ก่อนอื่นเราควรที่จะทำความเข้าใจกันก่อนว่า เงิน (money) ไม่ใช่ ความมั่งคั่ง (wealth) บ้านคือความมั่งคั่ง เราอาศัยอยู่ได้ เราปล่อยเช่าได้ ข้าวสารคือความมั่งคั่ง เราหุงกินได้ แต่สิ่งนึงที่ข้าวสารทำได้ง่าย (กว่าบ้าน) คือการนำข้าวสารไปแลกเปลี่ยน (barter) กับ สินค้าอื่นได้ หากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ (รวมไปถึงคนอื่นๆ) ยอมรับร่วมกันว่าข้าวสารเป็นตัวกลาง (เงิน) ในการแลกเปลี่ยนสินค้าใดๆ
ในยุคอดีตที่ผ่านมานี่เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า “เงิน” มีได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น บุหรี่ ฟันของสัตว์บางประเภท ก้อนหินที่มีรูปแบบเฉพาะบางชนิด สมัยโบราณของไทยก็มีเงินพดด้วงที่มีขนาดแตกต่างกันไป สมมุติต่อไปว่าชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวได้สิบกระสอบซึ่งมากเกินความต้องการของครอบครัวตัวเองที่จะกินได้แล้วและชาวนาอยากจะนำไปแลกเปลี่ยนกับปลาแห้งที่อีกครอบครัวนึงมีเหลือเกินที่จะกินได้เช่นกัน แต่จะให้ชาวนาผู้นี้แบกข้าวสิบกระสอบไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้านั้นก็คงจะไม่สะดวกนัก ชาวนาจึงได้เขียนใบรับรองขึ้นมาสิบใบพร้อมทั้งลงลายมือชื่อถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของของข้าวแต่ละกระสอบให้แก่ผู้ที่ครอบครองใบรับรองนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวนาผู้นี้ได้สร้างเงินกระดาษ (fiat money) ซึ่งมีข้าวสารเป็นพื้นฐานขึ้นมาแล้ว
สิ่งที่น่าสังเกตคือเงินกระดาษนี้อยู่บนพื้นฐานของข้าวสารเป็นกระสอบๆของชาวนาผู้นี้ และการที่จะยังคงใช้ได้อยู่ไปเรื่อยๆนั้นคนอื่นๆต้องเชื่อว่ามูลค่าข้าวสารนี้จะไม่เน่าเสียไปก่อนเวลาอันควรจึงจะทำให้ผู้ที่ครอบครองใบรับรองนี้ไม่มีความจำเป็นต้องรีบไปเรียกสิทธิในข้าวสารเหล่านั้น ความเชื่อมั่นในใบรับรองของข้าวสารนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญหากใบรับรองมีการเปลี่ยนมือบ่อยๆซึ่งอาจทำให้เกิดอาการขาดไปบ้าง บางส่วนเก่าไปบ้าง คนจะก็จะยังยอมรับในใบรับรองนี้อยู่หรือไม่ (หลายๆครั้งเราจะเคยเห็นว่าคนบางคนไม่ยอมรับธนบัตรที่ขาดหรือเก่าทั้งๆที่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย)
ดังนั้นแล้วจากตัวอย่างข้างต้นเราจะเห็นได้ว่าเงินควรมีคุณสมบัติอยู่ด้วยกันสามประการ หนึ่งคือเงินต้องสามารถนับได้ (unit of account) ข้าวสารเราสามารถนับเป็นกระสอบๆได้ใบรับรองหนึ่งใบก็แทนข้าวสารหนึ่งกระสอบ สองคือเงินต้องมีมูลค่าที่ไม่เปลี่ยนแปลง (store of value) ใบรับรองหนึ่งใบสามารถนำไปแลกข้าวสารกับชาวนาผู้นี้ได้หนึ่งกระสอบและ สามคือเงินจะต้องสามารถเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้ (medium of exchange) ใครก็ตามที่ครอบครองใบรับรองนี้สามารถนำไปแลกข้าวสารกับชาวนาผู้นี้ได้
เมื่อช่วงปี 2017 ที่ผ่านมาเราจะเห็นตามข่าวต่างๆว่าเงินดิจิตอล (digital currency) มีการซื้อขายกันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์ (bitcoin), อีเธอเรียม (ethereum) และเงินดิจิตอลอื่นๆ แม้แต่หน่วยงานสำคัญในประเทศไทยเราเองก็ยังอยู่ในช่วงพิจารณาออกกฏหมายมาควบคุมการซื้อขายของเงินดิจิตอลเหล่านี้ซึ่งหากเราพิจารณาตามคุณสมบัติสามประการข้างต้นที่เงินควรจะมี เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งนึงที่เงินดิจิตอลเหล่านี้ขาดไปก็คือมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากเกินไปหรือเรียกว่ามีความแกว่งของมูลค่า (volatility) สูงอย่างมากนั่นเอง
หากเราดูกราฟด้านล่างจะเห็นได้ว่าราคาบิทคอยน์นั้นมีการปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 1,500% จากเมื่อช่วงต้นปี 2017 ถึงสิ้นปี 2017 และร่วงจากจุดสูงสุดลงมามากกว่า 50% ภายในช่วงเวลาสั้นๆเลยทีเดียว ณ ตอนนี้ก็น่าสนใจติดตามต่อไปว่าเงินดิจิตอลเหล่านี้จะพัฒนาไปในทางใดและจะสามารถเข้ามาทดแทนเงินกระดาษ (fiat money) ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้มากแค่ไหนในอนาคต
blenlit
Hakwamroo.com
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.