หลายๆท่านที่เคยเดินทางไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะไปพักผ่อนหรือทำงาน คงจะทราบกันดีว่าก่อนจะเดินทางไปยังประเทศนั้นท่านต้องศึกษาดูก่อนว่าประเทศดังกล่าวใช้สกุลเงินอะไร แล้วอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทของเรากับสกุลเงินประเทศนั้นมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เท่าไหร่ เช่น เงินบาท 29.57 บาท สามารถแลกเงินเยนของญี่ปุ่นได้ 100 เยน เป็นต้น
ทีนี้นอกจากเวลาเราจะไปเที่ยวหรือไปทำงานยังต่างประเทศแล้ว เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าอัตราแลกเปลี่ยนนี้มีผลกระทบต่ออะไรอย่างอื่นอีกบ้าง ผลกระทบต่อสิ่งอื่นก็คือ อย่างเช่น ผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ผลกระทบต่อราคาหุ้น ผลกระทบต่อการลงทุนจากในประเทศหรือต่างประเทศ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีผลกระทบต่อหลายๆส่วน และเมื่อเงินแข็งค่า (appreciation) หรือ อ่อนค่า (depreciation) มากเกินไป เราก็อาจจะพบหรือได้ยินข่าวว่าธนาคารกลางของประเทศนั้นอาจจะเข้าแทรกแซงค่าเงิน (intervention) เพื่อพยายามรักษาให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ (stability) และป้องกันไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนนั้นแกว่งตัวมากหรือเปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไป
ก็จะมีคนสงสัยต่ออีกว่าเมื่อเงินอ่อนค่าหรือแข็งค่าแล้วเนี่ย มันเกี่ยวอะไรกับเรา บางท่านที่ไม่ได้ทำธุรกิจหรือทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอะไรที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็อาจจะไม่ถึงกับรู้สึกอะไรมากนัก แต่สำหรับบริษัทที่ทำการส่งออกสินค้า (export) หรือนำเข้า (import) นั้นก็จะมีผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ค่าเงินที่อ่อนค่า (weak currency) จะส่งผลให้การส่งออกของประเทศนั้นมีความได้เปรียบทางการแข่งขันสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าโดยเปรียบเทียบกันแล้วจะมีราคาถูกกว่า อย่างไรก็ดีค่าเงินที่อ่อนค่านั้นจะส่งผลให้การนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าสูงขึ้น และผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อไป จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผลกระทบก็จะสามารถแจกแจงเป็นข้อๆได้พอสังเขปดังนี้
ผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว (price impact on tourists)
สมมุติว่าเงินบาทอ่อนค่าจาก 29.57 บาทเป็น 30 บาท แต่สามารถแลกเป็นเงินเยนได้ 100 เยนได้เท่าเดิม เท่ากับว่าคนไทยเราต้องจ่ายเงินสูงขึ้นแต่ได้เงินเยนเท่าเดิม ดังนั้นเวลาเราไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็เปรียบดังว่าเราจ่ายเงินเพื่อซื้อของ อาหาร เดินทาง พักโรงแรม ช้อปปิ้งอะไรหลายอย่างในราคาที่แพงขึ้น ทำให้คนไทยหลายคนอาจจะงดหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นออกไปก่อน เนื่องจากอำนาจการซื้อของเงินบาทเราลดลงนั่นเอง
ในทางกลับกันจากการที่เงินบาทอ่อนค่า ก็จะส่งผลให้คนญี่ปุ่นนั้นเดินทางมาเที่ยวไทยมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้เงิน 100 เยน และสามารถแลกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ประหนึ่งว่าอำนาจการซื้อของเงินเยนนั้นสูงขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยได้สูงขึ้นกว่าเดิม
ผลกระทบต่อบริษัทและราคาหุ้น (impact on companies and stock prices)
ผลกระทบต่อกำไรของบริษัทนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นมีสัดส่วนในการนำเข้าวัตถุดิบหรือการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน หากรายได้ของบริษัทไทยที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนสูง เมื่อเงินบาทอ่อนค่าก็เท่ากับว่าต้องใช้เงินบาทที่มากขึ้นเพื่อนำเข้าสินค้าในจำนวนเท่าเดิม ก็จะส่งผลให้ต้นทุนในการนำสินค้าเข้ามาขายนั้นสูงขึ้น แต่หากว่ารายได้จากบริษัทไทยที่มีการส่งออกสินค้าไปขายยังญี่ปุ่น เมื่อเงินบาทอ่อนค่า ก็จะส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น (เนื่องจากว่าขายสินค้าในญี่ปุ่นในราคาเท่าเดิม แต่แลกกลับมาเป็นเงินไทยได้มากขึ้น) สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัททั้งนั้น การแข็งค่าของเงินบาทก็จะส่งผลตรงข้ามกัน
ฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าหากเงินบาทอ่อนค่า บริษัทที่ส่งสินค้าออกไปขายยังญี่ปุ่นเป็นหลักก็จะมีรายได้กลับมาเป็นเงินบาทสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสูงขึ้น และการประเมินราคาหุ้นก็จะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นไปด้วย ในทางกลับกันหากบริษัทต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นในสัดส่วนที่สูง ต้นทุนการนำเข้าก็จะสูงขึ้น ส่งผลต่อกำไรที่อาจจะลดลง และทำให้การประเมินราคาหุ้นอาจจะลดต่ำลงไปด้วย
ผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ (impact on foreign investment)
ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากๆ บริษัทจากญี่ปุ่นก็อาจจะพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มในไทย อาจจะพิจารณาเข้าซื้อบริษัทไทย หรือถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากบริษัทในไทย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ในทางกลับกัน บริษัทจากไทยก็อาจจะเลื่อนการขยายการลงทุนไปยังประเทศญี่ปุ่นออกไปก่อนเนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นก็จะมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ผลกระทบก็จะตรงข้ามกันหากเงินบาทมีการแข็งค่ามากขึ้นเรื่อยๆ
สรุป…
จะเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบหลายๆฝ่ายตั้งแต่นักท่องเที่ยวยันบริษัทที่ดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนจะขึ้นจะลงมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายๆอย่าง ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยที่จะคาดเดาได้ง่ายๆ แม้แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์ และปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายๆปัจจัยในช่วงนั้น (นักลงทุนระยะยาวจึงไม่ควรซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นอาชีพ เนื่องจากโอกาสหมดตัวสูงมากและคาดเดาไม่ได้เลย)
ดังนั้นแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวก็อาจจะเป็นการดีสักนิดในการเช็คอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวางแผนไปเที่ยวยังต่างประเทศ บริษัทต่างๆก็อาจจะทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าไว้หากต้องมีการนำเข้าเครื่องจักร สิ่งของ วัตถุดิบทั้งหลาย หรือแม้แต่จะทำการแลกเงินรายได้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศกลับมายังสกุลไทย สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยลดความผันผวนของความเสี่ยงที่บริษัทจะเจอในการดำเนินธุรกิจได้
Blenlit
Hakwarmroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.