พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

Covid-19 และความโกลาหลในตลาดหุ้น (Covid-19 and Market turmoil)

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คงไม่ต้องบรรยายกันมากถึงการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลกเนื่องจากความหวาดกลัวของ COVID-19 ที่แพร่กระจายไปยังหลายๆประเทศทั่วโลกและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

จากตารางด้านบนจะเห็นว่าเพียงแค่สัปดาห์เดียว ตลาดหุ้นไทยนั้นมีการปรับตัวลงไปถึง -9.2% เลยทีเดียวและเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมานั้น ตลาดหุ้นไทยก็ได้มีการปรับตัวลงไปแล้วถึง -13.5% ซึ่ง S&P500 ก็ปรับตรงลงไปที่ -8% ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ลงไปเพียงแค่ -3.5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา ก็ยังถือว่าไม่แย่นัก

ถ้ามองเพียงแค่ว่าตลาดปรับตัวลงถึง -13.5% ก็อาจจะดูแย่พอสมควร แต่หากเราลองกลับมาดูตัวเลขอื่นๆประกอบกันด้วย โดยในระดับที่ตลาดหุ้นปิดที่ 1,340.52 จุดนี้ ตัวเลข Market Price-to-Earnings Ratio หรืออัตราส่วนราคาต่อกำไรของตลาดหุ้นไทยเรานั้น ณ เวลานี้ก็อยู่ที่ 15.71 เท่าเพียงเท่านั้น

Market Price-to-Book Value หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีก็อยู่ที่ 1.49 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก (แม้ว่าลึกๆแล้วมูลค่าหุ้นทางบัญชีจะบอกเพียงแค่ว่ามีการใส่เงินเข้าไปในบริษัทเท่าไหร่แล้วเพียงแค่นั้น) Market Yield หรือผลตอบแทนต่อราคาก็อยู่ที่ 3.71% ซึ่งก็ถือว่าให้ผลตอบแทนที่สูงพอสมควร

เอ้า! พูดแบบนี้ก็แปลว่าให้รีบเข้าไปซื้อเลยใช่มั้ยเพราะราคาถูกแล้ว? ระดับราคาตลาดหุ้นจะไม่ลงมากกว่านี้แล้วใช่มั้ย? ถึงเวลา “ช้อน” แล้วใช่่มั้ย? คำถามเหล่านี้ หากใครตอบได้ก็คงจะถือว่าคนนั้นเก่งมากเลยทีเดียวที่สามารถจับจังหวะตลาดหุ้นได้ขนาดนั้น

ผมอยากชวนให้มาลองมองแบบนี้กันดีกว่า ลองนึกภาพว่าหากเรามองการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว โดยที่อายุหลายๆท่านในขณะนี้อาจจะอยู่ในช่วง 20+, 30+ 40+ หรือแม้แต่ 50+ นั่นแปลว่าว่าท่านจะนำเงินออกมาใช้จริงๆในช่วงเกษียณนั้นก็คืออีก 40+, 30+, 20+, หรือ 10+ เลยทีเดียว (สมมุติว่าเกษียณอายุกันที่ 60 ปี)

เมื่อคิดได้เช่นนี้ คำถามต่อไปก็คือ แล้วจะแคร์ทำไมหากตลาดลงหนักหน่วงแค่ไหน? ยิ่งเป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่เราจะได้ “ของลดราคา” หรือเปล่า? เนื่องจากราคาต่อกำไรดังที่กล่าวไปนั้นก็ไม่ได้อยู่ในระดับ 30 เท่าหรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ

(เหมือนเวลาเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มีการลดราคาระหว่างปี) เรายิ่งควรจะซื้อสะสมไปเรื่อยๆมากกว่า เพราะกว่าจะได้ใช้เงินจริงๆก็อีกอย่างน้อยเป็น 10+ ปีนู่น

แน่นอน สำหรับนักลงทุนที่มองการลงทุนเป็นเรื่องเก็งกำไรแบบสั้นๆ ทำนอง trader สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะทำให้ท่านๆเหล่านั้นนอนไม่หลับกันเลยทีเดียว ยิ่งท่านใดกู้เงินมาเล่นหุ้นด้วยแล้ว ก็ตัวใครตัวมันละกันครับ

หากดูกราฟด้านบนจะเห็นว่า (ประหนึ่ง) ตลาดหุ้นเรามีการลดราคาในรอบเกือบห้าปีเลยทีเดียว หรือหากจะขยับไปดูในมุมกว้างของตลาดโลกหน่อยก็จะเห็นว่าราคาทองนั้นเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียง +10% เลยทีเดียวในช่วงต้นปีมา เนื่องจากนักลงทุนเอาเงินไปพักไว้ที่นั่น แต่ลองคิดเลยไปสักนิดก็จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวราคาทองก็ต้องลงแรงอีกเช่นกัน เมื่อไวรัสเริ่มเข้าสู่สภาวะที่ควบคุมได้ และบรรยากาศการลงทุนดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถกะเกณฑ์ได้ 100% ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

แน่นอนว่าระดับดัชนีที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่สุดก็คือ สายการบิน การโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสันทนาการต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า MSCI Wolrd Airlines Index (ดัชนีสายการบินทั่วโลก) ได้ปรับตัวลดลงไปถึงเกือบ -20% เลยทีเดียว

เมื่อเห็นภาพต่างๆได้ดังนี้แล้ว สิ่งที่ควรจะทำตอนนี้ก็คือ ต้องอดทนครับ นั่งทับมือไว้ หาความรู้เพิ่ม แล้วก็ค่อยๆหาจังหวะสะสมหุ้นอย่างค่อยไปค่อยไป ในความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อวันที่อะไรๆเข้าสู่ภาวะปกติจะมาถึงแล้วเราจะพร้อมลงทุนกันอย่างยาวๆครับ

อ้างอิง:

https://www.economist.com/printedition/2020-02-29

https://www.settrade.com/settrade/home

https://www.set.or.th/en/market/setindexchart.html

https://www.economist.com/finance-and-economics/2020/02/27/markets-wake-up-with-a-jolt-to-the-implications-of-covid-19

Nomura Weekly Report

blenlit

hakwamroo.com

Leave a Reply