พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

ผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศต่อเศรษฐกิจ (Air pollution impact on economy)

https://www.bangkokpost.com/news/general/1622210/firms-let-workers-shelter-from-haze

ช่วงนี้ในกรุงเทพฯใครๆก็พูดถึงแต่เรื่องฝุ่น หลายๆคนก็ใส่หน้ากากเวลาออกไปทำงานหรือต้องเดินทางออกไปข้างนอกจนถึงขั้นมีช่วงที่หน้ากากป้องกันฝุ่นนั้นขาดตลาดกันเลยทีเดียว

หลายๆอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงกับการสร้างฝุ่นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบกันไปตามๆกัน ไม่ว่าจะโดนตรวจสอบบ้าง หน่วยงานราชการขอความร่วมมือให้ลดกำลังการผลิตบ้าง หรือแม้แต่ปิดโรงงานเป็นช่วงๆไปเลยก็มี (ดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะหยุดคิดบ้างในช่วงแบบนี้ก็น่าจะดีเนาะ)

พอเริ่มเห็นผลกระทบที่กว้างขึ้นก็ทำให้สงสัยว่าแล้วการที่มีมลภาวะทางอากาศแบบนี้ นอกจากสุขภาพของประชาชนตาดำๆอย่างเราๆท่านๆแล้วเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่ หรือมันมีผลกระทบด้านอื่นอีกมั้ยจากมลภาวะแบบนี้

จากการที่ลองค้นไปค้นมาก็พบรายงานฉบับนึงจากกลุ่ม OECD (กลุ่มประเทศร่ำรวยประชาคมยุโรป) ได้เคยมีรายงานไว้ในปี 2016 เรื่อง The Economic Consequences of Outdoor Air Pollution หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมลภาวะทางอากาศภายนอก (ดีเนาะ ทำไมบ้านเขามีรายงานหรือการศึกษาอะไรแบบนี้รองรับตลอดเลย)

จาก The Executive Summary (สรุปเนื้อหาสำคัญของรายงาน) ได้กล่าวว่ามลภาวะทางอากาศเป็นพิษนั้นเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จริงจังมากโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ องค์กรอนามัยโลก (World Health Organisation: WHO) ได้พยายามสาธิตและอธิบายถึงผลกระทบทางด้านนี้ต่อสุขภาพของมนุษย์โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันมาจากปัญหามลภาวะเหล่านี้ อย่างไรก็ดีรายงานการคาดการณ์ในอนาคตถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมลภาวะอากาศเป็นพิษนั้นยังค่อนข้างมีไม่เพียงพอ

การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการด้านพลังงานจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2060 หากไม่มีนโยบายที่เข้มงวดเข้ามาจัดการ

ผลกระทบที่อันตรายที่สุดจากมลภาวะอากาศเป็นพิษคือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากมลภาวะเป็นพิษนั้นจะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนในปี 2010 เป็น 6-9 ล้านคนในปี 2060 หากไม่มีนโยบายที่เข้มงวดเข้ามาจัดการ

ภายในปี 2060 จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในบริเวณที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นที่มีค่า PM2.5 ที่มีความเข้มข้นสูง

และเมื่อมีการเพิ่มความเข้มข้นของ PM2.5 ก็จะส่งผลต่อความเจ็บป่วยที่ตามมา นำไปสู่การเข้าโรงพยาบาลที่บ่อยขึ้นหรือแม้แต่ต้องนอนที่โรงพยาบาลเลย ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการขาดงานเพิ่มขึ้น และการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันก็จะมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ต้นทุนทางตลาดที่มาจากมลภาวะทางอากาศเป็นพิษ (market costs of air pollution) จะเกิดขึ้นจากการลดลงของผลิตผลของแรงงาน (labour productivity) ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และผลผลิตจากพืชผลต่างๆที่หายไป รวมแล้วนำไปสู่คาดการณ์ว่าต้นทุนโลกทางเศรษฐกิจนั้นจะเพิ่มขึ้น 1% ของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ภายในปี 2060

นอกจากต้นทุนทางตลาดที่เกิดขึ้นแล้ว รายงานฉบับนี้ยังนำเสนอถึงการคาดการณ์ต้นทุนที่ไม่ได้สะท้อนในตลาดที่เกิดขึ้นมาจากการเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศภายในที่เป็นพิษ ซึ่งจะแตกต่างจากต้นทุนทางตลาดในแง่ที่ว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนในตลาด

https://read.oecd-ilibrary.org/environment/the-economic-consequences-of-outdoor-air-pollution_9789264257474-en#page24

ซึ่งจากตารางข้างบนจากรายงานในหน้าที่ 24 ได้แบ่งหมวดหมู่จากผลกระทบไว้หลักๆอยู่ 4 ด้านคือ สุขภาพ (health) เกษตรกรรม (agriculture) Tourism, leisure (การท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ) และ Ecosystems, biodiversity, forestry (ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และป่าไม้)

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นจะมาได้จากการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากมะเร็งในปอด โรคหัวใจ หลอดเลือดและระบบหายใจอันเนื่องมาจากการมีการสะสมของ PM2.5 ที่สูง การเจ็บป่วย (ไม่ถึงกับเสียชีวิต) จากมะเร็งในปอด โรคหัวใจ หลอดเลือดและระบบหายใจ

นอกจากผลกระทบทางสุขภาพแล้วก็อาจมีอัตราการเกิดที่ต่ำ หรือการตั้งครรภ์ที่ต่ำ ผลกระทบโดยตรงด้านสุขภาพที่มาจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

ผลกระทบทางด้านเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นได้ก็คือความเสียหายจากพืชผลผลิตที่ตกต่ำลงเนื่องจากก๊าซโอโซนหรือเรือนกระจกที่สูงขึ้น

ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการมองเห็นที่ลดน้อยลง ผลกระทบต่อสถานที่ทางวัฒนธรรมและความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ผลกระทบทางด้านระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ก็คือคุณภาพของอากาศและน้ำที่ลดต่ำลง ก็จะลดสุขภาพที่ดีทางด้านระบบนิเวศให้ลดต่ำลงไปด้วย

นี่แค่ภาพรวมของรายงานเท่านั้น แค่อ่านแล้วก็ทำให้สะดุ้งไปเหมือนกันว่าหากเรายังไม่สามารถแก้ไขกันได้จริงจังนี่อนาคตก็ไม่รู้จะเป็นอย่างที่รายงานของ OECD เขาว่าไว้หรือไม่

ณ ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ก็คือรักษาสุขภาพตนเองไว้ให้ดีครับ คนเราอยู่ได้ด้วยความหวัง (ที่ไม่เพ้อเจ้อ) ก็พยายามอดทนรอวันฟ้าใสกันต่อไปครับ (อย่างน้อยเริ่มต้นปีในเดือนมกราคมที่พึ่งผ่านไปนั้น ตลาดหุ้นบ้านเราปรับตัวขึ้นมาประมาณ 5% แล้วจากบรรยากาศที่การลงทุนและผลประกอบการบริษัทที่เริ่มทยอยประกาศออกมากันมากขึ้นเรื่อยๆ

อ้างอิง:

https://read.oecd-ilibrary.org/environment/the-economic-consequences-of-outdoor-air-pollution/executive-summary_9789264257474-3-en#page1

https://read.oecd-ilibrary.org/environment/the-economic-consequences-of-outdoor-air-pollution_9789264257474-en#page24

blehlit

hakwamroo.com

Leave a Reply