อมหรือมีข้อจำกัดอะไร Scalability หรือการเพิ่มขึ้นของขนาดนั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นจากผลกระทบด้านเน็ตเวิค ยิ่งคนใช้มากยิ่งมีประโยชน์ต่อลูกค้า พวกเขาได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของขนาด ยิ่งใหญ่ขึ้นก็ยิ่งถูกลงในการบริการลูกค้าคนต่อไป

ธุรกิจใหญ่ๆในอดีตที่ได้รับประโยชน์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็คือ Google, Amazone, Facebook, Alibaba, และ Tencent บริษัทเหล่านี้ไม่มีใครคาดเดาในตอนนั้นว่าจะใหญ่ขนาดนี้ หรือแม้แต่บริษัทเก่าๆอย่าง Visa และ Master Card เช่นกัน ผลของมันคืออุตสาหกรรมก็จะถูกครอบงำโดยบริษัทไม่กี่บริษัทเท่านั้น

แง่มุมอย่างที่สามของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ก็คือนัยสำหรับนักลงทุน ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือกำไรและมูลค่าทางบัญชีนั้นค่อนข้างจะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆในการหามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท กำไรคือรายได้ลบด้วยรายจ่าย แต่ถ้ารายจ่ายเหล่านั้นถูกใช้ไปสำหรับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้แต่สามารถสร้างกระแสเงินสดกลับมาได้ในอนาคต ดังนั้นแล้วกำไรที่ได้ก็อาจจะมีการประเมินต่ำไป และก็รวมไปถึงมูลค่าทางบัญชีด้วยเช่นกัน และยิ่งบริษัทใช้จ่ายเงินใน R&D การอบรมพนักงาน การพัฒนาซอฟ์ทแวร์และอื่นๆมากขึ้น ภาพของบริษัทก็จะยิ่งถูกบิดเบือนมากขึ้นตามไปด้วย

ความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเรื่อยๆและการลงทุนนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุดสำหรับการวิเคราะห์หุ้น ส่วนนึงสำคัญของหน้าที่ก็คือการเข้าใจทั้งขนาดของการลงทุนและผลตอบแทนที่จะได้กลับมา ซึ่งประเด็นนี้เคยได้รับการตีพิมพ์มาแล้วเมื่อ 60 ปีที่แล้วจะ Merton Miller และ Francesco Modigliani นักเศรษฐศาสตร์สองคนที่ได้รับรางวัลโนเบิล

โดยพวกเขาได้แบ่งมูลค่าของบริษัทออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกพวกเขาเรียกว่า “Steady state” หรือสถานะที่มั่นคงและสม่ำเสมอ โดยสมมุติว่าบริษัทนั้นยังคงรักษากำไรแบบนี้ได้ต่อไปในอนาคต ส่วนที่สองคือ มูลค่าปัจจุบันที่คิดจากโอกาสการเจริญในอนาคต ก็คือว่าบริษัทจะกลายเป็นแบบไหนในอนาคต โดยส่วนที่สองนี้ขึ้นอยู่กับการลงทุนของบริษัทเอง ลงทุนเท่าไหร่ และผลตอบแทนจะได้กลับมาเท่าไหร่ และโอกาสจะมีได้ยาวนานแค่ไหน ซึ่งหากจะเริ่มประเมินสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะต้องหาอัตราลงทุนที่แท้จริง และผลตอบแทนที่แท้จริงต่อการลงทุนเหล่านั้น

ซึ่งโดยธรรมชาติของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นั้น การคำนวณเหล่านี้ก็จะค่อนข้างยุ่งยากและวุ่นวาย การลงทุนแบบเน้นคุณค่าในอดีตนั้นเน้นที่ “stead state” นี้แต่ได้ละเลยโอกาสการเจริญเติบโตในอนาคต บริษัทที่เกิดใหม่ที่จะเจริญเติบโตไปในในอัตราก้าวหน้านั้นก็จะต้องมีการประเมินในลักษณะนี้ สำหรับบริษัทที่มีผลตอบแทนสูงจากการลงทุน มันก็สมเหตุสมผลที่จะใส่เงินกลับเข้าไปในบริษัท และกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายในการลงทุนที่มากขึ้น

การเลือกผู้ชนะในเศรษฐกิจที่จับต้องไม่ได้และยังต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นในราคาที่สมน้ำสมเนื้อเพื่อโอกาสที่จะประสพความสำเร็จนั้นไม่ใช่สำหรับพวกใจเสาะจะทำได้ การลงทุนบางอย่างจะเหมือนโยนเงินทิ้ง sunkenness ก็คือต้นทุนบางอย่างไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ ผลกระทบด้านเน็ตเวิคนั้นอาจจะส่งผลให้ผู้ชนะได้ทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของตลาด แต่ในขณะที่เบอร์สองนั้นอาจจะได้เพียงแค่ส่วนน้อยนิดด้วยซ้ำไป

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้นดูเหมือนว่าจะปลอดภัยกว่า แต่ปัญหาของมันคือการเลือกหุ้นที่มีค่าราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี หรือราคาต่อกำไรที่ต่ำนั้นมันก็เป็นไปได้ว่าธุรกิจเหล่านั้นได้ผ่านช่วงที่ดีที่สุดของบริษัทตัวเองไปแล้วมากกว่าที่จะประสพความสำเร็จในอนาคต

แนวความคิดเกี่ยวกับมูลค่าทางพื้นฐานนั้นมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป มุมมองหลักของ Graham คือว่าราคานั้นบางครั้งจะตกหล่นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ก็คือให้ซื้อ และบางครั้งราคามันก็จะสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ก็คือให้ขาย

ในเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยสินทรัพย์ที่จับต้องได้ บางทีเราก็พึ่งหุ้นที่เติบโตและราคาพุ่งสูงมากเกินไปให้กลับลงมาสู่จุดที่สมดุลหรือเหมาะสมกว่าเดิมได้ และหุ้นแบบเน้นคุณค่าที่ตามหลังก็อาจจะตามทันกันทีหลังได้ แต่ในโลกที่การเพิ่มขึ้นของขนาดและได้ผลตอบแทนกลับมามากกว่าเดิมนั้น บริษัทที่เพิ่มขึ้นก็มักจะเพิ่มขึ้นอยู่นั่นแหละไม่ลงมาสักที

เศรษฐกิจนั้นเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว วิธีที่นักลงทุนควรจะคิดเกี่ยวกับการประเมินมูลค่ามันก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ทุกวันนี้การประเมินมันยากมากเนื่องจากความแตกต่างระหว่างหุ้นเทคโนโลยีและหุ้นเน้นคุณค่ามันแตกต่างกันมาก ลักษณะที่น่าดึงดูดใจของการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคือมันจะยึดเกี่ยวกับอะไรที่พอจับต้องได้ ในทางกลับกันการประเมินมูลค่าแบบมองไปข้างหน้านั้นโดยธรรมชาติแล้วก็ออกแนวเก็งกำไรมากกว่า ฟองสบู่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนบางคนอาจจะคาดการณ์ไปไกล อย่างไรก็ดี ถ้าหากวันนี้ Ben Graham ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็อาจจะต้องทบทวนวิธีคิดเช่นเดียวกัน คงจะไม่มีใครแม้ว่าจะเป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าก็ตามบอกว่า การเลือกหุ้นนั้นมันง่ายอ่ะเนาะ

อ้างอิง:

https://www.economist.com/briefing/2020/11/14/value-investing-is-struggling-to-remain-relevant

Leave a Reply