ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงเดือนตุลาคมมานี้ ตลาดหุ้นไทย ณ เมื่อวานนี้ปรับตัวลงไปประมาณ 5% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2017 ก็จะใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่าปีนี้ตลาดหุ้นไทยไม่ไปไหนสักเท่าไหร่
ข้อดีของการปรับตัวลงของตลาดหุ้นก็จะทำให้เรามีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากราคาหุ้นหลายๆตัวก็จะมีราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับมูลค่าของมัน
หลายๆคนเวลาจะตัดสินใจลงทุน(หรือเก็งกำไร) ก็มักจะยึดติดกับ “ราคา” หุ้นมากเกินไปโดยที่ไม่ค่อยคำนึงถึง “มูลค่า” หุ้นเท่าไหร่ วันนี้เลยอยากจะแยกแยะระหว่างคำว่า “ราคา” (price) กับ “มูลค่า” (value)
โดยทั่วไปแล้ว ราคาหุ้น จะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์กำไร (earnings estimate) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัทนั้นๆ ซึ่งแน่นอน การคาดการณ์ก็คือการคาดการณ์ เราไม่มีทางรู้ว่า กำไรที่จะเกิดขึ้นจริงนั้นจะเป็นเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งเมื่อมันคือการคาดการณ์ดังนั้นมันก็จะขึ้นอยู่กับแนวโน้ม (trend) ที่พอจะมองเห็นได้
และแนวโน้มก็มักจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน บวกกับข้อมูลในอดีตอีกที ความคาดหวังต่อเหตุการณ์ใหม่ๆที่จะมากระทบกับข้อมูลที่มีอยู่ก็จะมีส่วนช่วยในการกำหนดราคาในหลายๆครั้งด้วย
ดังนั้นแล้วราคาหุ้นนั้นก็จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรในอดีตหรือปัจจุบันเท่ากับที่คนส่วนใหญ่ “คิดว่า” กำไรในอนาคตจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีอาจจะมีปัจจัยอื่นๆที่อาจส่งผลต่อราคาหุ้น ณ ช่วงหนึ่งๆ เช่น ปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยทางจิตวิทยา เงินกู้พิเศษที่ได้รับชั่วคราว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ในกรณีปกติทั่วไป ราคาหุ้นก็มักจะเป็นผลมาจากการคาดการณ์หลายๆอย่างของกำไรที่จะเกิดขึ้นใน 6 เดือน ใน 1 ปี หรือมากกว่านั้นในอนาคต ซึ่งการคาดการณ์เหล่านี้อาจจะผิดเพี้ยนไปมากเลยก็ได้ หรือบางครั้งอาจจะใกล้เคียงหรือถูกต้องมากก็ได้ ซึ่งการซื้อการขายหุ้นของคนส่วนใหญ่จากการคาดการณ์หลายๆอย่างก็จะเป็นตัวกำหนดราคาหุ้นในปัจจุบันนั่นเอง
หลายๆครั้งเราจะได้ยินเกี่ยวกับความคิดที่ว่า เราควรจะขายหุ้นที่ราคาคิดเป็นจำนวนกี่เท่าของกำไรดี ซึ่งอันนี้มันออกจะเป็นการหาทางออกในทางปฏิบัติมากกว่ามาจากตรรกะที่ควรจะเป็น
การที่จะตัดสินซื้อขายหุ้นโดยดูเพียงอัตราส่วนราคาต่อกำไรอย่างเดียวนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอเลย อีกอย่างคนส่วนใหญ่หรือตลาดนั้นก็มักจะคาดการณ์ราคาหุ้นด้วยการใส่ปัจจัยเรื่องแนวโน้มและความคาดหวังต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ด้วยแล้ว
ราคาหุ้นของบริษัทโดยทั่วไปที่ตลาดคิดว่ากำไรไม่น่าจะเพิ่มขึ้นได้มากในอนาคตก็มักจะมีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (price-earnings ratio) ที่ต่ำ และในทางกลับกัน บริษัทที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคตก็มักจะมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรที่สูง
บริษัทสองบริษัท อาจจะแสดงให้เห็นว่ามีกำไรต่อหุ้นที่เท่ากัน จ่ายเงินปันผลต่อหุ้นเท่ากัน และอาจจะมีสถานะทางการเงินที่ดีพอๆกันได้เลยก็ได้
แต่หุ้น ก อาจจะมีราคาที่สูงกว่าหุ้น ข เป็นสองเท่าเลยก็ได้เช่นกันหากเพียงแค่ตลาดเชื่อว่า หุ้น ก จะทำกำไรได้ดีกว่า หุ้น ข ในปีหน้าหรือปีต่อๆไป
เมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบตลาดไม่ว่าจะในช่วงเศรษฐกิจดีๆหรือช่วงถดถอย ราคาหุ้นก็มักจะได้รับผลกระทบเสมอ (สงครามการค้าอเมริกากับจีนที่แรงขึ้นอย่างเช่นตอนนี้) และหากราคาหุ้นมีการเบี่ยงเบนมากเกินไปจากข้อเท็จจริงหรือตัวเลขที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันก็มักจะวิ่งกลับมาในภายหลังเมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านไป (แม้ว่า ณ เวลานั้นอาจจะดูไม่ออก) และตลาดก็มักจะตกใจกับเหตุการณ์ที่มากระทบมากเกินความเป็นจริงไม่ว่าปัจจัยนั้นจะส่งผลดีหรือไม่ดีต่อราคาหุ้นก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ในหลายๆมิติ (หลายๆตัวเลขทางการเงิน หลายๆข้อเท็จจริง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ฯลฯ) รวมกันก็จะประกอบกันขึ้นเป็นมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็น ซึ่งการจะคาดการณ์มูลค่าหุ้นได้อย่างถูกต้อง ก็จะมาจากความสามารถในการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ซื้อหุ้นในราคาที่เหมาะสมโดยที่มีความเสี่ยงที่รับได้นั้นก็เป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการลงทุน (แต่มันก็ไม่ง่ายไม่งั้นคงรวยกันหมดละ)
การมองไปยังข้อมูลในอดีตอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอและอาจจะส่งผลร้ายมากกว่าดีด้วยซ้ำหากยึดติดกับข้อมูลในอดีตมากเกินไป
ท้ายที่สุดแล้วการเลือกหุ้นนั้นก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของการลงทุนแต่ผลตอบแทนที่ได้จะค่อนข้างสูงหากทำได้ถูกต้อง สภาพจิตใจที่เหมาะสม อารมณ์ที่มั่นคง (temperament) ไม่โลดโผนไปตามการขึ้นลงของอารมณ์ตลาด (market sentiment) ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและข้อเท็จจริงในอดีตบวกกับการคาดการณ์อย่างมีตรรกะต่อเหตุการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต รวมไปถึงการศึกษาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผลตอบแทนที่เราจะคาดหวังได้อย่างเป็นจริงในอนาคต
อย่างที่ปู่วอเรน บัฟเฟต เคยกล่าวไว้ว่า “Price is what you pay. Value is what you get” หรือ “ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย แต่คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ”
blenlit
Hakwarmroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.