พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Investment

กำไรเฉลี่ยกับแนวโน้มของกำไร (Average vs Trend of Earnings)

Facebook's annual revenue and net income from 2007 to 2017 (in million U.S. dollars) https://www.statista.com/statistics/277229/facebooks-annual-revenue-and-net-income/

Facebook’s Annual Revenue and Net Income from 2007 to 2017 (in million U.S. dollars)

https://www.statista.com/statistics/277229/facebooks-annual-revenue-and-net-income/

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินทุนยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นฝั่งเอเชียหลายๆแห่งรวมถึงประเทศไทยทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงไปสู่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดแล้ว ประเด็นภาษีทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนก็ยังคงดำเนินต่อไป บรรยากาศการลงทุนจึงยังคงไม่สดใสนักอย่างไรก็ดี สำหรับสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ซื้อหุ้นในราคาเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอก็ไม่น่าจะมีอะไรห่วงมากนัก และอาจจะเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ดีๆเพิ่มเติมด้วยกับบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไร (earnings) ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ

นักลงทุนทั้งหลายอาจจะเคยอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆกันมาบ้าง สิ่งที่เรามักจะเห็นกันเวลาอ่านบทวิเคราะห์เหล่านี้คือ “กำไร” ของบริษัทไตรมาสแรกกำไรคาดว่าดี ปีนี้คาดว่าจะออกมาดีกว่าหรือแย่กว่าคาดต่างๆนานากันไป ซึ่งตลาดหุ้นและนักลงทุนทั้งหลายก็มักจะให้ความสำคัญกับ “กำไร” นี้เป็นอย่างแรก โดยแนวโน้มของกำไร (trend of earnings) จากหลายๆไตรมาสต่อเนื่องกัน หรือกำไรรายปีจากหลายๆปี ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนและราคาของหุ้นนั้นๆ

อย่างไรก็ดี แม้กำไรจะเป็นตัวบ่งบอกถึงผลประกอบการ แต่จากหนังสือ Security Analysis ที่เขียนโดย Benjamin Graham & David L. Dodd นั้นก็ได้เตือนไว้ว่า แนวโน้มของกำไรที่เราเห็นนั้นอาจจะหลอกล่อนำพาเราคิดไปผิดทางก็ได้ และการประเมินมูลค่าหุ้นโดยยึดถือแนวโน้ม (trend) เป็นหลักนั้นก็อาจจะทำให้มูลค่านั้นดูเกินจริงก็เป็นได้

เกรแฮมได้บอกไว้ว่าแนวคิดของค่าเฉลี่ย (average) และแนวโน้มของกำไร (trend of earnings) นั้นมันมีความขัดแย้งกันในทางพื้นฐานทางคำนวณทางคณิตศาสตร์เมื่อเรานำไปคำนวณกำไรต่อหุ้น (earnings per share) ซึ่งเราสามารถดูได้จากตารางข้างล่างดังนี้

กำไรต่อหุ้นในปีที่ (บาท)
บริษัท 1 2 3 4 5 6 7 (ปีปัจจุบัน) เฉลี่ย แนวโน้ม
A 1 2 3 4 5 6 7 4 ดีมาก
B 7 7 7 7 7 7 7 7 ธรรมดา
C 13 12 11 10 9 8 7 10 ไม่ดี

จากตารางข้างต้นหากเทียบในปีปัจจุบันนั้น กำไรต่อหุ้นจะอยู่ที่ 7 บาทเท่ากันทั้ง 3 บริษัท จะเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทที่ยิ่งมีแนวโน้มดี (บริษัท A) จะมีค่าเฉลี่ยที่แย่ที่สุด (4 บาท) แต่ในทางตรงข้ามกัน บริษัทที่ยิ่งมีแนวโน้มที่ไม่ดี (บริษัท C) กลับจะมีค่าเฉลี่ยกำไรต่อหุ้นที่สูงที่สุด (10 บาท)

เมื่อเห็นอย่างนี้จึงเกิดคำถามถึงการตีความหมายของกำไรต่อหุ้นในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติว่าแนวโน้มของกำไรต่อหุ้นนั้นอย่างน้อยมีความสำคัญต่อการตีมูลค่าหุ้นในอนาคตเท่าๆกับค่าเฉลี่ยหรือไม่?

ในการคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตในปีต่อไปนั้นเราจะสามารถคิดได้มั้ยว่ากำไรของบริษัท A จะเป็น 8, 9, 10, 11 และ 12 ต่อหุ้น และของบริษัท C จะเป็น 7, 6, 5, 4, และ 3?

