พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดคืออะไร? (What is a Market Economy?)

Phuket Thailand Local Market at Sunset (https://captainkimo.com/wp-content/uploads/2012/06/Phuket-Thailand-Local-Market-at-Sunset.jpg)

Phuket Thailand Local Market at Sunset (https://captainkimo.com/wp-content/uploads/2012/06/Phuket-Thailand-Local-Market-at-Sunset.jpg)

ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ก็รู้ตัวว่าอยู่โรงเรียน เรียนหนังสือไปเรื่อยๆจนจบมหาลัยแล้วก็ทำงาน ไม่ได้มีวางแผนอะไรมากมาย รู้แค่ว่าเรียนจบก็ทำงาน พอได้ทำงานก็สงสัยว่าทำไมต้องทำงาน (ก็หาเงินอ่ะนะ) แล้วก็สงสัยมาเรื่อยๆว่าเราทำงานอยู่ในระบบที่มีพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (market economy) แล้วมันคืออะไรอ่ะ? 

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดก็คือระบบตลาดที่มีการตัดสินใจในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การกำหนดราคาของสินค้าและบริการโดยหน่วยธุรกิจ หรือการดำเนินกิจกรรมระหว่างคนหรือหน่วยงานธุรกิจต่างๆในลักษณะที่ไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำ (minimum price) การกำหนดโควต้า (quota) การสนับสนุนการผลิต (subsidy) หรือการแทรกแซงอื่นๆที่อาจจะมีผลทำให้การดำเนินไปของตลาดไม่เป็นไปตามธรรมชาติของระบบ

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนี้ก็จะตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจที่มีการควบคุมและวางแผนจากส่วนกลาง (centralised planning) ซึ่งก็คือระบบตลาดที่มีการควบคุม มีการแทรกแซงกิจกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจโดยหน่วยงานของรัฐบาล ทั้งสองระบบนี้ก็จะอยู่ตรงข้ามกันคนละฟาก อย่างไรก็ดีหากเรามองไปรอบๆตัวเราก็จะเห็นได้ว่าเกือบจะทุกประเทศจะมีระบบตลาดแบบผสมทั้งนั้นเพียงแต่จะมากหรือน้อย แต่หากจะเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็ต้องมาจากการตัดสินใจของภาคเอกชนหรือผู้บริโภคโดยปล่อยให้เป็นผู้ตัดสินและกำหนดราคาของสินค้าและบริการที่ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลเป็นเพียงผู้ที่ควบคุมดูแลให้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมีความเสถียรเท่านั้น

ในอดีตถึงปัจจุบันก็มีการโต้เถียงกันว่าระหว่างสองระบบนี้แบบไหนดีกว่ากัน แม้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะได้รับความนิยมมากกว่าอย่างชัดเจนเนื่องจากเป็นระบบที่เชื่อว่าการปล่อยให้แรงผลักดันจากตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทาง การปล่อยให้ผู้บริโภคตั้งเป้าในด้านต่างๆโดยเลือกตามความพอใจของตัวเอง (personal utility) แล้วดำเนินกิจกรรมและตัดสินใจเพื่อจะให้ได้เป้าหมายนั้นๆจะสามารถส่งผลโดยรวมให้ทุกคนมีความพอใจที่สูงขึ้น เนื่องจากระบบแบบวางแผนจากส่วนกลางนั้นไม่มีทางที่ผู้ที่มีอำนาจวางแผนจะได้ข้อมูลครบเพื่อที่จะตัดสินใจให้กับระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ดีฝั่งผู้ที่วางแผนแบบส่วนกลางก็แย้งว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดนั้นมีแต่ในอุดมคติเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นคนก็ไม่ได้ตัดสินใจตามเหตุตามผลทุกคน หลายๆคนก็ไม่มีเหตุผล มีการบิดเบือนอำนาจ มีการโกงกินกันในระบบทำให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นในตลาดอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วการแทรกแซงของรัฐบาลก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น แม้แต่ประเทศที่มีการวางแผนจากส่วนกลางอย่างจีนเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีของจีนคุณ Xi Jinping ก็ได้ออกมาบอกว่าจะมีการเปิดประเทศและผ่อนผันกฏเกณฑ์ต่างๆให้มากขึ้นเพื่อให้ประเทศอื่นๆสามารถเข้าไปลงทุนในจีนได้มากขึ้นและง่ายขึ้น (จริงๆก็น่าจะเพื่อบริษัทจีนเองก็สามารถออกไปลงทุนในประเทศต่างๆได้มากขึ้นเช่นกัน) 

2 ประเทศที่เรียกได้ว่ามีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาแต่กลับมีการขาดดุลการค้าสูงที่สุดกับประเทศจีนซึ่งมีระบบตลาดแบบวางแผนจากส่วนกลางและมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก (บางสำนักบอกว่าจริงๆแล้วจีนแซงอเมริกาในแง่ขนาดเศรษฐกิจแล้ว) จะดำเนินกันไปในลักษณะไหนเพราะก่อนหน้าที่ประธานธิบดี Xi จะออกมาพูดลดความตึงเครียดของสถานการณ์ตลาดโลกในการที่จะเกิดสงครามการค้า (trade war) ทางประธานาธิบดี Trump ของอเมริกาก็มีการออกนโยบายภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตัวเอง (protectionism) แลกกับจีนที่ก็ออกนโยบายภาษีในลักษณะเอาคืนอเมริกาเช่นกัน รอชม!

(อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Market_economy)

Leave a Reply