เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลของประธานธิบดีทรัมป์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่ปั่นหรือบิดเบือนค่าเงินของตัวเอง (currency manipulator) เพื่อให้ค่าเงินหยวนมีการอ่อนค่าลง (weak currency) ซึ่งไปต่ำกว่า 7 หยวนต่อ 1 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปีเลยทีเดียวนับตั้งแต่พฤษภาคม 2008 นู้น
แล้วการบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation) คืออะไร?
การบิดเบือนค่าเงินก็คือการที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆมีการใช้นโยบายทางการเงินในการแทรกแซงค่าเงินของสกุลเงินของตัวเองเพื่อให้ได้ค่าเงินที่ตัวเองต้องการ โดยที่ทางธนาคารกลางจะทำการเข้าซื้อหรือทำการขายสกุลเงินต่างประเทศ (foreign currency) เพื่อแลกกับเงินสกุลของตัวเอง (domestic currency)
โดยผู้วางนโยบายก็อาจจะมีได้หลายๆเหตุผลที่ทำให้ต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินของตัวเอง อย่างเช่น ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ต้องการสร้างความมีเสถียรภาพทางการเงิน ต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศให้คงอยู่และต่อเนื่อง
ประเทศต่างๆที่มีสัดส่วนการส่งออกเป็นตัวผลักดันทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตในสัดส่วนที่สูง (ไทยเราก็เช่นกัน) ก็มักจะอยากที่จะให้ค่าเงินของตัวเองนั้นอ่อนค่ามากกว่าแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่อ้างอิงอยู่ (แม้ว่าการอ่อนค่ามากเกินไปก็ไม่ได้แปลว่าจะดีนัก) เนื่องจากว่าเวลาที่เงินอ่อนค่านั้น ราคาสินค้าส่งออกของประเทศนั้นๆก็จะเทียบแล้วดูราคาถูกกว่าในสายตาของผู้ซื้อ
ตัวอย่างเช่น ปกติหากไทยเราส่งออกข้าวไปยังประเทศต่างๆโดยขาย 1 ตัน ด้วยราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ก็จะทำให้ไทยเรามีรายได้ที่ 3,000 บาทต่อ 1 ตันที่ส่งออกไป ทีนี้ลองนึกภาพว่าหากแบงค์ชาติของเรา (bank of Thailand) ได้เทขายเงินบาทแล้วซื้อสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาเก็บไว้แทน การเทขายก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่า สมมุติว่าทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ
นั่นก็แปลว่าไทยเราก็จะมีรายได้มากขึ้นไปอยู่ที่ 3,300 บาทต่อการส่งออกข้าว 1 ตัน ส่งผลให้เรามีกำไรมากขึ้น มีเงินเหลือเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้มากขึ้น หรือแม้แต่มีช่องว่างให้เราสามารถลดราคาลงจาก 100 เหรียญมาอยู่ที่ 91 เหรียญสหรัฐก็ได้ แต่ยังได้รายได้ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อ 1 ตัน เท่าเดิม (90.9090 x 33 = 3,000) การแข็งค่าของเงินบาทก็จะส่งผลในทางตรงกันข้ามนั่นเอง
ทีนี้ก็จะเห็นได้ว่าใครๆก็อยากจะมีค่าเงินที่อ่อน แม้แต่ประเทศที่ใหญ่ยักษ์อย่างจีนก็มีการส่งออกในสัดส่วนที่สูง และก็อยากมีค่าเงินหยวนที่อ่อนเพื่อที่สินค้าของตัวเองยังสามารถขายได้ดีและแข่งขันได้ในตลาดโลกนั่นแหละนะ แต่ว่านั่นก็คือการกล่าวหาโดยประเทศสหรัฐฯเองที่เสียประโยชน์แน่นอนหากเงินหยวนยังอ่อนค่าอยู่แบบนี้ ซึ่งประเทศจีนก็แย้งว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนนั้นเกินจากการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งต่างๆหลายๆอย่างต่างหาก

ในฐานะนักลงทุนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างเราๆก็ไม่ควรไปกะเก็งตลาดอะไรมากโดยเฉพาะหากไม่ได้มีเวลาศึกษาอะไรมากมายเพราะต้องทำงานประจำกัน การซื้อกองทุนที่อ้างอิงตามดัชนีตลาดซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงไว้ระดับนึงแล้วและก็มักจะเป็นกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำพอรับได้ (สำหรับกองทุนประเภทอื่นๆทั่วไป จะเก็บที่ประมาณ 2% ซึ่งถือว่าสูงมาก) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ความปวดหัวน่าจะน้อยกว่าการคอยกะเก็งว่าวันนี้พรุ่งนี้ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมาทวีตอะไรใส่จีนอีก
เราก็ไม่รู้ว่าสองประเทศผู้ยิ่งใหญ่นี้จะยังคงเล่นเกมส์นี้กันไปอีกนานเท่าไหร่ แต่หากเรากลัวจนไม่ลงทุนอะไรเลย เก็บเงินไว้ในธนาคารอย่างเดียวเพื่อดอกเบี้ยอันน้อยนิด เงินเฟ้อก็จะคอยกัดกินเงินเราเองอีก ดังนั้นแล้ว การลงทุนในตลาดหุ้นมีความเสี่ยง การจะเปิดร้านกาแฟก้อมีความเสี่ยง การฝากเงินไว้ในแบงค์เฉยๆก็มีความเสี่ยงเหมือนกันหมด สิ่งที่เราทำได้คือต้องรู้ว่าเราเสี่ยงกับอะไรได้บ้างและเรารับความเสี่ยงอะไรได้แค่ไหน แต่ความเสี่ยงที่สุดคือการไม่เสี่ยงอะไรเลยนี่แหละครับ
ช่วงนี้ก็ได้หยุดยาวกันอีกแล้วในวันแม่นี้ ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับเพื่อนและครอบครัวครับ มัวทำแต่งานไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาใช้ชีวิต ก็ไม่รู้จะหาเงินไปทำไมมากมายเนาะ ถึงเวลาพักเราก็พักกันเนาะ
อ้างอิง:
https://www.bangkokpost.com/business/1726779/yuan-at-weakest-level-in-11-years
https://www.economist.com/the-world-this-week/2019/08/10/business-this-week
https://en.wikipedia.org/wiki/Currency_manipulator
blenlit
hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.