ปกติแล้วในงบดุล (balance sheets) จะมีส่วนที่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียน (current assets) และ หนี้สินหมุนเวียน (current liabilities) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
สินทรัพย์หมุนเวียนคือสินทรัพย์ที่สามารถแปลงสภาพเป็นเงินสด (cash) ได้ในระยะเวลาที่สั้นหรือสมเหตุสมผลหากธุรกิจต้องการที่จะใช้เงินสดนั้น (ปกติแล้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ หรือ ไม่เกิน 1 ปี) ซึ่งบางครั้งอาจจะเรียกว่าเป็นสภาพคล่องหรือสินทรัพย์ลอยตัว (floating assets)
หานท่านใดเคยอ่านงบการเงินมาบ้าง จะเห็นได้ว่าโดยภาพกว้างๆแล้วสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ 1. เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (cash and its equivalents) 2. เงินค้างรับ (receivables) และ 3. สินค้าคงคลัง (inventories) เพื่อรอการขาย หรือ เพื่อรอแปลงสภาพเป็นสินค้าหรือบริการสุดท้าย
ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท สินทรัพย์เหล่านี้จะค่อยๆแปลงสภาพเป็นเงินสดทีละน้อย เช่น ในช่วงท้ายของงบดุลสินค้าคงเหลือในปัจจุบันก็จะกลายเป็นเงินสดและลูกหนี้การค้าในที่สุด ปกติแล้วรายการในสินทรัพย์หมุนเวียนนั้นจะเรียงจากสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง (liquidity) ที่สูงที่สุดก่อนและลดหลั่นลงไป
เพื่อให้เห็นภาพ เรามาลงรายละเอียดกันสักเล็กน้อยตามที่ได้กล่าวไปทั้ง 3 ประเภท
- เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด (cash and its equivalents).
- เงินฝากที่อยู่ในบัญชีธนาคารต่างๆ รวมทั้งตั๋วฝากเงิน (bank deposits)
- เงินฝากหรือเงินกู้เผื่อเรียก
- เงินลงทุนชั่วคราว
- เงินฝากพิเศษ (special deposits)
- หลักทรัพย์รัฐบาล หรือหลักทรัพย์อื่นๆ (government securities)
- เงินค้างรับ (receivables)
- ลูกหนี้การค้า (account receivables)
- ตั๋วเงินค้างรับ (notes receivables)
- ดอกเบี้ยค้างรับ (interest receivables)
- สินค้าคงคลัง (inventories)
- สินค้าพร้อมจำหน่าย (salable)
- สินค้ารอการแปลสภาพ (convertible)
- วัตถุดิบต่างๆ
เงินค้างรับบางประเภทอาจจะไม่ถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนหากบัญชีเหล่านี้ไม่สามารถชำระหรือจะได้รับภายในหนึ่งปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เงินค้างรับเหล่านั้นจะไม่ถูกแสดงอยู่ในส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียน
แต่ในทางกลับกัน ปกติแล้วยอดเงินค้างรับที่เป็นส่วนของลูกหนี้การค้า (account receivables) ทั้งหมดก็มักจะถูกแสดงอยู่ในสินทรัพย์หมุนเวียนแม้ว่าเงินค้างรับส่วนใหญ่ของลูกหนี้การค้านั้นอาจจะไม่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีก็ตามนับจากวันที่แสดงไว้ในงบดุล
สินค้าคงคลังที่พร้อมจำหน่ายก็มักจะถูกรวมไว้ในสินทรัพย์หมุนเวียนเช่นกันแม้ว่ามันอาจจะค้างอยู่ในโกดังมากกว่าหนึ่งปีก็ตาม
จากตารางข้างล่างเป็นตัวอย่างหนึ่งของสินทรัพย์หมุนเวียนจากบริษัทนึงในตลาดหุ้นบ้านเรา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่มีบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่มากพอที่จะแปลงเป็นเงินสดได้ภายในหนึ่งปี ก็ทำให้เห็นว่าในระยะสั้นนั้นบริษัทไม่น่าจะมีปัญหาเงินทุนในการดำเนินงานเท่าใดนักหากมีความเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแปลงสภาพเป็นเงินสด
อย่างไรก็ดี ตัวเลขทางการเงินไม่สามารถดูอะไรได้แค่ตัวเลขเดียว และกรณีนี้จะดูแค่ฝั่งสินทรัพย์หมุนเวียนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องดูหนี้สินหมุนเวียนด้วยซึ่งจะมาว่ากันในครั้งต่อไปครับ
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.