Return On Investment (ROI) หรือผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินผลงานจากการลงทุนและสามารถนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆในพอร์ตการลงทุนของเราเองได้
ROI จะวัดผลตอบแทนในรูปตัวเงินจากการลงทุนโดยเปรียบเทียบกับต้นทุนต่างๆของการลงทุนนั้นๆ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น จะสามารถหาได้โดยนำผลตอบแทน (return) ทั้งหมดมาหารด้วยต้นทุน (cost) นั่นเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะแสดงอยู่ในรูปของเปอร์เซ็นต์ (%) หรือเป็นอัตราส่วน (ratio)
โดยพื้นฐานเราสามารถคิดง่ายๆได้ก่อนเลยก็คือดูว่าคุณซื้อการลงทุนนั้นมาเท่าไหร่ และคุณขายออกไปที่เท่าไหร่ ซึ่งส่วนต่างระหว่างราคาที่คุณขายไปกับต้นทุนที่คุณซื้อมา ก็ให้นำเอาส่วนต่างไปหารด้วยต้นทุนที่คุณซื้อมา เช่น ลงทุน 100 บาท ขายไป 120 บาท ส่วนต่างคือ 120-100 = 20 บาท นำส่วนต่างนี้ไปหารด้วยต้นทุนที่ซื้อมาก็จะทราบว่าผลตอบแทนคือ 20% สำหรับการลงทุนในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี เราก็อยากให้มันง่ายๆแบบนั้น แต่มันก็มีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการลงทุนด้วยจากอีกหลายๆปัจจัย เช่น Transaction Cost หรือก็คือต้นทุนในการทำธุรกรรม ในการที่คุณซื้อหรือคุณขายหุ้นหรืออะไรก็ตาม คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมนั้นๆหรือไม่ ถ้าค่าธรรมเนียมนั้นสูงก็จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนแน่นอน
ภาษีที่ต้องจ่ายจากการได้มาของผลตอบแทนนั้นๆ บ้านเราอาจจะยังไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรส่วนเกินทุน (capital gain) ที่ได้จากการซื้อขายหุ้น แต่เงินปันผลนั้นต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งก็เป็นต้นทุนด้วยเช่นกัน
เวลาที่คุณใช้ไปในการลงทุนก็ถือว่าเป็นต้นทุนด้วยเช่นกัน หากคุณมีการลงทุนอะไรก็ตาม ได้ผลตอบแทน 50% ฟังผิวเผินอาจจะดูเหมือนว่าเยอะ แต่หากคุณใช้เวลาถึง 10 ปีเพื่อให้ได้ 50% และพอลองมาเฉลี่ยต่อปีแล้วก็ตกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณปีละ 4% กว่าๆเท่านั้น
อัตราเงินเฟ้อ (inflation) ก็มีส่วนสำคัญที่บางทีเรามองข้ามกันไปสำหรับผลตอบแทนจากการลงทุน และยิ่งหลายปีมานี้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำในบ้านเราและหลายๆประเทศทั่วโลกทำให้อาจจะลืมไปว่าอัตราเงินเฟ้อเพียง 1% ต่อปี แต่หากนำมาคำนวณ 10 ปีก็จะส่งผลให้ผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนของเราหายไปประมาณ 10% เลยทีเดียว โดยผลตอบแทนที่ยังไม่ได้หักอัตราเงินเฟ้อออกไปจะเรียกว่า nominal return และผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ real return ก็จะมีการหักอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้ว
และปัจจัยสุดท้ายที่มักจะลืมกันก็คือต้นทุนค่าเสียโอกาสหรือที่เรียกว่า opportunity cost นั่นเอง ทางเลือกที่คุณจะนำเงินลงทุนก้อนนี้ไปทำอะไรแทนหากคุณไม่ได้นำเงินมาลงทุนในครั้งนี้ เช่น หากจะไม่ซื้อหุ้น A จะเอาเงินไปทำอะไร? จะซื้อหุ้น B หรือว่าแค่เก็บไว้ในธนาคาร ซึ่งบางครั้งหากต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นสูงมากก็อาจจะทำให้อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นหรือว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนปัจจุบันก็อาจจะไม่คุ้มค่าเลยหากนำเงินไปลงทุนในทางเลือกถัดมาเสียมากกว่า
ดังนั้นแล้วแรกเริ่มมันก็ดูเหมือนแค่ว่าซื้อมาเท่าไหร่ขายไปเท่าไหร่กำไรขาดทุนเท่าไหร่ก็จบตรงนั้น แต่จริงๆเมื่อนำปัจจัยต่างๆที่กล่าวไปมาร่วมคิดคำนวณด้วยแล้วก็จะเห็นว่ามันก็จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น
แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเริ่มลงทุนวันนี้ในการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่เรามีความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงนั้นได้และเหมาะกับเรามากที่สุด
อ้างอิง:
How To Calculate Return On Investment (ROI) (investopedia.com)
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.