ดูแค่นี้เราก็จะรู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยใช่มั้ยครับว่าการที่จะคาดการณ์แบบนี้มันดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ แม้ว่าแนวโน้มกำไรของบริษัท A ในอดีตนั้นเห็นแล้วจะทำให้รู้สึกดีและเราควรนำไปไปส่วนนึงคิดในการหามูลค่าของบริษัท แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทั้งหมดและคิดว่ากำไรในอนาคตมันจะต้องเกิดขึ้นตามแนวโน้มในอดีตแน่ๆ

ในทางกลับกันเราต้องระวังให้ดีว่าเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานั้นอาจจะส่งผลต่อผลประกอบการที่จะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวโน้มของกำไรในอดีตก็เป็นได้ การแข่งขันในทางธุรกิจ หรือกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายธุรกิจหรือแม้แต่ส่งผลต่อการลดลงของกำไรก็เป็นได้

ดังนั้นแล้ว แม้ว่าเราเห็นแนวโน้มของกำไรที่ดีในอดีต เราก็ต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง พยายามหาสาเหตุของผลประกอบการที่ดีว่าที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นมาจากปัจจัยอะไรได้บ้าง แล้วจึงค่อยให้น้ำหนักกับปัจจัยนั้นๆว่าจะสามารถเอาชนะปัจจัยด้านลบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในเวลานั้นๆจนส่งผลต่อผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีต่อๆไปได้หรือไม่

หากการศึกษาเชิงคุณภาพ (qualitative study – สถานการณ์ อนาคตของธุรกิจหรืออุตสาหกรรม) นำไปสู่ข้อสรุปที่น่าสนใจ ประกอบกับแนวโน้มของกำไรที่ดีขึ้นเรื่อยๆในอดีต เราก็ยังคงต้องยืนพื้นการประเมินมูลค่าหุ้นบนพื้นฐานของกำไรต่อหุ้นที่ไม่สูงไปกว่ากำไรต่อหุ้นที่บริษัทเคยทำได้ในอดีตในภาวะธุรกิจที่ปกติ

เนื่องจากว่ามูลค่าของการลงทุนนั้นควรแสดงถึงผลประกอบการที่แสดงให้เห็นแล้วในอดีตเท่านั้น ไม่ใช่ว่านำความคาดหวังของกำไรในอนาคตหรือผลกำไรในอดีตที่อยู่ภายใต้เศรษฐกิจที่ไม่ปกติมาเป็นพื้นฐานในการคำนวณ

ในทางตรงกันข้าม หากแนวโน้มของกำไรนั้นเป็นไปในทางที่ลดลงในอดีตแบบบริษัท C เราก็ต้องให้ความสำคัญมากๆกับปัจจัยที่ส่งผลลบต่อผลประกอบการเช่นนั้น เราต้องไม่คิดเอาเองว่าแนวโน้มของกำไรที่ลดลงเรื่อยๆนั้นจะสามารถพลิกตัวกลับมาเป็นบวกได้ในทันที และก็อย่ามองถึงค่าเฉลี่ยในอดีตด้วยเช่นกัน เนื่องจากว่ามันก็จะมีค่าเฉลี่ยของกำไรต่อหุ้นที่สูงกว่ากำไรในปีปัจจุบันที่อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

แต่ก็อย่าถึงกับว่าจะพึ่งด่วนสรุปว่าอนาคตของบริษัทนั้นจะหมดหวัง และกำไรของบริษัทก็จะหายไปหมดและส่งผลต่อบริษัทให้ไม่เหลือมูลค่าอะไรเลย การศึกษาเชิงคุณภาพของสถานการณ์ของบริษัทในกรณีนี้ก็มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าที่ราคาไหนถึงจะเหมาะสมทั้งๆที่บริษัทมีแนวโน้มของกำไรที่ไม่ดี

การวิเคราะห์บริษัทจึงต้องมองดูหลายๆอย่างประกอบกัน แม้กำไรจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญ แต่ในอนาคตก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่ๆในอนาคต ดังนั้นแล้วการวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง การทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ความเข้าใจในธุรกิจก็ยังเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งช่วงนี้ที่ตลาดทั่วโลกมีความผันผวนก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบให้มากครับ

 

 

 

อ้างอิง: Benjamin Graham. Dodd, David. Security Analysis: Sixth Edition.

 

 

 

Blenlit

Hakwamroo.com

Leave a Reply