หลังจากอ่านบทความ “Money really can buy happiness and recessions can take it away” จาก The Economist ฉบับ 11th กรกฏาคม (วันนี้) ก็รู้สึกสองจิตสองใจ ว่าจะเอามาสรุปไว้ดีมั้ย
ที่ลังเลก็เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะไม่มีข้อสรุปอะไรที่แท้จริงและยั่งยืนและมีมากมายหลายมิติให้มอง หลายๆอย่างเวลาเปลี่ยนไป คำถามเปลี่ยนไป คำตอบก้อเปลี่ยนตาม
บางแหล่งค้นคว้าก็บอกว่าคนเรามีความสุขจากความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากกว่าจากการไล่ตามหาวัตถุ อย่างเช่น Harvard Research on Happiness โดยหาดูได้จากลิงก์นี้ ถ้าท่านใดขี้เกียจหาอ่าน ประมาณ 12 นาที (https://youtu.be/8KkKuTCFvzI)
ส่วนจากบทความนี้เราก็ลองอ่านและคิดตามก็เอาเท่าที่เชื่อและสามารถนำไปใช้ประยุกต์กับชีวิตตัวเองได้ก็พอแล้วกันเนาะ
จากบทความนี้เป็นบทสำรวจความคิดเห็นจากประชากรในประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งผลสำรวจบอกว่าจาก 145 ประเทศ ประชากรที่ค่อนข้างร่ำรวยนั้นบอกว่าพวกเขาค่อนข้างพอใจและรู้สึกมั่นคงในชีวิตของตัวเอง
ดูกราฟหลายๆกราฟข้างบนแล้วอ่านจะรู้สึกมึน แต่ไม่ต้องกังวลไป สาระของมันแค่พยายามจะบอกว่า เขาไปสอบถามความพึงพอใจในชีวิต (life-satisfaction) บนสเกล 1-10 โดยที่ 10 คือมีความพอใจในชีวิตที่เป็นไปได้มากที่สุดแล้ว และนำความพอใจในชีวิตนี้ไปเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือรายได้ต่อคนของประเทศนั้นๆที่ทำการสำรวจ
บทความก็พยายามบอกว่า GDP เป็นตัวเลขบ่งชี้ที่ใช้วัดรายได้ทั่วไปของความเจริญของประเทศนั้นๆ แต่ก็ค่อนข้างโดนอัดในหลายๆประเด็นที่ว่า การวัดการใช้จ่ายสินค้าและบริการและการลงทุนนั้นไม่สามารถวัดมูลค่าที่ประชากรได้รับความพอใจจากการใช้สินค้าเช่น Google และ Facebook (อืมเนาะ ประเทศเราก็เป็นอันดับที่ 8 ของโลกที่ใช้ Facebook นี่ด้วยเหมือนกัน https://www.statista.com/statistics/268136/top-15-countries-based-on-number-of-facebook-users/)
และ GDP ก็ยังโดนโจมตีว่าไม่สนใจด้านอื่นๆเช่นการพัฒนา สุขภาพส่วนบุคคล เวลาพักผ่อนหย่อนใจ และก็ความสุข
อย่างไรก็ดี บทความก็แย้งว่าพวกที่วิจารณ์ตัวเลข GDP นั้นอาจจะมองข้ามบางอย่างไป สำนักโพลสำรวจอย่าง Gallup ได้ไปถามคนจาก 145 ประเทศถึงในแง่ต่างๆของความกินดีอยู่ดี โดยในหลายๆประเด็นที่สอบถามมาก็ค่อนข้างมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับรายได้ประชากรต่อคน ตัวอย่างเช่น เกือบจะทุกคนที่อยู่ขอบบน 10% ของประเทศที่มีการใช้จ่ายเยอะๆ(รายจ่ายของคนนึงก็คือรายได้ของอีกคน) ซึ่งบอกว่าพวกเขามีเงินเพียงพอสำหรับค่าอาหาร เมื่อเทียบกับกลุ่มขอบล่าง 10% ที่มีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขามีเงินเพียงพอสำหรับค่าอาหาร
ที่น่าทึ่งอย่างนึงก็คือ ตัวเลขบ่งชี้ต่างๆที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน แต่ก็มีการติดตามตัวเลข GDP ต่อคนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ประชากรในขอบบน 10% ของประเทศ ให้คะแนนชีวิตว่าพอใจที่ 7 จาก 10 คะแนน ในขณะที่ขอบล่าง 10% นั้นให้แค่ 4 คะแนนจาก 10 เท่านั้น
พวกขอบบนจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว รู้สึกปลอดภัยในละแวกที่ตัวเองอาศัยอยู่ และรู้สึกไว้ใจนักการเมืองของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาก็จะบ่นและตำหนิมากพอๆกับประชาชนในประเทศจนๆเช่นกันเกี่ยวกับการต้องการมีที่พักอาศัยที่สามารถหาซื้อหาจ่ายได้ (ประมาณว่าทุกๆประเทศก็จะมีคนบ่นและด่านักการเมืองเหมือนๆกันหมดนั่นแหละในเรื่องนี้ไม่ว่าจะรวยหรือจนสินะ)
อย่างไรก็ดี นักวิชาการผู้มีความรู้ทั้งหลายแหล่ก็ไม่เห็นด้วยที่ว่าความร่ำรวยของประเทศนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีความพอใจในชีวิต ประชากรของหลายๆประเทศก็ยังรู้สึกหม่นหมองแม้ว่ารายได้ต่อคนนั้นจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ให้มาจาก ริชาร์ด อีสเตอริน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน
แต่วิธีหนึ่งที่ใช้ทดสอบว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้จริงหรือไม่ก็ให้ลองวิเคราะห์ดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเงินมันหายไป
การศึกษาในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งที่แล้วในปี 2009 บอกว่าความยากลำบากทางเศรษฐกิจนั้นนำไปสู่ความทุกข์ทางอารมณ์อย่างแท้จริง
ในแง่ของทางวิชาการก็พบว่าความพอใจในชีวิตและตัววัดอื่นๆถึงความเป็นอยู่ที่ดีในอเมริกาและประเทศยุโรปหลายๆประเทศนั้นลดต่ำลงจริง แม้ว่าผลกระทบนั้นจะค่อนข้างจำกัดอยู่กับกลุ่มคนที่ตกงานหลักๆ
อดัม เมเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัย โคโลลาโด สเตท นั้นพบว่า ท่ามกลุ่มชาวยุโรปที่มีฐานะและการศึกษาที่ใกล้เคียงกันแล้ว กลุ่มคนที่พึ่งจะตกงานและค่อนข้างจะลำบากลำบนในการซื้อหาอาหารหลักๆแล้วค่อนข้างจะมีมุมมองต่อชีวิตที่แย่ที่สุด
บทความลงท้ายว่า โควิด19 นั้นอาจจะช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายสำรวจเรื่องนี้ต่อไปได้ในอนาคต แม้ว่าประมาณการณ์จาก IMF จะบอกว่า GDP ทั่วโลกปีนี้จะตกลง แต่ท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจก็จะเติบโตมากขึ้นว่าก่อนช่วงโรคระบาดแม้ว่าอาจจะไม่เท่ากันกับเมื่อเทียบหากไม่มีโรคระบาด แต่จากความสัมพันธ์ระหว่าง GDP ต่อคนและ วิธีวัดความเป็นอยู่ด้วยวิธีของ Gallup นี่แล้ว มันก็อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของคนบนโลกนี้เช่นกัน
(Sources: Gallup; World Bank; World Happiness Report)
ก็อ่านแล้วก้อฟังหูไว้หูเนาะ เงินอาจจะจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่เมื่อมันถึงจุดๆนึงแล้วมันก็อาจจะไม่จำเป็นเสมอไปในการแสวงหาความสุขในชีวิต ส่วนชีวิตแบบไหนดี ก็คงจะแล้วแต่ว่าใครจะเลือกเป้าหมายในชีวิตอย่างไร
อ้างอิง:
The Economist 11th July 2020: Money really can buy happiness and recessions can take it away.
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.