พยายามเข้าใจ การลงทุน การเงิน และระบบเศรษฐกิจ

Economics

เกิดอะไรขึ้นเมื่อธนาคารกลางประกาศขึ้นดอกเบี้ย? (What happens when Fed/Central Bank increases interest rate?)

(ที่มา: http://uauction4.uamulet.com/AuctionDetail.aspx?bid=74&qid=202750)

(ที่มา: http://uauction4.uamulet.com/AuctionDetail.aspx?bid=74&qid=202750)

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2017 ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Bank) ภายใต้ประธานคนใหม่ โดยคุณเจอโรม พาวเวล ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Federal Funds Rate) 0.25% เป็น 1.5% – 1.75% หลายๆคนอาจจะงง (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) ว่าแปลว่าอะไรอ่ะ แล้วมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทุกๆประเทศจะมีธนาคารกลางเพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็คือธนาคารแห่งชาติ (Bank of Thailand) หรือที่เรียกกันสั้นๆกันว่าแบงค์ชาตินั่นเอง

ดอกเบี้ยคืออะไร

ดอกเบี้ยก็คือต้นทุนสำหรับการใช้เงินของคนอื่น (จริงๆแม้จะใช้เงินตัวเองก็มีต้นทุนเหมือนกันแต่นั่นเป็นเรื่องสำหรับหัวข้ออื่น) เมื่อแบงค์ชาติกำหนดเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบาย โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1 วัน 1.5% (ที่มา: https://www.bot.or.th/Thai/Pages/default.aspx) เพื่อเป็นมาตราฐานสำหรับสถาบันการเงินต่างๆในการใช้ยืมหรือให้ยืมเงินระหว่างกันนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นทอดๆ (รวมไปถึงตลาดหุ้น) แต่โดยปกติแล้วผลกระทบจะเริ่มส่งผลจริงๆก็เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 12 เดือน (ไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นก็มักจะตอบรับไวเสมอ (ตลาดตกใจ) ซึ่งหากเราเข้าใจพื้นฐานบ้างก็จะเข้าใจถึงผลกระทบของการปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งเพื่อจะได้มีมุมมองของตัวเองและสามารถตัดสินใจในการลงทุนได้ดีขึ้น

ผลกระทบต่อตลาดหุ้น

นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยแบงค์ชาติที่ใช้เป็นต้นทุนที่สถาบันการเงินถูกเรียกเก็บสำหรับการให้ยืมเงินระหว่างกันนั้นอีกทางหนึ่งก็คือใช้เป็นตัวควบคุมเงินเฟ้อ (inflation – การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า) หรือก็คือการพยายามลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มต้นทุนการยืมเงินให้สูงขึ้นนั่นเอง (ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบที่ตรงข้ามกับการลดดอกเบี้ย เสมือนต้นทุนถูกลง เป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งผลกระตุ้นให้คนกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายมากขึ้น) เมื่อได้อัตราดอกเบี้ยแล้วทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็จะใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างๆของธนาคาร เช่นดอกเบี้ยเงินกู้บ้านเพื่อเรียกเก็บจากคนทั่วไปอย่างเราๆทั้งหลายที่เป็นหนี้กันอยู่นั่นเอง

แล้วตกลงการขึ้น(หรือลด)ดอกเบี้ยมีผลกระทบอะไรต่อตลาดหุ้นหละ? ผลกระทบอาจจะไม่โดยตรงซะทีเดียวในเมื่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นสถาบันการเงินก็จะเรียกเก็บดอกเบี้ยที่แพงขึ้นกับลูกค้า ธุรกิจต่างๆก็จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการกู้ยืมเงิน มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้มีรายได้หรือกำไรลดลง คนทั่วไปจ่ายเงินกู้บ้านแพงขึ้นดอกเบี้ยผ่อนรถสูงขึ้น ดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงขึ้น (ตัวดีเลยเนี่ย) สิ่งเหล่านี้ก็เสมือนกับลดอำนาจการใช้จ่ายของคนลง (ก็ในเมื่อต้องจ่ายดอกเบี้ยที่มากขึ้นก็จะทำให้เหลือเงินไว้ใช้จ่ายอย่างอื่นน้อยลงสิ) และในเมื่อคนใช้จ่ายน้อยลงเพราะต้องเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจต่างๆก็จะมีรายได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทต่างๆที่ผลิตสินค้าออกมาขายโดยทั่วไป และในเมื่อบริษัทมีรายได้และกำไรน้อยลงท้ายที่สุดราคาหุ้นก็จะโดนกระทบไปด้วย

สรุปอย่างง่ายๆก็คือ ตลาดหุ้นก็มักจะมีจิตวิทยาของนักลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง (จริงๆคนที่ตกใจง่ายๆตามตลาดน่าจะเรียกนักเก็งกำไรอาจจะเหมาะสมกว่า) ฉะนั้นแล้วเมื่อแบงค์ชาติลดดอกเบี้ยลงตลาดหุ้นก็มักจะขึ้น และลงเมื่อแบงค์ชาติขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นในประเทศไทยนั้นยังมีขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจและขนาดตลาดหุ้นของสหรัฐฯเอง

ดังนั้นแล้ว ในแต่ละครั้งนักลงทุนทั่วโลกก็มักจะพุ่งความสนใจไปที่การประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank) อย่างใกล้ชิดซะมากกว่าเพื่อการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯเองและผลกระทบที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยเราด้วย

 

blenlit

Hakwamroo.com

Leave a Reply