ณ เวลานี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนใครๆก็พูดถึงแต่การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (A.I.) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ A.I หรือบางทีก็เรียก Machine Learning (ซึ่ง 2 คำนี้มักจะใช้แทนกันไปกันมา) ดูเหมือนว่าจะมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเราทุกๆคน A.I.นั้นจะใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลค้นหารูปแบบ (pattern) ของข้อมูลต่างๆที่มีจำนวนมากๆและทำการทำนายหรือสรุปผลจากข้อมูลนั้นๆ ยิ่งคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการประมวลผลมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ A.I.นั้นมีความสามารถมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
บริษัทใหญ่ๆอย่าง Amazon ก็ได้นำ A.I. มาใช้ในการบริหารการจัดการลอจิสติก (logistics) ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมีความรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น Ant Financial ของAlibaba ทางฝั่งจีนก็กำลังทดสอบนำ A.I. มาใช้ในธุรกิจของตัวเองในการใช้การจดจำใบหน้า (facial recognition) เพื่อจะใช้ในการอนุมัติธุรกรรมต่างๆหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ก็ใช้ A.I. ช่วยในการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน ในทางการผลิตนั้นก็สามารถใช้ A.I. ในการหาข้อบกพร่องจากการผลิตที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วส่งสัญญาณให้คนควบคุมโรงงานและการผลิตสามารถปรับปรุงแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้นกับสินค้าล่วงหน้าได้ Autonomous vehicles หรือรถที่ใช้ A.I. ขับแทนก็กำลังได้รับการพัฒนาอยู่ไม่ว่าจะเป็น TESLA, UBER, และ Google.
แล้ว A.I. กับการลงทุนหละ? ในรายงานประจำปี 2560 ของบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเรานั้นก็ได้ถึงกับกล่าวถึงแผนการที่จะนำ A.I. เข้ามาประยุกต์ใช้ในธุรกิจไว้ด้วย เช่น การจําลองพฤติกรรมของนักลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์และปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการให้บริการในรูปแบบที่ครอบคลุมมากขึ้นรวมไปถึงความเป็นไปได้ในหลายๆด้านในการบริหารจัดการการลงทุนที่เราอาจจะยังนึกไม่ออกในตอนนี้ด้วยซ้ำ การจัดการข้อมูลแบบ real-time ให้มีประสิทธิผลสูงสุดในด้านการขายและการตลาดกับลูกค้า การพยายามทำนายตลาดแบบทันทีกับข้อมูลที่มากๆ การวิเคราะห์ทางการเงินและการสรุปผลและเสนอแนะให้กับผู้ลงทุน การจัดการหลังบ้านต่างๆซึ่งจะช่วยให้ผู้จัดการกองทุนหรือสินทรัพย์ต่างๆมีเวลาสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและวางแผนแนวทางของการลงทุนทางหน้าบ้านมากขึ้น
จากกราฟด้านบนเป็นข้อมูลจาก Bloomberg ได้เปรียบเทียบให้เห็นว่าในช่วง 2013 – 2017 (กันยายน) นั้นได้มีเงินลงทุนไหลเข้าไปในกองทุนประเภท Quant มากขึ้นโดยเฉพาะปี 2016 ที่มีเงินไหลออกจากกองทุนที่ไม่ใช่ประเภท Quant ถึง 80,000 ล้านเหรียญ (USD) เลยทีเดียว และก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปถึงปี 2017 (Quant Fund คือ Quantitative Fund เป็นกองทุนที่เลือกการลงทุนในหลักทรัพย์โดยใช้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพขั้นสูง หรือ Advanced Quantitative Analysis ซึ่งได้ใช้ A.I.ผสมผสานเข้าไปในโมเดล) อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ A.I. ยังต้องการการปรับแต่ง (customisation) และยังต้องมีการเรียนรู้อีกมาก ความไม่แน่นอนต่างๆเกี่ยวกับข้อมูลและกฏเกณฑ์ต่างๆที่จะออกมาควบคุมก็ยังถือเป็นความเสี่ยงอยู่ อย่างเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาในกรณีของ Facebook กับ Cambridge Analytica ที่มีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้ในตอนแรกที่ว่ามีถึง 50 ล้านคน แต่ซีอีโอ มาร์ค ซัคเคอร์เบิก ก็ได้แจ้งว่าอาจจะมีถึง 87 ล้านบัญชีผู้ใช้ด้วยกันที่ได้มีการรั่วไหลไป (ข้อมูลจาก Bangkok Post 9 เมษา 2018: ไทยเรามีผู้ใช้ Facebook ประมาณ 40 ล้านบัญชี และ Line ประมาณ 42 ล้านบัญชี) สิ่งเหล่านี้ต่างก็เป็นที่จับตาของนักการเมืองและผู้มีอำนาจออกกฏหมายทั่วโลก จะเห็นได้ว่า A.I. คงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และเราคงต้องจับตารอกันต่อไปว่าจะเป็นไปในทางใด
จากกราฟด้านบนจาก Bloomberg เช่นเดียวกันจะเห็นได้ว่า แม้จะมีการประยุกต์ใช้ AI เข้ากับการลงทุน ตั้งแต่ปี 2010 ถึง ตุลาคม 2017 กองทุน A.I. 13 กองทุนทำผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 10.6% ต่อปีในช่วง 6 ปีที่ลงทุนถึงปี 2016 และทำได้ 8.5% ถึงช่วงตุลาคม 2017. (ข้อมูลจาก Eurekahedge index) แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐอย่าง S&P500 และ Berkshire Hanthaway บริษัทของวอเรน บัฟเฟต ก็ยังทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนที่ใช้ A.I. (2011-2016 12.5% ต่อปี) ดังนั้นแล้วในเมื่อความไม่แน่นอนยังมีอยู่อีกมาก ณ ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้ก็คือก่อนลงทุนในตลาดหุ้นก็ขยันศึกษาหาข้อมูลโดยให้ยึดพื้นฐาน โอกาสในการเจริญเติบโต ทีมผู้บริหาร และราคาที่ไม่แพงเกินไปของบริษัทและหุ้นที่เราอยากจะลงทุน เพื่อโอกาสที่จะรักษาเงินต้นของเราที่หากันมาอย่างยากลำบากไว้ให้มากที่สุดครับ
blenlit
Hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.